ถ้าใครมีลูกจ้างนอกจากภาระค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือนแล้ว เจ้าของธุรกิจยังมีอีกเรื่องที่ต้องทำเป็นประจำทุกเดือน ก็คือ การหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วก็นำส่งแบบ ภงด 1 ให้กับสรรพากรค่ะ
เจ้าของธุรกิจเองก็สามารถคำนวณและยื่นแบบ ภงด 1 ได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ต้องเข้าใจที่มาที่ไป และวิธีการเท่านั้น วันนี้ Zero to Profit จะชวนเจ้าของธุรกิจทุกคนมาเรียนรู้แบบ ภงด 1 ไปพร้อมกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว เราลุยกันเลย
ภงด 1 คืออะไร
แบบ ภ.ง.ด. 1 คือ แบบภาษีสำหรับแจ้งข้อมูลการจ่ายเงินได้ให้พนักงานประจำหรือการจ้างงาน เช่น เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น ค่าตำแหน่ง ค่าจ้างงาน เป็นต้น สำหรับช่วงเวลาทั้งเดือน โดยผู้จ่ายเงิน (นายจ้าง) ต้องเป็นคนยื่น
ถ้าเถ้าแก่คนไหนเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน จะเข้าใจว่าถึงแม้ฐานเงินเดือนของเราเท่ากับ 35,000 บาท แต่ทุกสิ้นเดือนเวลาได้เงินเดือนนั้นจะได้ไม่ครบ 35,000 บาทค่ะ เพราะส่วนนึงเราจะถูกหัก ณ ที่จ่ายออกไป ซึ่งพอนายจ้างหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ก็จะต้องเอาเงินนี้ไปสรุปในแบบ ภงด 1 ยื่นให้กับสรรพากรนั่นเอง
ภงด 1 ยื่นภายในวันที่เท่าไร
นายจ้างต้องยื่น ภงด 1 เป็นประจำทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แต่ถ้ายื่นออนไลน์ได้ไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไปค่ะ
ไม่ยื่น ภงด 1 มีความผิดไหม
กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง (ผู้จ่ายเงิน) ต้องยื่นแบบ ภงด1 กรณีที่มีการจ่ายเงินและลูกจ้างมีเงินได้ถึงเกณฑ์ถูกหัก ณ ที่จ่าย
ถ้านายจ้างไม่ยื่นแบบ ภงด 1 ภายในกำหนดเวลาตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 35 แห่งประมวล รัษฎากร) หรือถ้าไม่ยื่นแบบเพราะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
เงินได้ประเภทไหนต้องยื่นแบบ ภงด 1 บ้าง?
เงินได้ที่ต้องรวมยื่นแบบ ภงด 1 นั้น ประกอบด้วย เงินได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านแบบไม่เสียค่าเช่า เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา40 (2) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่ง งานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุน ในงานที่ทำ เป็นต้น
ข้อสังเกต: ถ้าใครจ้างลูกจ้างประเภทฟรีแลนซ์ ก็ถือว่าจ่ายเงินได้ประเภท 40(2) ต้องรวมยื่นในแบบนี้น้า ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์
ใครต้องยื่นแบบ ภงด 1 บ้าง?
คนที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด1 คือ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินแก่ลูกจ้างตามที่ระบุไว้ข้างบนค่ะ
อ๊ะๆ อ่านมาถึงตรงนี้ เถ้าแก่หลายคนขนลุกเลยใช่ไหมคะ เพราะว่าแม้เราทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาก็ตาม แต่ถ้าเราได้จ่ายเงินเดือนหรือจ้างพนักงานแล้วล่ะก็ เราก็มีหน้าที่ยื่น ภงด 1 โดยปริยายเลยล่ะ
ภงด 1 ต่างกับ ภงด 1ก ไหม?
แม้ว่าชื่อจะคล้ายกัน แต่ ภงด 1 ต่างกับ ภงด 1ก ต่างกัน ดังนี้
ภงด 1 เป็นแบบสรุปเงินได้ของลูกจ้างและภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับลูกจ้างที่ถึงเกณฑ์ต้องหัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างต้องยื่นเป็นประจำทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แต่ถ้ายื่นออนไลน์ได้ไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไปค่ะ
ภงด 1ก เป็นแบบสรุปเงินได้ของลูกจ้างทุกรายประจำปี (แม้ว่าไม่ถึงเกณฑ์หัก ณ ที่จ่ายก็ตาม) ซึ่งนายจ้างต้องยื่นเป็นประจำภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปค่ะ
หัก ณ ที่จ่าย ภงด1 คิดยังไง?
สมมติให้ นาย Zero เป็นลูกจ้างของบริษัท Profit ได้รับเงินเดือน เดือนละ 35,000 บาท
ถัดมาเรามาดูวิธีการคำนวณเพื่อกรอกข้อมูลในแบบ ภงด 1 กันค่ะ
นาย Zero เป็นโสด และมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
บริษัท Profit จะคำนวณการหัก ณ ที่จ่ายของนาย Zero ด้วยโดยใช้หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามขั้นตอนนี้
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการคำนวณสำหรับพนักงาน 1 คนเท่านั้น ยิ่งถ้ากิจการจ้างพนักงานหลายคน เราอาจต้องหาตัวช่วยอย่างโปรแกรม Payroll ช่วยคำนวณหัก ณ ที่จ่ายนะคะ ไม่งั้นเจ้าของธุรกิจไม่เป็นอันทำอะไรแน่ตอนสิ้นเดือน
ข้อสังเกต: กรณีที่ลูกจ้างเงินเดือนรวมต่อปี ไม่ถึง 310,000 บาท หรือ 25,833 บาทต่อเดือน นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะรวมๆ แล้วรายได้สุทธิยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีค่ะ
ตัวอย่างแบบ ภงด 1
เบื้องต้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะ การยื่นแบบ ภงด1 นั้น มีข้อมูลที่ต้องกรอกด้วยกัน 2 ส่วน คือ
- แบบ ภงด 1 = สรุปข้อมูลทั้งหมด
- ใบแนบ ภงด 1 = รายละเอียดเงินได้และการหัก ณ ที่จ่าย ของผู้รับเงิน (ลูกจ้าง) แต่ละคน
โดยปกติแล้ว เราจะต้องกรอกข้อมูลในใบแนบเสียก่อน แล้วจึงสรุปมาเป็นแบบ ภงด 1 จ้า
ทีนี้ เราลองมาดูตัวอย่าง ภงด 1 และใบแนบกันค่ะว่าจากตัวอย่างของนาย Zero เราจะกรอกข้อมูลในแบบ ภงด 1 ยังไงกันนะ
ยื่นแบบ ภงด 1 ได้ที่ไหน
การยื่นแบบทำได้ 2 ช่องทาง
- ยื่นแบบกระดาษ – เพียงแค่ไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากที่นี่มากรอกและนำไปยื่นสรรพากร
- ยื่นแบบออนไลน์ – เข้าเว็บสรรพากรตรงนี้ เพื่อยื่นแบบภาษีออนไลน์ได้เลยจ้า
เป็นอย่างไรกันบ้าง พอจะเข้าใจกระบวนการจ่ายเงินเดือนและการหัก ณ ที่จ่ายกันบ้างแล้วใช่ไหมคะ แม้ว่าการจ่ายเงินเดือน หรือค่าจ้างให้กับลูกจ้างนั้น มีรายละเอียดการหัก ณ ที่จ่ายจุกจิกมากมายที่นายจ้างต้องทำความเข้าใจ แต่ถ้าลองเรียนรู้และลงมือทำไปพร้อมกัน เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเกินความสามารถของเจ้าของธุรกิจทุกท่านเลยค่ะ
อ่านแล้วยังอยากเรียนต่อ คำนวณภาษีบุคคลธรรมดาคิดยังไง เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่นี่
คอร์สภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการวางแผนภาษีเบื้องต้น
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit