เทศกาลยื่นภาษีใกล้เข้ามาอีกแล้ว เพื่อนๆ ที่เพิ่งมีรายได้ ไม่ว่าจะจากการขายของ หรือว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศ พร้อมยื่นภาษีกันหรือยังคะ
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นสิ่งสำคัญซึ่งคนที่มีรายได้ต้องทำค่ะ ซึ่ง Zero to Profit คิดว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะกำลังเป็น First Jobber หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัวแบบมือใหม่สุดๆ และอาจจะรู้สึกสับสนว่าเงินได้เท่าไรต้องเริ่มยื่นภาษีนะ รวมไปถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมีอะไรบ้าง บทความนี้มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ “ยื่นภาษีมือใหม่ ต้องเข้าใจอะไรบ้าง” มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่า
ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง?
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ การยื่นรายงานข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ แม้ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบ่งได้ดังนี้
ประเภทเงินได้ | โสด | สมรส |
เงินเดือนเพียงอย่างเดียว | 120,000 | 220,000 |
เงินได้ประเภทอื่น | 60,000 | 120,000 |
- ผู้ที่มีรายได้เงินเดือนเพียงอย่างเดียว สถานภาพ โสด เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ 120,000 บาท
- ผู้ที่มีรายได้เงินเดือนเพียงอย่างเดียว สถานภาพ สมรส เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ 220,000 บาท
- ผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่น เช่น อาชีพอิสระ ขายทรัพย์สิน ค้าขาย ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น สถานภาพ โสด เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ 60,000 บาท
- ผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่น เช่น อาชีพอิสระ ขายทรัพย์สิน ค้าขาย ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น สถานภาพ สมรส เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ 120,000 บาท
ยื่นภาษีมือใหม่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ก่อนจะไปทำความเข้าใจเรื่องเอกสาร เราลองมาดูวิธีการคำนวณ ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันคร่าว ๆ ก่อนนะคะ
โดยปกติแล้ว เราต้องคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งหมายถึง ภาษีที่ต้องจ่ายชำระทั้งหมดในปีนั้นๆ ค่ะ ซึ่งในระหว่างปีเอง เราอาจจะต้องนำส่งภาษีครึ่งปี (แบ่งครึ่งส่งสรรพากรไปบางส่วนก่อน) และอาจถูกหัก ณ ที่จ่าย (จากคนที่จ่ายเงิน) ไว้แล้วล่วงหน้า
ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายชำระปลายปี อาจจะเหลือจ่ายเพิ่มเติมเล็กน้อย หรือบางคนจ่ายไว้เกินก็สามารถขอคืนจากสรรพากรได้ค่ะ
โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ และมีเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างกัน ดังนี้
1. การยื่นภาษีเงินได้สำหรับพนักงานเงินเดือน
- แบบภ.ง.ด. 91
เอกสารที่มักจะใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราจะเรียกการยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้ว่า “ภ.ง.ด. 91” ค่ะ
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) เป็นเอกสารแสดงจำนวนเงินที่นายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนของพนักงาน
- เอกสารลดหย่อนภาษีอื่นๆ ถ้ามี เช่น เงินบริจาค จ่ายเงินค่าประกันชีวิต เป็นต้น
2. การยื่นภาษีเงินได้สำหรับอาชีพอื่นๆ
- แบบภ.ง.ด.90
ส่วนการยื่นภาษีเงินได้ประเภทนี้จะเรียกว่า “ภ.ง.ด. 90” ใครที่ยื่นภาษีมือใหม่จำหลักการง่าย ๆ ว่า เงินที่ได้นอกเหนือจากการทำงานประจำจะยื่นภาษีประเภทนี้ทั้งหมดค่ะ เช่น เงินจากการทำงานอิสระ เงินจากการค้าขาย เป็นต้น
นอกจากนี้สำหรับคนที่มีงานประจำ และมีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากงานประจำก็ต้องใช้แบบภาษี ภ.ง.ด.90 นะคะ
- แบบภ.ง.ด.94
ส่วนนี้คือ ภาษีครึ่งปีของผู้ที่มีเงินได้ประเภท 40(5)-40(8) ค่ะ ดังนั้น ถ้าใครมีรายได้ประเภทนี้ ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ตอนครึ่งปี และเก็บเอกสารฉบับนี้ไว้ยื่นภาษีปลายปีด้วย พร้อมกับ
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) เป็นเอกสารแสดงจำนวนเงินที่ผู้ว่าจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินค่าจ้าง เช่น ฟรีแลนซ์ที่มีเกิน 1,000 บาทขึ้นไป อย่าลืมขอจากผู้ว่าจ้างด้วยนะคะ
- เอกสารลดหย่อนภาษีอื่นๆ ถ้ามี เช่น เงินบริจาค จ่ายเงินค่าประกันชีวิต เป็นต้น
หากใครรู้สึกว่า มีรายได้ และถูกหัก ณ ที่จ่ายมาทั้งปี แต่ไม่เคยได้หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายจากนายจ้างเลย แนะนำอ่านวิธีแก้ไขได้ที่บทความนี้เลยค่ะ: ไม่ได้ใบหัก ณ ที่จ่ายต้องทำยังไง?
ยื่นภาษีแบบ RD Smart Tax คืออะไร
RD Smart TAX เป็นแอปพลิเคชันให้บริการธุรกรรมจากกรมสรรพากร อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ด้วยตัวเองค่ะ
แอป RD Smart Tax นั้น หน้าตาแอปจะละม้ายคล้ายกับหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากร efiling.rd.go.th วิธีใช้งานแอปก็จะคล้าย ๆ กัน
แต่ทั้งนี้ ใครที่ยื่น ภาษีมือใหม่แล้วยังไม่เคยยื่นมาก่อน ให้เข้าไปสมัครสมาชิกที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร จากนั้นสามารถนำข้อมูลบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่านไปลงทะเบียนในแอป RD Smart Tax เพื่อใช้งานได้เลยค่ะ นอกจากแอปนี้จะทำให้เรายื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว ยังสามารถช่วยคำนวณประมาณการภาษีที่ต้องจ่ายได้ด้วยนะคะ
คำนวณแล้วไม่ต้องจ่ายภาษี เงินเดือนน้อย ต้องยื่นภาษีไหม?
เป็นอีกเรื่องที่คนยื่นภาษีมือใหม่มักจะเข้าใจผิดว่า ถ้าลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี (ได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก) เพราะอาจจะมีเงินได้สุทธิน้อย หรือค่าลดหย่อนเยอะ แบบนี้ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ใช่ไหม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกณฑ์ที่เราต้องดูว่ายื่นภาษีหรือไม่ ต้องดูจากเงินได้หรือรายได้เฉย ๆ ค่ะ
ไม่ใช่ รายได้สุทธิ เพราะ รายได้สุทธิ นั้นหมายถึง รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน มาเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
ดังนั้น พวกเราจึงต้องย้อนกลับไปดูที่หัวข้อแรกของบทความนี้ค่ะ
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีของคนธรรมดาอย่างพวกเรา ก็คือ
- คนโสดที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี
- คู่สมรสที่มีรายได้เกิน 220,000 บาทต่อปี
ถ้าเข้าเกณฑ์ข้างบนนี้ ก็ต้องยื่นภาษีค่ะ ถึงแม้จะคำนวณออกมาแล้วว่า ไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม
ยื่นภาษี ต้องทำภายในเมื่อไร?
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งประเภท ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด. 91 จะต้องดำเนินการภายในเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคมในปีถัดไปค่ะ หากใครที่ยื่นภาษีมือใหม่อ่านตรงนี้แล้วยังนึกภาพไม่ออก
ลองดูจากตัวอย่างด้านล่างนี้ค่ะ
- หากจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2567 ต้องยื่นในช่วงเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2568
ทั้งนี้ ใครที่ยื่นภาษีแบบกระดาษ หรือไปที่ยื่นที่เคาน์เตอร์ของกรมสรรพากร จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป ส่วนใครที่ยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 นั่นเองจ้า
แต่ถ้าใครยื่นช้าหลังจากนี้ละก็ ระวังจะโดนค่าปรับกันนะคะ
ยื่นภาษีไม่ทันมีค่าปรับเท่าไร
หากใครที่ยื่น ภาษีมือใหม่ไม่สามารถยื่นภาษีภายในเวลาที่กำหนด อาจโดนเสียค่าปรับได้ค่ะ และถ้าเรามีเจตนาไม่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็อาจจะมีโทษถึงจำคุกได้เลยนะคะ
- กรณีไม่ยื่นแบบภายในเวลากำหนด มีทั้งค่าปรับอาญา 2,000 บาท เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และรวมถึงเบี้ยปรับอีก 1-2 เท่าของภาษีเลยนะคะ กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แค่ไม่ยื่นภาษี ใครว่าไม่น่ากลัว โทษที่มีสูงสุดเป็นหลักแสน และยังอาจทำให้เข้าห้องขังได้เลยนะ หากพบว่ามีเจตนาที่จะไม่จ่ายพรี่สรรพากร ดังนั้นการยื่นภาษีให้ถูกต้อง และให้ทันเวลาจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากสำหรับยุคนี้เลย
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องซับซ้อน แต่หากคนที่ยื่นภาษีมือใหม่มีความเข้าใจในขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้เครื่องมือช่วยยื่นภาษีออนไลน์อย่าง RD Smart Tax ก็จะช่วยให้กระบวนการเป็นเรื่องง่ายและไม่ยุ่งยาก การยื่นภาษีที่ถูกต้องและทันเวลาจะช่วยให้คุณไม่ต้องเผชิญกับค่าปรับและปัญหาต่างๆ ในอนาคตนั่นเองค่ะ
ไม่กล้ายื่นภาษีบุคคลธรรมดาเอง ใช้บริการยื่นภาษีสำหรับมือใหม่ ติดต่อ Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit