คนทำธุรกิจมักถูกนักบัญชีพูดกรอกหูซ้ำๆ เป็นประจำทุกเดือนว่า
“พี่ต้องมีเอกสารครบถ้วนนะคะ ไม่งั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้”
“แล้วถ้าเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้ นั่นแปลว่า พี่ต้องจ่ายภาษีเยอะขึ้นค่ะ”
เมื่อได้ยินดังนั้น ตัวเราเจ้าของธุรกิจก็อยากจะหาเอกสารมาซัพพอร์ตบัญชีเหลือเกิน แต่ปัญหามันติดอยู่ตรงที่ ไอค่าใช้จ่ายทางภาษี เอกสารต้องมีอะไรบ้าง พี่สรรพากรถึงจะแอพพรูฟ
ถ้าเจ้าของธุรกิจคนไหนมีปัญหานี้อยู่ ลองมาดูเทคนิคการเก็บเอกสารให้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้จาก Zero to Profit กันค่ะ
ค่าใช้จ่ายทางภาษีคืออะไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เจ้าค่าใช้จ่ายทางภาษีที่นักบัญชีย้ำนักย้ำหนาเนี่ย มันคืออะไรกันนะ
ค่าใช้จ่ายทางภาษี หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เอามาเป็นรายจ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
โดยที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากกำไรทางภาษีแบบนี้
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร
กำไร x อัตราภาษี = ภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่บ่อยครั้งที่เราจ่ายเงินออกไปแล้ว แต่เอกสารไม่ครบถ้วน ทางกฎหมายจึงบอกว่าไม่ได้นะๆ แบบนี้เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายต้องห้าม” ไม่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
ผลกระทบ ก็คือ จะต้องบวกกลับรายจ่ายนี้เข้าไปในกำไร ทำให้กำไรทางภาษีเพิ่มขึ้น สุดท้าย ค่าภาษีที่ต้องจ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย
ค่าใช้จ่ายทางภาษี เอกสารต้องมีอะไรบ้าง?
พอจะเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายทางภาษีแล้ว แต่เวลาจ่ายเงินไปจริง ซัพพลายเออร์บางคนก็ให้เอกสารบ้าง ไม่ให้เอกสารบ้าง บางคนออกใบเสร็จให้ บางคนก็ออกใบเสร็จไม่เป็น แล้วทีนี้เจ้าของธุรกิจอย่างเราจะทำอย่างไร
Zero to Profit ทำแผนภูมิค่าใช้จ่ายทางภาษีมาให้ว่าเราต้องเช็กอะไรบ้าง แล้วเอกสารที่ต้องมีประกอบด้วยอะไรบ้างนะ ลองมาดูกันทีละ Step เลยค่ะ
1. เช็กก่อนว่าจ่ายเงินให้ใคร?
อันดับแรกค่ะ ก่อนที่จะร้องขอเอกสารจากซัพพลายเออร์ ให้เช็กดูก่อนว่าเราจ่ายเงินให้ใคร? เพราะสถานะของคนรับเงินที่แตกต่างกัน ก็จะมีเอกสารที่แตกต่างกันนะ
คนรับเงินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
- นิติบุคคล ประกอบด้วย บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่จดทะเบียนและมีเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักค่ะ
- บุคคลธรรมดา อาจจะเป็นร้านค้า หรือบุคคล ที่ไม่เคยจดทะเบียนประกอบธุรกิจเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดค่ะ
2. ต้องหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่?
ถัดมาดูต่อว่าค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไป จำเป็นต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
การที่เรารู้ว่าต้องหัก หรือไม่หัก ณ ที่จ่ายนั้นเป็นประโยชน์มากสำหรับการกดจ่ายชำระเงินค่ะ เพราะถ้าต้องหัก ณ ที่จ่าย จำนวนเงินที่เราจ่ายให้ซัพพลายเออร์ จะไม่เต็ม 100% แล้วนะ
ยกตัวอย่างเช่น จ่ายค่าจ้างทำม่านให้กับบริษัท ค่าใช้จ่าย 100 บาท ต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% คือ 3 บาท เหลือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชำระเท่ากับ 100 -3 = 97 บาท
และเจ้าของธุรกิจก็จะต้องออกเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย” เป็นหลักฐานให้กับผู้รับเงินเสียด้วย แล้วนำส่งภาษีให้กับสรรพากรตอนสิ้นเดือน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
- นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย แล้วนำส่งแบบภาษี ภ.ง.ด. 53
- บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย แล้วนำส่งแบบภาษี ภ.ง.ด. 3
ทำความเข้าใจเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ได้ที่นี่: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร คำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร
3. ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง?
พอจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนนี้มาถึงเอกสารที่เราต้องมีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีให้ได้อย่างสมบูรณ์
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนค่ะ ว่าในทางกฎหมายเค้ากล่าวไว้ว่า
“รายจ่ายที่ผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนทางภาษี“
ดังนั้น ประเด็นที่เรากำลังจะไปเช็กนั้นก็จะต้องทำให้เรามั่นใจว่าการจ่ายชำระออกไป สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้รับเงินได้โดยเริ่มต้นจาก การมีหลักฐานการจ่ายชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นต้นขั้วเช็ค สลิปโอนเงิน ที่เช็กได้ว่าใครกันที่รับเงินจากเราไปเป็นเอกสารพื้นฐานเสียก่อน ไม่ว่าจะจ่ายให้บริษัท หรือบุคคลค่ะ
จากนั้นต้องมีเอกสารรับเงินจากผู้ขาย เป็นหลักฐานเพิ่มเติม แยกตามประเภทกิจการที่รับเงินดังต่อไปนี้
นิติบุคคล (บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) | บุคคลธรรมดา |
ใบเสร็จรับเงิน | 1. ใบเสร็จรับเงิน/ใบรับเงิน 2. ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนผู้รับเงิน 3. หนังสือรับรองแทนใบเสร็จรับเงินที่มีผู้อนุมัติ |
ถัดมาเรามาทำความเข้าใจเอกสารแต่ละตัวกันค่ะ แม้ว่าจะได้เอกสารจั่วหัวชื่อถูกต้องตามที่บอกไปในตารางนี้ แต่ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วน ก็ไม่สามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานทางภาษีได้นะ
1.ใบเสร็จรับเงิน
ใบเสร็จรับเงินมีหน้าที่ออกโดยนิติบุคคล บริษัทหรือห้างห้างส่วนจำกัด เมื่อรับเงินแล้วจะต้องออกใบเสร็จรับเงิน โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
- ชื่อบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน
- ที่อยู่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วน
- เลขที่/ลำดับ
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- จำนวนเงินที่รับ
- ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า
ดังนั้น สรุปง่ายๆ ถ้าเป็นนิติบุคคล ตัวเลือกของการออกเอกสารมีแค่ใบเสร็จรับเงินเท่านั้น (ไม่สามารถใช้เอกสารอื่นแทนได้นะ)
2.ใบรับเงิน
กรณีที่ซื้อของกับบุคคลธรรมดา หลักฐานที่ดีที่สุดที่ควรได้รับก็คือ ใบเสร็จรับเงินหรือใบรับเงินค่ะ
ใบรับเงิน ชื่อเต็มเรียกว่า “ใบรับเงินตามมาตรา 105ทวิ” ในรายละเอียดข้อมูลที่ต้องมีไม่แตกต่างจากใบเสร็จรับเงินนัก เพียงแค่ว่าเปลี่ยนหัวเอกสารเท่านั้น และคนรับเงินเป็นบุคคลธรรมดาค่ะ
3.ใบสำคัญรับเงิน
กรณีที่คนขายเป็นบุคคลธรรมดาและไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบรับเงินได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่
เราในฐานะเป็นคนซื้อก็สามารถสร้างเอกสารขึ้นมาให้เค้าเซนต์รับรองได้นะ ซึ่งเรียกว่า ใบสำคัญรับเงิน
“ใบสำคัญรับเงิน” นี้ให้คนรับเซ็นต์แก๊กนึง ยินยอมว่าเค้าขายของให้เราจริง และได้รับเงินจากเราไปจริง
แต่ความยากของมันอยู่ที่ เราต้องมีข้อมูลคนรับเงิน ตั้งแต่ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้ครบถ้วน เพื่อที่จะมากรอกในเอกสารใบนี้ และต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนไว้ด้วย
4. ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน
กรณีที่แย่สุด ถ้าเราไม่สามารถขอเอกสารใบเสร็จรับเงิน/ใบรับเงิน หรือใบสำคัญได้เลย
เราสามารถทำเอกสารที่เรียกว่า ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน โดยมีข้อความระบุว่า
พนักงานของธุรกิจ จ่ายรายจ่ายออกไปวันที่เท่านี้ รายละเอียดอะไรบ้าง และระบุว่าไม่อาจเรียกขอใบเสร็จรับเงินจากผู้รับได้ แต่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจจริง
จากนั้นเซนต์เบิกจ่ายชำระ และมีผู้อนุมัติเอกสาร
แต่สำหรับใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินก็มีข้อแม้เช่นกันว่า รายจ่ายที่เกิดขึ้นควรจะเป็นรายจ่ายแบบเบ็ดเตล็ดจริงๆ เช่น ซื้อดอกไม้พวงมาลัยไว้พระ ถ่ายเอกสาร เป็นต้น ไม่ใช่ซื้อรถ 1.5 ล้าน ใช้ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน แบบนี้สรรพากรตาเขียวแย่
สรุป
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นเทคนิคดีๆ ที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเช็กควรครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารค่ะ ซึ่งถ้าสามารถแบ่งประเภทคนรับเงินได้ และเก็บเอกสารกลับมาได้ครบถ้วนก็น่าจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไม่ยาก
แต่อย่าลืมว่า รายจ่ายทั้งหมดที่ว่ามานั้น ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มนะ มิเช่นนั้น เอกสารที่พากเพียรทำขึ้นมา หรือไปเสาะหามาประกอบอาจใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลยสักนิดค่ะ
สนใจปรึกษาปัญหาบัญชี-ภาษี หาคนทำบัญชีที่แนะนำได้ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y