รวม 9 เรื่องต้องรู้ก่อนจดบริษัท

รวม 9 เรื่องต้องรู้ก่อนจดบริษัท

ปีนี้น่าจะเป็นฤกษ์ดีที่หลายคนตั้งใจจะจดบริษัทเพื่อทำธุรกิจเป็นจริงเป็นจังสักที ถ้าอยากเปลี่ยนจากทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดามาเป็นบริษัทกับเค้าสักที มีเรื่องอะไรบ้างที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

Zero to Profit มัดรวม 9 เรื่องที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่ไม่ควรพลาดมาให้ทุกคนลองและตัดสินใจกันดู รับรองว่าเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ทุกคนมากๆ เลยค่ะ

1. ทำธุรกิจมาสักพัก เมื่อไรควรเริ่มมีบริษัทของตัวเอง

หลายคนเข้าใจผิดว่า การมีบริษัทเป็นของตัวเองนั้นทำให้ธุรกิจเราดูดีในสายตาคนอื่น จึงทำให้เจ้าของธุรกิจมือใหม่หลายคนเดินหน้าจดทะเบียนบริษัททั้งๆ ที่ยังไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน

3 เรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดว่าจะจดบริษัทดีไหม มีด้วยกันดังนี้

  1. จดเมื่อพร้อม และจริงจัง ในที่นี้หมายถึง เรามีวัตถุประสงค์การทำธุรกิจที่ชัดเจน และพร้อมที่จะทำงานหนักในฐานะเจ้าของธุรกิจนี้ค่ะ เพราะการจดทะเบียนบริษัทนั้น ทำได้ง่ายเพียงแค่มีเอกสารครบ แต่สุดท้ายถ้าธุรกิจไปไม่รอดอยากจะจดทะเบียนเลิก ขั้นตอนนั้นไม่ง่าย แถมยังต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเยอะเลยค่ะ
  2. มีผู้ถือหุ้น คำว่า ผู้ถือหุ้น หมายถึง เจ้าของบริษัท ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป โดยต้องตกลงการแบ่งหุ้นให้ชัดเจน แบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจน เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ทะเลาะกันภายหลัง ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่ว่า “คนเงินเยอะ ได้ถือหุ้นเยอะ” อาจทำให้ผู้ก่อตั้งแต่เงินน้อยเสียเปรียบ ทั้งอำนาจการตัดสินใจ และการได้รับเงินปันผลค่ะ
  3. ประหยัดภาษีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย มีคนเข้าใจผิดว่าการเปิดบริษัทช่วยให้เราประหยัดภาษีได้ ยิ่งมีรายได้เยอะ กำไรเยอะ ก็ยิ่งต้องจดบริษัท เพราะว่าฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นสูงสุดอยู่ที่ 20% (ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 35%) แต่พวกเค้าลืมนึกไปว่าการเปิดบริษัทนั้นมีเรื่องยุ่งยากที่เราต้องจัดการในอนาคตอีกเยอะเลยค่ะ เช่น ทำบัญชี จ้างพนักงานบัญชี ยื่นภาษี ยื่นงบการเงิน

2. จดบริษัท 2 คนได้ไหม ต้องมีใครถือหุ้นบ้าง

ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กฎหมายอนุญาตให้เจ้าของธุรกิจสามารถจดทะเบียนก่อตั้งโดยผู้ถือหุ้นเพียง 2 คนได้ค่ะ

โดยรายละเอียดและเงื่อนไขทุกคนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: จดบริษัท 2 คนทำได้หรือไม่ เริ่มต้นเมื่อไร มีอะไรต้องรู้บ้าง

จดบริษัท 2 คน ทำได้ตั้งแต่ 7 ก.พ. 2566
จดบริษัท 2 คน

3. ต้องใช้เงินกี่บาท ถึงจะตั้งบริษัทได้

เงินที่ใช้สำหรับการจดทะเบียนบริษัท เราขอแบ่งออกเป็น 2 ก้อน คือ

1) เงินทุน

เงินทุน ในที่นี้หมายถึง เงินที่คาดว่าต้องใช้ในการลงทุนในธุรกิจ และเงินหมุนเวียนก่อนจะมีรายได้เข้ามา ต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่าเราควรมีเงินทุนเท่าไรดี

วิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราคิดเงินทุนได้ คือ การทำแผนธุรกิจ ศึกษาความเป็นไปได้ และเงินลงทุนที่ใช้สำหรับธุรกิจนี้อย่างละเอียดเสียก่อนค่ะ

ที่มาของเงินทุนนั้นมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 1. เงินเรา = เงินทุนจดทะเบียน 2. เงินคนอื่น = หนี้สิน

เมื่อคิดออกแล้วว่าธุรกิจต้องใช้เงินทุนเท่าไร และจะหาเงินทุนมาจากไหน หลังจากนี้ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทก็ไม่ได้ยุ่งยากอีกต่อไปค่ะ

2) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนถือเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ แยกต่างหากจากเงินทุน เพราะค่าธรรมเนียมนี้เป็นเงินที่ต้องจ่ายให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานบัญชีค่ะ (กรณีที่จ้างนักบัญชีช่วยจดให้)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจดทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สำนักงานบัญชีโดยทั่วไปจะคิดเหมารวมกับค่าธรรมเนียมให้ราคา 13,000 – 15,000 บาท เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: จดบริษัทใช้เงินเท่าไร 6 เรื่องต้องรู้ก่อนจดบริษัท

4. How to เตรียมเอกสาร ก่อนตั้งบริษัทของตัวเอง

ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องเอกสารที่เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมให้พร้อมเสียก่อนที่จะไปจดทะเบียนค่ะ

  1. กรอกแบบฟอร์มจดทะเบียนให้เรียบร้อย ซึ่งรายละเอียดที่เราต้องกรอกนั้นจะอาศัยข้อมูลสำคัญจากข้อ 2 ค่ะ
  2. เตรียมเอกสารและข้อมูลพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นทุกคน
  • แผนที่ตั้งบริษัท เราต้องวาดออกมาให้เรียบร้อย ระบุถนนให้ชัดเจน และจุดสังเกตสำคัญ ไม่ใช่แผนที่ copy มาจาก google map
  • ตรายาง ไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ถ้ามีก็ต้องจัดทำให้เรียบร้อย
  • ติดต่อผู้สอบบัญชีไว้ เพราะต้องระบุข้อมูลชื่อ เลขที่ผู้ตรวจสอบบัญชี และอัตราค่าตรวจสอบบัญชีประจำปีไว้ด้วย

5. จดทะเบียนพาณิชย์ คืออะไร?

การจดเปิดบริษัท หมายถึง การจดเพื่อกำเนิดเป็นนิติบุคคลใหม่ แยกต่างหากจากบุคคล

แต่การจดทะเบียนพาณิชย์ หมายถึง การจดเพื่อบอกว่าเราทำการค้าเป็นแบบพาณิชย์

การค้าขายไม่ว่าในนามบุคคลหรือบริษัท ก็ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ยกเว้น หาบเร่แผงลอย ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายค่ะ

การจดทะเบียนพาณิชย์ต้องไปที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง ส่วนต่างจังหวัดให้ไปเทศบาลหรือ อบต. ซึ่งมีค่าธรรมเนียมแสนถูกที่ 50 บาท เท่านั้นเอง

ตัวอย่างทะเบียนพาณิชย์ดูได้ที่นี่

ตัวอย่างทะเบียนพาณิชย์
ตัวอย่างทะเบียนพาณิชย์

6. “จด VAT” สำคัญไหม ใครต้องจดบ้าง

การจด VAT หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องสำคัญหากเราเข้าเงื่อนไข 2 ข้อดังต่อไปนี้

  1. ประเภทรายได้ไม่ได้รับยกเว้น เช่น ขายพืชผัก
  2. จำนวนรายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป

ดังนั้น ถ้ากฎหมายบังคับ ก็ต้องจด เลี่ยงจด Vat ถ้ารายได้เกิน 1.8 ล้าน เหมือนปิดโอกาสเติบโต

เจ้าของกิจการทั้งหลายมักเข้าใจผิดว่าการจด VAT นั้นทำให้ธุรกิจขาดทุนไปอีก 7% แต่จริงๆ แล้ว ความหมายที่แท้จริงของภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นั้นเราสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ เรียกง่ายๆ ว่าต้องบวกราคาขึ้นไปอีก 7% แล้วเก็บเงินส่วนนั้นนำส่งสรรพากรค่ะ

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจด VAT ได้ที่นี่

7. จดบริษัทแล้วจ้างนักบัญชียังไง

รู้หรือไม่ การมีบริษัท กฎหมายกำหนดให้เราต้องมีผู้ทำบัญชี เพื่อบันทึกบัญชีธุรกิจอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีค่ะ เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องส่งงบการเงินให้กับหน่วยงานรัฐ

แล้วผู้ทำบัญชี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “นักบัญชี” นั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง ลองไปดูกัน

นักบัญชีทำอะไร
นักบัญชีทำอะไร

วิธีการจ้างนักบัญชี เราอาจจะต้องเช็คสถานะธุรกิจตัวเองเสียก่อนว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ มีรายการค้ามากน้อยเพียงใด

เราแนะนำสำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ จ้างบัญชีตาม Step แบบนี้ ซึ่งราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามเนื้องานค่ะ

1) รายการบัญชีน้อย ทำเอง ปิดประจำปี

2) รายการบัญชีเยอะ จ้างนักบัญชีฟรีแลนซ์หรือสำนักงานบัญชี ราคาจะคิดตามปริมาณเอกสารในแต่ละเดือน และความซับซ้อนในการปิดบัญชีประจำปีค่ะ

3) เมื่อจ้างนักบัญชีภายนอกแล้วเริ่มแพงกว่าเงินเดือนนักบัญชีประจำ อาจจะต้องเริ่มจ้างบัญชีประจำแล้วตั้งแผนกบัญชีสำหรับบริษัทภายในไปเลย

8. บัญชีธุรกิจดีช่วยลดภาษีได้อย่างไร

ทุกคนคงคิดไม่ถึงค่ะว่า การทำบัญชีธุรกิจให้ดี ให้ละเอียด และถูกต้องนั้น มีความสัมพันธ์กับภาษีแบบไม่น่าเชื่อ

ความเสี่ยงของธุรกิจ 1 อย่างที่น่ากังวล คือ การต้องเสียภาษีเยอะๆ หรือว่าโดนค่าปรับทางภาษีที่แพงมหาโหด

การทำบัญชีนั้นช่วยลดความเสี่ยงภาษีได้ เพราะถ้าเราทำบัญชีถูก โอกาสคำนวณภาษีก็จะถูกไปด้วย ความเสี่ยงเรื่องค่าปรับ เงินเพิ่มก็จะไม่ตามมาในภายหลัง

และที่สำคัญ การทำบัญชีช่วยให้เราวัดผลการดำเนินงานธุรกิจได้ ช่วยวางแผนอนาคต เพื่อประหยัดภาษีตามเงื่อนไขรัฐบาลด้วยค่ะ

9. บริหารเงินธุรกิจอย่างไร ไม่ให้ขาดมือ

การบริหารเงินธุรกิจไม่ใช่เรื่องไกลตัวค่ะ เพียงแค่เราเข้าใจ 3 หลักการนี้

  • เงินสดเข้า ทำยังไงเข้าเร็วขึ้น = ขายเร็ว + เก็บเงินไว
  • เงินสดออก ทำยังไงออกช้าลง แต่ไม่ผิดนัด = ขอเครดิตเทอม จ่ายให้เป็นระบบ
  • เงินเหลือ พอสำหรับใช้จ่ายอย่างต่ำรายเดือน 2-3 เดือน (ระหว่างรอเงินเข้าจากการขาย)

เมื่อเงินสดเข้ามาเร็ว เราจ่ายออกไปช้า เงินก็จะเหลืออยู่ภายในบริษัทมากขึ้น ด้วยวิธีนี้เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องควักเนื้อหรือไปขอเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม

เมื่อไรก็ตามที่สภาพคล่องหรือการเงินของธุรกิจดีแล้ว เมื่อนั้นเราก็สบายใจค่ะว่าธุรกิจจะไม่เจ๊งกลางคัน ในขณะที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว

ทั้งหมด 9 ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และตัดสินใจก่อนที่จะจดทะเบียนเปิดบริษัทเป็นของตัวเองค่ะ อย่างที่บอกว่าการจดเปิดบริษัทนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทว่าบริษัทที่เราเปิดขึ้นมาแล้วจะอยู่ได้ยั่งยืนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่าเสียอีก ดังนั้น การเตรียมตัว วางแผน ตอบคำถามทั้ง 9 ข้อนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ทุกท่าน “อยู่รอด” ตลอดฝั่งในสังเวียรธุรกิจนั่นเองค่ะ

อบรมบัญชี-ภาษี จากวิทยากรมากประสบการณ์ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ