เงินสดหมุนเวียนต้องมีเท่าไร ต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง

เงินสดหมุนเวียนต้องมีเท่าไร ต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง?

ทำธุรกิจแล้วชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังไม่ถึงสิ้นเดือน เงินเกลี้ยงกระเป๋าทุกที เอ..แบบนี้ ชักจะใจไม่ดีเสียแล้ว

ว่ากันว่าถ้าอยากทำธุรกิจให้รุ่ง เราต้อง “มุ่งกำไร” แต่ทว่านอกจาก “กำไร” แล้ว เรายังต้อง “บริหารเงินสด” ให้เก่งด้วยถึงจะเรียกว่าเป็นเถ้าแก่มืออาชีพ

แล้วทุกคนสงสัยกันบ้างมั้ยคะว่า การบริหารเงินสดให้มีติดมืออยู่เสมอ หรือ เรียกศัพท์หรูๆ ว่า “เงินสดหมุนเวียน” นั้น เราต้องมีเท่าไรกันแน่ บ้างก็บอกว่า 6 เดือน บ้างก็บอก 12 เดือน แต่จริงๆ แล้วเราต้องมีเงินสดไว้รอสักกี่เดือนกันแน่นะ และเจ้าเงินสดนี้มันต้องเก็บไว้สำหรับเรื่องอะไรบ้าง ในวันนี้ Zero to Profit จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ

เงินสดหมุนเวียนอย่างไร?

ก่อนที่จะไปบริหาร เงินสด เราเองก็ต้องเข้าใจ “การหมุนของเงินสดในธุรกิจ” เสียก่อน ว่ามันมาจากไหน และมีระยะเวลาการหมุนเวียนยังไงบ้าง

สมมติให้ วันนี้เราเปิดร้านขายคุ้กกี้ และเริ่มตั้งต้นที่ “เงินสด” ในกระเป๋าจำนวน 100,000 บาท

ก่อนจะขายคุกกี้ได้ เราต้องลงทุนควักเงินไป เพื่อซื้อ “วัตถุดิบ” สำคัญๆ อย่าง แป้ง ไข่ เนย นม และน้ำตาล (อูยยย…นึกภาพตามก็หิวขึ้นมาทันที)

เงินสดจำนวนนี้ ไม่ได้หายไปไหน เพราะมันแค่เปลี่ยนรูปร่างมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้เราผลิตคุ้กกี้สวยๆ ต่อไปเพื่อเตรียมขาย

เจ้าคุ้กกี้เหล่านี้ที่เราผลิตขึ้น ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย จนกลายมาเป็น “สินค้าสำเร็จรูป”

เราอาจจะใช้เวลาตั้งหน้าร้านพักนึงกว่าจะขายได้

จากนั้น การขายถ้าร้านเรามีช่องทางการขาย 2 แบบ แบบแรก ขายสด แบบสอง ขายเชื่อให้ร้านค้าทีละเยอะๆ

  • “ขายสด” ข้อดี คือ ได้เงินทันที
  • “ขายเชื่อ” ลูกค้ารับเค้กไปก็จะเป็น “ลูกหนี้” ของธุรกิจอยู่ จากนั้นเมื่อถึงเวลา (ฟ้าเป็นใจ) เค้าก็เอาเงินสดมาจ่ายในที่สุด

ถ้าเราสังเกตธุรกิจตัวเองดีๆ แล้วลองนับจำนวนวันการเดินทางของเงินในแต่ละช่วง เราจะพบว่าเจ้าเงิน 100,000 บาท ที่เราควักจ่ายไปสำหรับการลงทุนนั้น ถ้านั่งนับจำนวนวันจากที่จ่ายออกไป จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามนี้

  • ซื้อของ ผลิตคุ้กกี้ = 5 วัน
  • รอขาย หน้าร้าน = 7 วัน
  • ขาย เงินสด = 1 วัน
  • ขาย เงินเชื่อ = 30 วัน

นั่นก็แปลว่า อย่างช้าที่สุดกว่าเงิน 100,000 บาทที่ลงทุนไป จะได้รับกลับเข้ามาก็จะต้องใช้เวลากว่า = 5+7+30 = 42 วันเลยทีเดียวค่ะ

จากตัวอย่างนี้ เพื่อนๆ น่าจะลองนึกภาพออกว่า การทำธุรกิจนั้น เงินของเราที่ลงทุนไปกว่าจะหมุนกลับเข้ามาใช้เวลานานพอสมควรเลย แล้วถ้าใครไม่มีเงินสดสำรอง หรือเงินทุนหมุนเวียนในกิจการให้เพียงพอ โอกาสเสี่ยงมากที่เราจะ “เจ๊ง” ก่อนมีกำไร

ธุรกิจต้องมีเงินหมุนเวียนเท่าไร?

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าการจะกันเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจเอาไว้จะต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง และสุดท้ายเราต้องมีเงินสดเหลือเท่าไรดีนะ

1. ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน

ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นทุกๆ เดือนในกิจการ เพื่อให้กิจการสามารถผลิตสินค้าขายให้ลูกค้าได้ เช่น ค่าซื้อวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าการตลาด ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค เงินเดือน ประกัน วัสดุสิ้นเปลือง และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำอื่นๆ

เงินสดสำรองขั้นต่ำของธุรกิจ ควรมีให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้อย่างน้อย 3 เดือนค่ะ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้ในกรณีที่มีเหตุไม่คาดฝัน อย่างเช่น รายได้ไม่มาตามเป้าในเดือนนี้ ก็ยังมีก๊อกสำรองในเดือนถัดไปให้แก้ตัว

ค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

2. ลูกหนี้รอรับชำระ

กรณีที่เราขายสินค้าแบบเงินสด คงไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะแค่คิดว่ามีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเท่าไร แล้วก็หาเงินสดสำรองไว้ตามเดือนที่ต้องการ

แต่ชีวิตมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นน่ะสิ เพราะบางทีเราต้องขายเงินเชื่อบ้างอะไรบ้าง ซึ่งมันนำมาสู่บัญชีที่เรียกว่า “ลูกหนี้” ซึ่งหมายถึง ลูกค้าที่เราขายสินค้าให้แล้ว แต่เรายังรอเค้าเอาเงินมาชำระเราไงล่ะ

ดังนั้น การคำนวณเงินสดหมุนเวียนที่ต้องมีไว้ในกิจการจะยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น เพราะว่าเราต้องมาดูว่าลูกหนี้ที่ค้างอยู่นั้น ปกติแล้วเค้าจะเอาเงินมาจ่ายให้เราภายในกี่วัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกหนี้โดยเฉลี่ยเอาเงินมาจ่าย 30 วันหลังจากที่เราขายของไป นั่นแปลว่า เงินสดสำรองอาจต้องเพิ่มเข้าไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายจนกว่าจะได้รับเงินจากลูกค้าค่ะ

ลูกหนี้รอชำระ
ลูกหนี้รอชำระ

3. ฤดูกาลขายสินค้า

ฤดูกาลขายที่เปลี่ยนไป มีผลมากๆ กับการสำรองเงินสดหมุนเวียนของธุรกิจเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าร้านเปิดขายคุ้กกี้ ฤดูกาลที่ขายสินค้าดีๆ อาจจะอยู่ในช่วงปลายปี เพราะคนซื้อของขวัญมอบให้กันช่วงปีใหม่ นั่นแปลว่าสินค้าจะหมุนเวียนไวมากๆ แต่ช่วงอื่นของปีกว่าจะขายคุ้กกี้ออกไปได้ บางทีแต่ละล็อตต้องรอนานถึง 1 เดือน

ดังนั้น การสำรองเงินสดก็จะต้องมีเพิ่มเข้ามาอีก โดยเฉพาะในช่วงที่สินค้าขายได้ช้าตามฤดูกาล เราต้องมีเงินสดสำรองเพียงพอสำหรับการจัดการสินค้าเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ฤดูกาลขาย
ฤดูกาลขาย

4. ภาระหนี้สิน

บางคนทำธุรกิจโดยใช้เงินจากการกู้ยืม ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือหนี้สินของกิจการ

ทีนี้การสำรองเงินสด ก็จะซับซ้อนขึ้นมาอีก เพราะเจ้าหนี้ที่ว่าเนี่ย ไม่สามารถรอได้ เมื่อถึงกำหนดเราก็ต้องจ่ายชำระตามเงื่อนไขทันที พร้อมดอกเบี้ย

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องกลับไปสำรวจ คือ ต้องรู้ก่อนว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง กำหนดชำระเมื่อไร และดอกเบี้ยเป็นอย่างไร กรณีที่ธุรกิจชะงัก เราต้องมีเงินจ่ายคืนหนี้แบบนี้ทุกเดือน ก้อนเงินสำรองก็ต้องรวมภาระหนี้เหล่านี้เข้าไปด้วยค่ะ

ภาระหนี้สิน
ภาระหนี้สิน

5. เงินสดฉุกเฉิน

เงินสดสำรองฉุกเฉิน คือ เงินก้อนที่สำรองไว้เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เช่น น้ำท่วมต้องซ่อมร้าน ค่าใช้จ่ายทางกฎหมายกรณีไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น ค่าใช้จ่ายชดเชยกรณีพนักงานออกจากงาน

บางครั้งเงินก้อนนี้หลายๆ คนลืมนึกไป พอถึงเวลาจริงจ่ายเงินไปแล้ว ไม่เหลือเงินสดสำหรับใช้ในธุรกิจ แบบนี้ก็แย่เลยค่ะ

เงินฉุกเฉิน
เงินฉุกเฉิน

ทั้งหมดนี้เป็น 5 เรื่องสำคัญที่ต้องคิดสำหรับการวางแผนเงินสดหมุนเวียนว่าควรมีเท่าไรดี ในชีวิตจริง แต่ละธุรกิจต้องการเงินสดหมุนเวียนไม่เหมือนกัน เพราะมีลักษณะธุรกิจ องค์ประกอบ และการหมุนของกระแสเงินที่ต่างกัน

ดังนั้น คำตอบว่าเราต้องสำรองเงินสดไว้กี่เดือนกันแน่ คงไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า เราจะสำรองเงินสดไว้เพื่ออะไร แล้วมันเพียงพอสำหรับทุกวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เงินขาดมือจริงๆ หรือเปล่า

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาเพื่อนคู่คิดปรึกษาบัญชี ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ