ธุรกิจกับภาษีเป็นเรื่องคู่กัน ถ้าอยากทำธุรกิจอย่างสบายใจ ควรทำความเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตั้งแต่เนิ่นๆ
ในวันนี้ Zero to Profit จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจ 3 ภาษีที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดว่าแต่ละอันมันคืออะไร
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เก็บจากนิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทั้งบริษัทและห้างหุ้นส่วนก็จัดว่าเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับภาษีตัวนี้ถ้าทำธุรกิจแล้วมีกำไร
โดยส่วนมากแล้ว ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคำนวณโดยใช้สูตรนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไร * อัตราภาษี
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีกำไรประจำปี 2,000,000 บาท และอัตราภาษี = 20% จำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียจะ = 2,000,000 * 20% = 400,000 บาท
อันนี้เป็นแนวคิดของภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบคร่าวๆ ที่ให้ทุกคนลองทำความเข้าใจเบื้องต้น
สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้า 1) เราเป็นนิติบุคคล 2) เรามีกำไรจากการทำธุรกิจ ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายนั่นเอง
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีที่เก็บจากการบริโภคของประชาชน ทุกครั้งที่มีการขายหรือให้บริการ กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเรียกเก็บ Vat จากลูกค้าส่งสรรพากรเสมอ
เงื่อนไขของกิจการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะดูกันที่รายได้เป็นหลัก ว่ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไหม ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเรียกเก็บ Vat จากลูกค้าอย่างแน่นอน
แต่มีรายได้จากธุรกิจบางชนิดที่ได้รับยกเว้น Vat เช่น ขายสินค้าทางการเกษตร ขายสัตว์ ขายอาหารสัตว์ เป็นต้น
Vat คำนวณอย่างไร ขอยกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพตามนี้ บริษัท A มีรายได้จากการขายวัสดุก่อสร้าง 2,000,000 บาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจะคิดจากรายได้ * 7% = 2,000,000*7% = 140,000 บาท ที่บริษัทจะต้องเรียกเก็บจากลูกค้าแล้วนำส่งสรรพากรทุกเดือน
สรุปสั้นๆ ถ้าสงสัยว่าธุรกิจเราต้องจด Vat ไหม ให้เช็คที่รายได้ว่าเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีค่ะ เมื่อจด Vat เสร็จแล้วก็จะมีหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่มเติม อย่าลืมไปศึกษากันดู
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักไว้เพื่อนำส่งสรรพากรตามอัตราที่กำหนด
นั่นแปลว่า คนรับเงินจะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน เพราะถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ ส่วนบริษัทเองที่จ่ายเงินออกไป แล้วหัก ณ ที่จ่ายไว้ก็จะต้องรวบรวมเงินเหล่านี้นำส่งสรรพากร
โดยปกติแล้วกฎหมายจะมีกำหนดประเภทค่าใช้จ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้
ตัวอย่างที่เราพบเห็นบ่อยๆ สำหรับค่าใช้จ่ายและอัตราการหัก ณ จ่าย เช่น
- ค่าบริการ/ทำของ = 3%
- ค่าเช่า = 5%
- ค่าโฆษณา = 2%
- ค่าขนส่ง = 1%
วิธีการคำนวณง่ายๆ ตามนี้
สมมติบริษัท A จ้างนาย B มาทำชั้นวางเครื่องจักรให้ ค่าจ้าง 100 บาท ถึงเวลาจ่ายเงินบริษัท A จะต้องหัก ณ ที่จ่ายไว้ 3% = 3 บาท เพื่อนำส่งสรรพากร และนาย B จะได้รับเงิน = 100 – 3 = 97 บาท กับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายไว้ไปคำนวณภาษีประจำปี
และทั้งหมดนี้ก็คือ 3 ภาษีที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ และทำความเข้าใจก่อนเริ่มต้นธุรกิจ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล = จ่ายเมื่อมีกำไร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = จดเมื่อรายได้ถึง 1.8 ล้าน
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = หักเมื่อจ่ายเงิน
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit