บอกรายได้ไม่ครบ จบที่เสียภาษีน้อย (จริงมั๊ย)

บอกรายได้ไม่ครบ จบที่เสียภาษีน้อย (จริงมั๊ย)

“มีความลับ ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ พอเค้าไม่รู้ เราก็รอดจริงมั้ยนะ”

คำพูดนี้ อาจจะจริงในมุมมองของ “พ่อบ้าน” ที่มีความลับเล็กๆ น้อยๆ ไม่อยากให้ “แม่บ้าน” รู้ เพราะรู้แล้วมีเรื่องยาวแน่ เลยเลือกที่จะเก็บไว้เป็นความลับตลอดไป

แต่ถ้าถามคำถามเดียวกันนี้กับ “แม่บ้าน” ทั้งหลาย คุณแม่บ้านจะพูดโพล่งขึ้นมาว่า

“แล้วชัวร์มั้ยว่า..จะไม่มีใครรู้ความลับนี้ในภายหลังจริงๆ”

แหม่…แค่ได้ยินประโยคเดียว มันก็เสียวสันหลังวาบขึ้นมายังไม่รู้เลยใช่ไหมล่ะ

ทีนี้ย้อนกลับมาถึงเรื่องการทำธุรกิจ เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะสวมบทบาท “พ่อบ้าน” ที่มีข้อมูลทั้งรายรับรายจ่ายของธุรกิจอยู่แล้วในมือ แต่ใจนึงก็รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากมีกำไรเยอะ เพราะจะเสียภาษีตอนปลายปีเยอะ

แล้วถ้าไม่อยากมีกำไรเยอะ ในงบการเงิน หนึ่งทางเลือกที่เรามักแว๊บขึ้นมาในหัวตัวแรกๆ ก็คือ

“งั้นเราก็ไม่ต้องบอกรายได้นักบัญชีให้ครบจะดีไหม กำไรจะได้น้อยลง”

ในบทความนี้ Zero to Profit เลยจะขอชวนเพื่อนๆ มาวิเคราะห์ไปพร้อมๆกันว่า เราจะทำแบบนี้ได้จริงหรือเปล่า แล้วถ้าทำแบบนี้ “แม่บ้าน” อย่างนักบัญชี หรือ บางทีอาจเป็นสรรพากรจะไม่มีทางรู้เลยจริงๆ ใช่ไหม

1.เงินเข้าแต่ละทางมีเส้นทางการเงินเสมอ

แน่นอนเวลาที่เรามีรายได้ธุรกิจ ก็ย่อมมีเงินเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งทุกครั้งที่เงินเข้ามันก็ย่อมมีเส้นทางการเงินเสมอ เช่น

  • โอนเงินเข้าบัญชี มี Bank Statement บันทึกไว้เป็นหลักฐานทั้งในฝั่งคนรับเงินและคนจ่ายเงิน
  • รับผ่าน Wallet  แม้ Wallet จะเป็นเหมือนกระเป๋าสตางค์แยกอีกกระเป๋านึงจากสมุดบัญชี แต่อย่าลืมว่าทุกๆ Wallet มีรายงานเงินเข้าออก และเชื่อมโยงไปถึงบัญชีเจ้าของต้นทางที่สมัครไว้ สุดท้ายยังไงยอดรายได้จาก Wallet ก็ถูกโอนเข้าบัญชีอยู่ดี
  • รับบัตรเครดิต สถาบันการเงินหรือ Payment Gateway ก็ย่อมมีข้อมูลว่ารับชำระเมื่อไรจากใคร เป็นรายงานให้เราอยู่แล้ว เพราะพวกเค้าคิดค่าธรรมเนียมได้ เนื่องจากมีข้อมูลเหล่านี้
  • รับเงินสด วิธีนี้อาจจะเช็คยากหน่อย เพราะว่าไม่ค่อยมีหลักฐานเส้นทางการเงินจากบุคคลที่ 3 อย่างสถาบันการเงิน แต่มันก็ไม่ได้การันตีว่าคนอื่นจะสังเกตไม่ได้ว่าเรารับเงินสดเท่าไรในแต่ละวัน ถ้าใครยังจำได้ ในสมัยก่อนสรรพากรก็ใช้วิธีมานั่งนับจำนวนลูกค้าและประมาณการรายรับของรายในแต่ละวันได้เช่นกัน และที่ย้อนแย้งไปกว่านั้น ถ้าเราทำธุรกิจแล้วกลัวจะมีเส้นทางการเงิน เราจะเลือกรับเฉพาะเงินสดอย่างเดียว ในยุคนี้คงไม่เหมาะอีกต่อไปแล้ว เพราะสังคมไทยเริ่มเข้าสู่ยุค Cashless society อยากมีลูกค้าถ้ารับโอนไม่ได้ก็น่าเสียดายแย่

2.สต็อกหายไป = รายได้ต้องเพิ่มขึ้น

ในบางครั้งนักบัญชีอาจไม่รู้ว่าเจ้าของธุรกิจมีรายได้เข้ามาจริงๆ เพราะให้คนอื่นรับเงินแทน หรือบอกบัญชีธนาคารไม่ครบทุกธนาคาร

แต่ถึงกระนั้น ก็อาจจะยังไม่รอดพ้นอยู่ดี เพราะธุรกิจซื้อมาขายไป หรือธุรกิจผลิต เราต้องมีสต็อกสินค้าใช่ไหมคะ

แล้วทุกครั้งที่สต็อกเพิ่ม หมายถึง ซื้อมาเพิ่ม/ผลิตเพิ่ม เป็นรายจ่ายของธุรกิจ ที่เราน่าจะเก็บส่งนักบัญชีครบอยู่แล้ว

ส่วนสต็อกที่ลด สาเหตุหลักมาจาก “การขาย” แน่นอน

นั่นก็แปลว่า ถ้ารายได้ที่เราบอกนักบัญชีไป ไม่สัมพันธ์กับจำนวนสต็อกที่ลดลงในระหว่างเดือน นักบัญชีก็ต้องสวมบทบาท “แม่บ้าน” ช่างเอ๊ะขึ้นมาแน่ๆ เลย

หรือถ้านักบัญชีไม่เอ๊ะ ในปีนี้ เวลาผ่านไปหลายๆ ปีในงบการเงินน่าจะมียอดสต็อกที่บวมขึ้นๆ อยู่จนผิดสังเกตเป็นแน่

การไม่บอกรายได้ธุรกิจแก่นักบัญชีให้ครบถ้วน อาจนำพามาซึ่งหายนะในตอนท้าย เพราะทุกรายได้ย่อมมีเส้นทางการเงิน และสต๊อกสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งเบาะแสที่บอกว่ารายได้ที่แสดงในงบ ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ

นี่ยังไม่นับรวมนโยบายของทางภาครัฐที่บังคับให้ สถาบันการเงินส่งข้อมูล “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ของธุรกิจที่เข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ให้กับสรรพากรโดยปริยาย

  1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี หรือ
  2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าใครเป็นเจ้าของธุรกิจก็คงต้องหนาว เหมือนกับ “พ่อบ้าน” ที่ปิดความลับ “แม่บ้าน” ไว้แล้วตอนหลังโป๊ะแตก งานเข้าหนักกว่าการบอกความจริงอีก

ก่อนที่เราจะปกปิดข้อมูลรายได้กับนักบัญชี ลองคิดให้ดีๆ ว่าเรา “มั่นใจ” ใช่ไหม สำหรับผลกระทบในอนาคต

หากงบการเงินไม่ถูกต้อง รายได้น้อย กำไรน้อยกว่าปกติ นอกจากนักบัญชีที่รู้ความลับแล้ว ยังมีสรรพากรที่คอยคิดบัญชีกับเราไม่เร็วก็ช้า สุดท้ายชีวิตไม่น่าจบที่การเสียภาษีน้อยแบบ Happy Ending แน่นอน

ฉะนั้น ถ้าเลือกที่จะเป็น “พ่อบ้านใจกล้า” อย่าลืมคิดทบทวนเรื่องนี้ให้ดีๆ เลยนะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y


ติดตาม 
Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ