Q: ก่อนอื่น ภาษีเบื้องต้นที่เจ้าของกิจการต้องรู้มีอะไรบ้าง
A: ภาษีที่เจ้าของกิจการต้องรู้มี 3 เรื่องหลักๆ คือ
1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีอากรอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน โดยคิดในอัตรา 7% ของราคาขายหรือให้บริการ
เงื่อนไขการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะดูที่รายได้ คือ 1. รายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้น 2. รายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป
ฉะนั้น ทำธุรกิจไม่ว่ารูปแบบไหน ถ้ามีรายได้เข้าข่ายและถึงเกณฑ์ 1.8 ล้านบาทก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.ภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้จะแบ่งเป็น 2 ตัว ตามแต่รูปแบบการทำธุรกิจ คือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเป็นคนธรรมดา ทำธุรกิจยังไม่ได้ไปจดเป็นบริษัท ถ้ามีเงินได้สุทธิ คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนแล้ว ส่วนนี้ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีเป็นขั้นบันได สูงสุด 35%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ถ้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน แล้วทำธุรกิจ มีกำไร คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย ก็จะต้องคำนวณและเสียภาษีนิติบุคคล อัตราภาษี 15-20% ไม่เกินนี้
3.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะดูที่ประเภทของรายจ่าย ถ้าสมมติทำธุรกิจมีการจ่ายเงินค่าบริการ ค่าเช่า ค่าจ้างทำของ ค่าวิชาชีพ พวกนี้จะต้องมีการหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ คือ ไม่จ่ายให้ซัพพลายเออร์เต็มๆ 100% หัก ณ ที่จ่ายเสร็จก็ต้องเอาเงินส่วนนี้ส่งให้สรรพากรทุกสิ้นเดือน (ไม่ใช่เก็บไว้ส่วนตัว)
Q: เราจะคิดภาษีเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลบัญชีได้อย่างไร?
A: จริงๆ ต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจเราเกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง จากนั้นมาดูกันต่อว่าภาษีตัวไหนจัดเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีของเราบ้าง เช่น
1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าสมมติเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการซื้อสินค้าเข้ามา เกิดภาษีซื้อ ตัวนี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของกิจการ เพราะเราเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะสามารถนำภาษีซื้อที่จ่ายไปหักกลบกับภาษีขายได้ ทำให้ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่นำส่งสรรพากรลดลงแต่สมมติเราไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อตัวนี้จัดเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีของกิจการ เพราะฉะนั้น 7% ที่ว่าจะต้องคิดราคาค่าสินค้าเข้าไปเผื่อด้วย
2.ภาษีเงินได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เราจะจ่ายภาษีตัวนี้ก็ต่อเมื่อทำการค้าและมีกำไร แล้วถ้าเราพอจะรู้ว่าในแต่ละปีเราจะมีกำไรเท่าไรแล้ว คำนวณภาษีไว้ล่วงหน้าทุกๆ เดือนแล้วว่า เดือนนี้มีภาษีที่เป็นค่าใช้จ่ายเก็บไว้รอจ่ายอยู่นะ จะได้ไม่เซอร์ไพรซ์ตอนกลางปีหรือปลายปีว่า เอ ทำไมเราต้องจ่ายภาษีเยอะจัง
3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในฝั่งของคนจ่ายเรามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น 100% ตามที่ตกลงกับsupplier แน่นอน แต่ว่าเราแค่หักภาษีนำส่งสรรพากรให้ supplier ตามหน้าที่เท่านั้นส่วนในฝั่งของคนรับเงิน บางทีเราก็อาจจะโดน Supplier หักเงินไว้ เงินตัวนี้ไม่หายไปไหนเมื่อคำนวณภาษีเงินได้แล้ว เราเอาโควต้าที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาหักกลบได้ เรียกว่าเครดิตภาษีเงินได้นั่นเอง
ฉะนั้น จะเห็นว่าการคำนวณภาษีมันควรจะถูกคิดถึงตั้งแต่ตอนเริ่มเปิดกิจการว่าภาษีอันไหนบ้างเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจ และที่เหลือจะเป็นเงินที่เราเก็บแทนรัฐเพื่อรอนำส่ง (ถือเป็นหนี้สินทางบัญชี) หรือถูกหักไว้เอามาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต (สินทรัพย์ทางบัญชี)
Q: ความสัมพันธ์บัญชีกับภาษีที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง
A: การทำบัญชีนอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลในการวิเคราะห์บริหารจัดการธุรกิจแล้ว มันยังเป็นแหล่งข้อมูลในการใช้คำนวณภาษีด้วย ตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างเช่น
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจาก กำไร * อัตราภาษี
อัตราภาษี 15-20% เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ เราเปลี่ยนแปลงอะไรกับมันไม่ได้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่เราควบคุมได้คือ กำไร ถ้าเราบันทึกบัญชีครบถ้วน มีเอกสารที่มาที่ไปชัดเจน ถูกต้อง กำไรตัวนี้ก็เอามาคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้อง
แต่มันจะมีกรณีที่ว่า กิจการมีค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีเอกสารทางบัญชี เพราะฉะนั้น กำไรที่จะยกมาคำนวณภาษีจากเดิม 100 บาทก็กลายเป็น 120 บาท เพราะทางภาษีไม่ยอมรับรายการที่เอกสารไม่สมบูรณ์
ฉะนั้น ถ้าอยากลดความเสี่ยงทางภาษี เราเริ่มต้นจากการทำบัญชีให้ดีเสียก่อน อันนี้จะมีประโยชน์ที่สุด
Q: เริ่มต้นวางแผนภาษีอย่างไรดี
A: อย่างที่เล่าไปค่ะว่าเราต้องรู้จักธุรกิจเราให้ดีก่อนว่า เป็นธุรกิจประเภทไหน รูปแบบธุรกิจเป็นอย่างไร รายได้ ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง แล้วค่อยไปดูต่อว่าภาษีที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง
จากนั้นพอเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะต้องมาเริ่มวางระบบบัญชีให้
- ออกเอกสารให้ถูกต้องตามหลักที่ภาษีกำหนด
- เก็บค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน และมีเอกสารประกอบครบ
- เรียกดูงบการเงิน เพื่อให้มั่นใจตลอดปีว่า สถานะการเป็นอย่างไรบ้าง ภาษีที่ต้องจ่ายปลายปีเป็นจำนวนเท่าไร
และเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการภาษีในแต่ละปี อาจจะศึกษาเพิ่มหรือปรึกษาสำนักงานบัญชีว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรที่เราสามารถใช้ได้บ้าง ถ้าทำได้แบบนี้ถือว่าเยี่ยมเลย
Q: ให้บัญชีทำภาษีให้หมดเลยได้หรือเปล่า
A: อย่าลืมว่าไม่มีใครรู้จักธุรกิจของเราเท่ากับตัวเราเอง นักบัญชีอาจจะช่วยบันทึกบัญชีตอนปลายทางได้และคำนวณภาษี ยื่นภาษีให้ได้
แต่ในระหว่างทางตั้งแต่การวางแผน จัดระเบียบเอกสาร การเก็บบิลต่างๆ ให้ครบถ้วนเป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการเองค่ะ การปล่อยหน้าที่ทุกอย่างให้นักบัญชีจัดการให้ทั้งหมด เผลอๆ อาจทำให้เราเสียสิทธิก็ได้ เพราะกว่าจะรู้ตัวว่าเอกสารไม่ครบถ้วน ไปตามหาตัว supplier หลังจากนั้นอีก 1-2 เดือน ก็อาจจะลำบากนิดนึง
Q: สรุปสั้นๆ ไม่ต้องจบบัญชี เจ้าของกิจการวางแผนภาษีเองได้ไหม
A: ไม่ต้องจบบัญชีก็วางแผนภาษีได้ เริ่มต้นจากการเข้าใจธุรกิจตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ ศึกษาว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรามีอะไรบ้าง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา และภาษีหัก ณ ที่จ่าย
จากนั้นค่อยมาเริ่มต้นวางแผนภาษีไปพร้อมๆ กับการทำบัญชี เพื่อให้เรามีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่โดนค่าปรับ และไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนเพิ่มทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น
ใครอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ตามไปทบทวนกันได้ในคลิปนี้เลย
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit