“ปีนี้พี่เสียภาษีเกือบล้าน แต่ทำไมคู่แข่งเสียแค่ 5 แสนเอง….พี่เสียภาษีเยอะไปหรือเปล่า?”
คำถามชวนสงสัย ว่าเพราะเหตุใดเราจึงเสียภาษีเยอะกว่าคู่แข่ง
ถ้าจะวิเคราะห์กันที่ตัวเลข อาจจะไม่ชัดเจนนักว่าเราเสียภาษีเยอะหรือน้อย
เพราะแม้จะทำธุรกิจแบบเดียวกัน แต่สเกลของธุรกิจเราอาจจะเล็กหรือใหญ่กว่าเค้า ทำให้การเอาตัวเลขภาษีของเราไปเทียบกับเค้าจึงไม่ค่อยแฟร์เท่าไรนัก
วันนี้ Zero to Profit เลยจะชวนทุกคนมาลองคำนวณว่าเราเสียภาษีมากเกินไปไหมด้วยตัวเองง่ายๆ จากสูตรนี้
อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง
อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง = ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ / กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้
อัตราภาษีเงินที่ได้ที่แท้จริง (Effective Tax Rate) เป็นสูตรที่ใช้คำนวณว่าเราเสียภาษีที่อัตราเท่าไรกันแน่ถ้าเทียบกับฐานคำนวณภาษี ซึ่งผลลัพธ์อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้
ข้อมูลที่ต้องมี
จะคำนวณอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงได้ ข้อมูลที่เราต้องมีคงหนีไม่พ้น “งบกำไรขาดทุน”
งบกำไรขาดทุน เป็นงบการเงินที่บอกว่าเรามีรายได้และค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และสุดท้ายเสียภาษีเท่าไรในปี ซึ่งผลลัพธ์จะแสดงกำไรขาดทุนสุทธิไว้ที่บรรทัดล่างสุด
ในงบกำไรขาดทุนนี้ ให้ทุกคนมองหาคำว่า “ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้” และ “กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้” (ฐานคำนวณ)
แล้วลองเอามาเข้าสูตรอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงกันเลย
ตัวอย่างเช่น
จากงบกำไรขาดทุนของบริษัท ซีโร่ทูโปรฟิต
ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ = 945,000
กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ = 3,156,000
ทำให้อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง = 945,000/3,156,000 = 29.94%
วิเคราะห์ต่ออย่างไร?
คำนวณอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงได้ 29.94% แล้วเราจะวิเคราะห์ต่ออย่างไร
ง่ายๆเลย เราสามารถวิเคราะห์เทียบกับอัตราภาษีเงินได้ตามกฎหมาย
ถ้าอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง มากกว่า อัตราภาษีเงินได้ตามกฎหมาย แปลว่า เราเสียภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดจากค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนไม่สามารถเอามาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ซึ่งมองในมุมเจ้าของธุรกิจคงรู้สึกไม่ดีเท่าไรนัก
แต่ถ้าอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง น้อยกว่า อัตราภาษีเงินได้ตามกฎหมาย แปลว่า เราเสียภาษีน้อยกว่าอัตรามาตรฐาน อาจเกิดจากการที่เราใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น มีรายจ่ายใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ 2 เท่า
ยกตัวอย่างเช่น จากตัวอย่างบริษัท ซีโร่ทูโปรฟิต มีอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง 29.94% ในขณะที่อัตราภาษีตามกฎหมายอยู่ที่ 20% แปลว่า จริงๆ แล้วบริษัทเสียภาษีไปเยอะกว่ามาตรฐานพอสมควรเลย
แล้วถ้าอยากแอดวานซ์ไปกว่านั้น เราลองไปเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้แท้จริงกับบริษัทคู่แข่ง ถ้าเราได้ % มากกว่าก็แปลว่า เราอาจบริหารภาษีได้ไม่ดีเท่าคู่แข่ง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรวิเคราะห์ว่าเราจ่ายภาษีมากไปไหม โดยเน้นคำนวณ % อัตราภาษีแท้จริงมากกว่าดูที่ตัวเลข
และจะดีที่สุดถ้าเราวิเคราะห์ต่อได้ว่า ทุกวันนี้เราเสียภาษีมากไปหรือไม่ จากสาเหตุอะไร
เพราะคำตอบนี้ อาจเป็นบทเรียนอันล้ำค่า ที่ช่วยให้เราวางแผนภาษีธุรกิจในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit