แม่ค้าออนไลน์คนไหนมีร้านค้าใน Lazada ขอให้ยกมือขึ้น
ถ้าอยากเปิดร้านค้าออนไลน์ในปัจจุบัน แค่ขายผ่าน Facebook IG อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ หลายคนเลือกไปเปิดร้านค้ากับ Lazada เพื่อเพิ่มช่องทางการขายอีกทางนึง เพราะเค้าการันตีว่าเป็นเบอร์หนึ่งเจ้าตลาดออนไลน์ที่มีฐานลูกค้าเยอะที่สุด
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในบรรดาหลายแสนร้านค้าที่เปิดหน้าร้านกับ Lazada เราอาจจะกลายเป็นคนโชคร้ายที่ขาดทุน เข้าเนื้อ เลือดไหลซิบๆ ถ้าเราไม่เตรียมตัวและทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนว่าเปิดร้านใน Lazada มีค่าใช้จ่ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ถ้าไม่อยากเลือดไหล จนต้องเรียกรถพยาบาลมาดูแล Zero to Profit ขอเชิญชวนแม่ค้าออนไลน์ทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายไปพร้อมๆ กันนะคะ
ค่าใช้จ่ายที่ Lazada มีอะไรและวิธีการคำนวณเป็นยังไง
จะรู้ว่า Lazada เก็บค่าใช้จ่ายอะไรจากเราบ้าง แม้จะไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดทุกเดือน แต่ Lazada จะหักจากรายได้ของเราทุกๆ รอบบิล วิธีสังเกตให้เรา download บิลค่าใช้จ่ายจากระบบมาลองเช็คดู ซึ่งจะมี 2 บิล ตามนี้
1. ค่าขนส่งจาก Lazada Express
บิลนี้จะเรียกชาร์ตแม่ค้าออนไลน์เฉพาะค่าขนส่งล้วนๆ ว่าในรอบ 7 วันที่ผ่านมามีค่าขนส่งจำนวนเท่าไร
คิดยังไง: ค่าขนส่งคำนวณจากน้ำหนักสินค้า x อัตราค่าขนส่งของ Lazada ที่แม่ค้าต้องรับผิดชอบ
สิ่งที่เราต้องวางแผนและตัดสินใจ คือ
- ตอนเปิดร้านต้องตัดสินใจก่อนว่าให้ “ร้านค้า” หรือ “ลูกค้า” จ่ายค่าขนส่งสินค้า ถ้าเราเลือก “ร้านค้า” เราก็ต้องรับภาระตรงนี้เอง
- ค่าขนส่งสินค้าที่ต้องรับภาระไว้ล่วงหน้า โดยเช็คจากน้ำหนักและขนาดสินค้า x อัตราค่าขนส่ง
ภาษีที่เกี่ยวข้อง: อย่าลืมขอคืนหัก ณ ที่จ่าย 1% จาก Lazada กรณีที่ขายของแบบบริษัท เพื่อไปนำส่งสรรพากรด้วยนะ
2. ค่าบริการจาก Lazada Limited
บิลนี้เป็นค่าบริการทุกอย่าง Lazada หักจากเรา และแน่นอน Lazada ก็จะสรุปยอดมาให้เช่นกันว่ามีค่าใช้จ่ายประเภทอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร
จากตัวอย่างบิลนี้เป็นค่าบริการที่ Lazada สรุปมาให้ประจำงวด ประกอบด้วย
- Payment Fee คือ ค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เรียกเก็บจากผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าผ่าน Lazada โดยจะคิดเฉพาะคำสั่งซื้อที่สำเร็จเท่านั้น
คิดยังไง: อัตราค่าธรรมเนียม (2%) x ราคาสินค้ากรณีลูกค้าชำระผ่านบัตร
- Commission Fee คือ ค่าธรรมเนียมการขาย มีอัตราต่างกันไปตามประเภทสินค้าสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์จะเสียค่าคอมมิชชั่น 8-10% สินค้าเกี่ยวกับเครื่องสำอาง 7-8% สินค้าเมือถือ TV ปกรณ์คอมพิวเตอร์ ประมาณ 1-2%
คิดยังไง: อัตราค่าธรรมเนียม x ราคาสินค้า
- Affiliate Ads คือ ค่ายิงแอดโฆษณาโปรโมทสินค้า ผ่านทางพาร์ทเนอร์ของ Lazada ส่วนพาร์ทเนอร์นั้นก็จะมีหน้าที่นำสินค้าที่เข้าร่วมแคมเปญไปโปรโมทต่อยังช่องทางต่างๆ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่ได้บังคับแต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าร้านค้าอยากยิง Ads ให้เข้าถึงคนซื้อมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายตัวนี้ Lazada set ขั้นต่ำไว้ที่ 4% ของราคาสินค้า
คิดยังไง: อัตราค่าคอมมิชชั่นที่จะจ่ายให้ partner x ราคาสินค้า
- Freeship Max Fee คือ ค่าใช้จ่ายจากการเข้าร่วมโปรแกรมส่งฟรีพิเศษกับ Lazada ถ้าเราเข้าร่วมโปรแกรม ลูกค้าจะกดรับคูปองส่งฟรี 40 บาทจากร้านค้าเราได้เป็นต้น
คิดยังไง: อัตราค่าธรรมเนียม 4% ของราคาสินค้าต่อยอด ไม่เกิน 200 บาทต่อชิ้น
- LCP Fee คือ ค่าธรรมเนียมโปรแกรมเงินคืนทุกวัน Daily Cashback
คิดยังไง: อัตราค่าธรรมเนียม 3% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้นสูงสุดไม่เกิน 100 บาท
ภาษีที่เกี่ยวข้อง:
- ลาซาด้าเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการข้างบนนี้จำนวน 7% สำหรับใครที่ทำธุรกิจแบบจด VAT ก็สามารถขอคืนเครดิตภาษีได้ แต่ถ้าไม่ได้จด VAT 7% นี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
- อย่าลืมขอคืนหัก ณ ที่จ่าย 3% จาก Lazada กรณีที่ขายของแบบบริษัท เพื่อไปนำส่งสรรพากรด้วยนะ
ทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการขายที่เราโดนเรียกเก็บอยู่ทุกขณะที่มีสินค้าวางอยู่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่ตอนเอาสินค้ามาวางขาย ไปจนถึงการขนส่งถึงมือลูกค้า
สิ่งที่เราต้องวางแผนและตัดสินใจ คือ
- การตั้งราคาขายสินค้าในลาซาด้า ควรเป็นเท่าไร เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
- กดเข้าร่วมโปรแกรมกับ Lazada แล้วคุ้มไหม เช่น Affiliate ads, Freeship Max Fee, LCP Fee
นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจว่าเงินพวกนี้ที่เราโดนชาร์ตไปเป็นค่าใช้จ่ายในการขายนะ อีกสิ่งนึงที่อยากให้ทุกคนลองวิเคราะห์ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการขายเหล่านี้ต่อเดือนมีจำนวนเท่าไร มันเยอะไปไหมถ้าเทียบกับรายได้ และเราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ร้านค้าออนไลน์ของเรามีกำไรหลังจากจ่ายค่าใช้จ่ายในการขายเหล่านี้ดี
ค่าใช้จ่ายที่ Lazada เรียกเก็บถือเป็นค่าใช้จ่ายประเภทไหนในงบการเงิน?
ค่าใช้จ่ายที่เราถูกเก็บจาก Lazada ถือเป็น ค่าใช้จ่ายในการขาย ในงบการเงิน
ค่าใช้จ่ายในการขายต่างกับต้นทุนขายตรงที่ว่า ต้นทุนขายนั้น เป็นค่าใช้จ่ายติดตัวสินค้ามาแต่แรกหรือเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้สินค้านั้นอยู่ในสภาพพร้อมขาย
เจ้าของธุรกิจที่ติดตาม Zero to Profit มาสักพักแล้วอาจจะพอคุ้นหูกับงบกำไรขาดทุนอยู่บ้าง
งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของธุรกิจว่าทำได้ดีมีกำไรมั้ย
งบนี้เองเกิดจากสมการอมตะที่ว่า รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร
ในตัวค่าใช้จ่ายเองก็แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร
เวลาที่เราวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนทั้งงบ ควรแบ่งค่าใช้จ่ายในการขายที่เกิดขึ้นแยกออกมาวิเคราะห์ต่างหาก เพื่อทำความเข้าใจว่าโดยรวมแล้วมันมีเยอะหรือน้อยเพียงใด และในภาพรวมเรายังมีกำไรจากการวางขายสินค้าบน Lazada อยู่ไหม
โดยสรุปแล้ว แม้การเปิดร้านค้าออนไลน์ใน Lazada จะทำได้ง่ายและช่วยเพิ่มช่องทางขายสินค้าให้เราได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องความเข้าใจนอกเหนือจากว่าจะเปิดร้านยังไง และจะขายอะไร คงหนีไม่พ้นว่า เรามี ค่าใช้จ่ายในการขายอะไรบ้าง? เพื่อให้เรามันใจว่าเปิดร้านแล้วจะมีกำไรปังๆ ไม่ใช่ขาดทุนแบบพังๆ นะคะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/zerotoprofitTH
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit