เงินสดหมุนเวียน คืออะไร สอนวิธีคำนวณอย่างง่าย ใช้ได้ตลอดชีวิต

เงินสดหมุนเวียน คืออะไร สอนวิธีคำนวณอย่างง่าย ใช้ได้ตลอดชีวิต

ในช่วงวิกฤต Cash is King เป็นคำพูดที่ยังคลาสสิคเสมอ เพราะเงินสดคือตัวที่บอกว่า ธุรกิจจะมีลมหายไปต่อไปได้อีกนานเท่าไร

ถึงแม้ทำมาค้าขาย รายได้ดี มีกำไร แต่ไม่มีเงินสด ใช้จ่ายหมุนเวียนภายใน อาจจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน

ถ้าเทียบกับธุรกิจที่ขายกะท่อนกะแท่น ขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง แต่ได้เงินสดเร็ว มีเงินหมุนเพียงพอ ในวิกฤตอาจอยู่ได้นานกว่า

แล้วถ้าอยากรู้เงินสดหมุนเวียน คืออะไร ต้องคำนวณแบบไหน แล้วทำยังไงถึงจะไม่มีปัญหาเงินขาดมือ ค่อยๆ เรียนรู้จากบทความนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

เงินสดหมุนเวียน คืออะไร

เงินสดหมุนเวียน หมายถึง เงินที่มีไว้ใช้ประจำสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเราจะมีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอมั้ยนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของเรามีวงจรเงินสดนานเท่าไร

อ๊ะๆๆ คำศัพท์ใหม่มาอีกแล้ว “วงจรเงินสด” คำนี้คืออะไร? เดี๋ยว Zero to Profit อธิบายให้ฟัง

วงจรเงินสด (Cash Cycle) คืออะไร?

วงจรเงินสด คือ จำนวนวันที่ธุรกิจจะได้รับเงินสดกลับมาในแต่ละรอบ จากเงินสดเข้า-ออกในการดำเนินงานปกติ เช่น

  • ถ้าทำธุรกิจซื้อมาขายไป รอบของธุรกิจจะเริ่มตั้งแต่ซื้อของมา รอขาย จนกระทั่งได้เงินจากลูกค้า หักด้วยระยะเวลาจ่ายเงินให้เจ้าหนี้
  • ถ้าทำธุรกิจผลิต รอบของธุรกิจจะเริ่มตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบ ผลิต รอขาย จนเก็บเงินลูกค้าได้ หักด้วยระยะเวลาจ่ายเงินให้เจ้าหนี้

ทีนี้หลายคนคงสงสัยใช่มั้ยคะว่า เราจะนับรอบวงจรเงินสดของธุรกิจได้ยังไงกัน เพราะที่ผ่านมาระยะเวลาในแต่ละช่วงช่างไม่แน่นอนเอาซะเลย

จริงๆ แล้ว เราสามารถเอาตัวเลขจากงบการเงินมาคำนวณแบบง่ายได้ค่ะ โดยไม่ต้องไปนั่งรอนับวันให้มันยุ่งยากอย่างที่ทุกคนคิด เพราะเจ้างบการเงินนี่สรุปข้อมูลที่เราใช้คำนวณวงจรเงินสดเอาไว้ให้เราแล้วค่ะ

วิธีการคำนวณวงจรเงินสด (Cash Cycle) ทำยังไง

วงจรเงินสด คำนวณได้จากสูตรนี้

วงจรเงินสด = จำนวนวันที่ขายสินค้า + จำนวนวันที่เก็บหนี้ – จำนวนวันที่จ่ายหนี้

ส่วนงบการเงินตั้งต้นที่ทุกคนต้องมี ได้แก่

  1. งบแสดงฐานะการเงิน ที่บอกฐานะของธุรกิจ ณ วันสิ้นปี หรือสิ้นเดือน
  2. งบกำไรขาดทุน ที่บอกผลการดำเนินงานของธุรกิจในเดือนหรือปีนั้นๆ

ถัดมาเราเริ่มต้นคำนวณไปพร้อมๆ กันเลย

วิธีคำนวณวงจรเงินสด
วิธีคำนวณวงจรเงินสด

1.จำนวนวันที่ขายสินค้า

จำนวนวันที่ขายสินค้า = นับตั้งแต่วันที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามาเลยค่ะ จนกระทั่งถึงตอนขายได้ ว่ามีทั้งหมดกี่วัน เราใช้ตัวเลขในงบการเงิน คำนวณได้จากสูตรนี้

จำนวนวันที่ขายสินค้า =  365 * สินค้าคงเหลือ/ต้นทุนขาย

ข้อมูลงบการเงิน
สินค้าคงเหลืองบแสดงฐานะการเงิน
ต้นทุนขายงบกำไรขาดทุน

จำนวนวันที่ขายสินค้า ถ้ายิ่งมีน้อยก็จะยิ่งดี เพราะมันจะทำให้กิจการได้กระแสเงินสดเร็วขึ้น

จำนวนวันที่ขายสินค้า
จำนวนวันที่ขายสินค้า

2.จำนวนวันที่เก็บหนี้

จำนวนวันที่เก็บหนี้ = จำนวนวันที่ขายของได้จนถึงชำระเงินเงินสด ซึ่งจำนวนวันที่เก็บหนี้เราคำนวณได้จากสูตรนี้

จำนวนวันที่เก็บหนี้ = 365 * ลูกหนี้การค้า/รายได้

ข้อมูลงบการเงิน
ลูกหนี้การค้างบแสดงฐานะการเงิน
รายได้งบกำไรขาดทุน

ถ้าเราต้องการให้วงจรเงินสดเราหมุนเร็วๆ ต้องควบคุมจำนวนวันที่เก็บหนี้ ให้มีน้อยที่สุด

เรารู้จัก 2 ตัวแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินเข้า ถัดมาเป็นเรื่องเงินออก หรือเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อสินค้าวัตถุดิบกันบ้าง

จำนวนวันที่เก็บหนี้
จำนวนวันที่เก็บหนี้

3.จำนวนวันที่จ่ายชำระหนี้

จำนวนวันที่จ่ายหนี้ = จำนวนวันนับตั้งแต่ซื้อของจนกระทั่งจ่ายชำระหนี้ จำนวนวันจ่ายชำระหนี้ต้องเอาไปหักลบกับสมการ 2 ตัวแรก

จำนวนวันที่จ่ายชำระหนี้ = 365 * เจ้าหนี้การค้า/ต้นทุนขาย

ข้อมูลงบการเงิน
เจ้าหนี้การค้างบแสดงฐานะการเงิน
ต้นทุนขายงบกำไรขาดทุน

จำนวนวันจ่ายชำระหนี้ที่สูง ดีกับกระแสเงินสดเพราะว่าช่วยลดจำนวนวงจรเงินสดในภาพรวมได้ เป็นเทคนิคการบริหารเงินสดที่นิยมทำกัน

ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณจากงบนี้กัน

สมมุติเราคำนวณตัวเลขจำนวนวันทั้ง 3 ตัวได้แล้ว เราลองมาเข้าสูตรหาวงจรเงินสดของธุรกิจกันเลย

วงจรเงินสด = จำนวนวันที่ขายสินค้า + จำนวนวันที่เก็บหนี้ – จำนวนวันที่จ่ายหนี้

วงจรเงินสด = 61 + 73 – 61

วงจรเงินสด = 73 วัน หมายความว่า ธุรกิจนี้ต้องใช้เวลา 2.4 เดือนกว่าจะมีเงินเข้ามาในกิจการครบ 1 รอบ

นั่นก็แปลว่า เราจะสามารถคำนวณเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจได้ว่าอย่างน้อยต้องมีเท่าไรกันแน่ แต่ความยากของเงินสดหมุนเวียน คือ การคาดคะเนในวันนี้อาจไม่การันตีว่ามันจะมีเพียงพอจริงๆ ในอนาคต เพราะว่าเราใช้ข้อมูลอดีต

สรุปวงจรเงินสด
สรุปวงจรเงินสด

ดังนั้น หลายคนจึงนิยมมีเงินสดสำรองไว้มากกว่า 4 เดือน สำหรับการดำเนินธุรกิจ เช่น บวกไปสัก 2 เดือน ก็น่าจะปลอดภัย ในกรณีที่ขายของได้ช้า ลูกค้าเบี้ยวเงิน แต่ต้องจ่ายซัพพลายเออร์ตรงเวลา

และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีคำนวณวงจรเงินสด และเงินหมุนเวียนอย่างง่าย ที่ใช้ได้กับทุกธุรกิจ ตลอดชีวิตการเป็นผู้ประกอบการค่ะ

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจเรื่องเงินสดเพิ่มเติม ลองอ่านต่อกันที่นี่ได้เลยจ้า

สินทรัพย์หมุนเวียน คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับธุรกิจ

เพิ่มเงินสดได้ไว ถ้าเข้าใจ 5 เทคนิคนี้

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ