เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง จับมือทำ Step-by-Step

เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง จับมือทำ Step-by-Step

เจ้าของธุรกิจที่ทำแบบส่วนตัวมาสักพักแล้วคิดว่าไปได้ดี สิ่งที่ทุกคนมักไปต่อ ก็คือ จดทะเบียนบริษัทแต่ก็ใช่ว่าจดบริษัทเสร็จแล้ว ชีวิตจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะว่าหลังจากบริษัทถือกำเนิดขึ้น เจ้าของธุรกิจเองก็มีหน้าที่ต้องทำมากมายให้ถูกต้องตามกฎหมายค่ะ

และใครที่เป็น CEO มือใหม่ ไม่มั่นใจว่าเปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องรู้บ้างนะ เรามีรายละเอียดมาให้เพื่อนๆ เรียนรู้ในบทความนี้ “Step-by-Step เปิดบริษัทแล้วต้องทำอะไรบ้าง”

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจดบริษัท

การเปิดบริษัทใหม่ คือ การจัดนิติบุคคลรูปแบบบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อประกอบธุรกิจค่ะ โดยบริษัทนั้นจะต้องจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ค่ะ

แต่มีหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจดบริษัทว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการจดทะเบียนพาณิชย์ จริงๆ แล้วแตกต่างกันแบบนี้

1. บุคคลธรรมดา จดทะเบียนพาณิชย์ก็ทำธุรกิจได้

สำหรับบุคคลที่เปิดร้านขายของ แล้วอยากทำให้ถูกต้องโดยการไปจดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขต หรือ อบต. นั้น สามารถทำได้คะ

กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและจดทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำบัญชี ยื่นส่งงบการเงิน

ทำธุรกิจนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ต้องมีพนักงานก็สามารถทำงานเพียงลำพังได้ และมีมูลค่าบริษัทที่ไม่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายของออนไลน์ ร้านค้าที่มีหน้าร้านขนาดเล็ก เป็นต้นค่ะ

2. บุคคล 2 คน รวมตัวกัน จดทะเบียนบริษัท

การจดทะเบียนบริษัท เป็นนิติบุคคลใหม่ค่ะ กฎหมายกำหนดไว้ว่า การเปิดบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งเมื่อตัดสินใจจดบริษัทแล้ว เราต้องดำเนินการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ไม่ใช่สำนักงานเขตนะ..อย่าเข้าใจผิด)

บริษัทจะมีความแตกต่างจากการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาตรงที่ทุกอย่างจะต้องผ่านการเห็นชอบจากเจ้าของธุรกิจ (ผู้ถือหุ้น) ทุกคน

การจดทะเบียนในนามของบริษัท ทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และมีตัวตนทางกฎหมายที่ชัดเจน การจดทะเบียนบริษัทลักษณะนี้จึงเหมาะกับธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน นั่นคือ จะต้องดำเนินการทำบัญชี จัดการงบการเงิน การเสียภาษีรูปแบบต่าง ๆ บลาๆๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีกระบวนการต่าง ๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าธุรกิจบุคคลธรรมดาค่ะ

สำหรับบทความนี้จะเน้นไปที่บริษัทแบบจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นหลัก ซึ่งใครที่มีแผนจะเปิดบริษัทใหม่ จะต้องไม่ลืมทำความเข้าใจ 7 ขั้นตอนที่ต้องทำหลังเปิดบริษัท ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

7 Step ที่ต้องทำหลังเปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง?

หลังจากที่จดทะเบียนนิติบุคคล และเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วนั้น เจ้าของบริษัทจะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดให้เรียบร้อย ดังนี้ค่ะ

1. จัดทำใบหุ้น

ตัวอย่างใบหุ้น - เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง
ตัวอย่างใบหุ้น – เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง

อันดับแรกที่ต้องทำหลังเปิดบริษัท คือการออกใบหุ้นให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1127 ค่ะ โดยจะมีเอกสารที่ต้องจัดทำทั้งหมด ได้แก่

  • ใบหุ้น เป็นเอกสารที่ระบุข้อมูลต่าง ๆ ของการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ประกอบด้วย ชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น หมายเลขหุ้น มูลค่าหุ้น จำนวนเงินค่าชำระหุ้น และต้องมีลายเซ็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย  1 คน
  • สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นสมุดแสดงรายการข้อมูลหุ้นทั้งหมดตั้งแต่จดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะมีการบันทึกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหุ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้น การโอนหุ้น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น รวมทั้งรายการเพิ่มทุน-ลดทุน ที่สำคัญ ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิ์ขอเปิดดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้

ทั้งนี้ หากเจ้าของบริษัท หรือหุ้นส่วนฝ่าฝืนที่จะไม่จัดทำใบหุ้น และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามกฎหมาย พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ มาตรา 8 ค่ะทุกคน

2. จัดประชุมผู้ถือหุ้น

จัดประชุมผู้ถือหุ้น
จัดประชุมผู้ถือหุ้น

หลังจากที่จัดทำใบหุ้นและสมุดลงทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ครั้งแรก ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัท และหลังจากนั้นจึงจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก ๆ ระยะเวลา 12 เดือน ตามที่มาตรา 1171 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ระบุไว้

ซึ่งในการประชุมทุก ๆ ระยะเวลา 12 เดือนที่เป็นเรื่องงบการเงินประจำปี เราจะเรียกว่า “การประชุมสามัญ”

ส่วนการประชุมครั้งต่อ ๆ ไปที่เป็นเรื่องจำเป็น เรื่องกรรมการเข้า-ออก การเปลี่ยนอำนาจกรรมการ และอื่น ๆ จะเรียกว่า “การประชุมวิสามัญ”

เมื่อการจัดประชุมเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทจะต้องไม่ลืมนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือใบ บอจ.5 ไปให้นายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน

ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืน ไม่ยอมเรียกประชุมผู้ถือหุ้น จะต้องระวางโทษปรับบริษัท ไม่เกิน 20,000 บาท และปรับกรรมการไม่เกิน 50,000 บาทค่ะ

3. ขึ้นทะเบียนนายจ้าง และลูกจ้าง 

ขึ้นทะเบียนประกันสังคม
ขึ้นทะเบียนประกันสังคม

อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของบริษัททุกคนละเลยไม่ได้ คือการขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง หรือพนักงานในสังกัดเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ​. 2533

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อบริษัทของคุณมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ให้ไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงานวันแรกนะคะ

ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนนายจ้าง และลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับค่ะ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องวิธีการขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ที่นี่: สอนขึ้นทะเบียนนายจ้าง ประกันสังคมครั้งแรก ง่ายนิดเดียว

4. จัดทำบัญชี

สิ่งที่เจ้าของบริษัทหรือผู้ประกอบการต้องทำในขั้นตอนนี้ คือการจัดทำบัญชีแสดงข้อมูลผลประกอบการของบริษัทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์​​ได้กำหนด

หานักบัญชี
หานักบัญชี

บริษัทต้องหานักบัญชีหรือสำนักงานบัญชีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีกับสภาวิชาชีพบัญชีอย่างน้อย 1 คนมาเป็นผู้จัดทำบัญชีได้ โดยจะต้องจัดทำบัญชีทั้งหมด ดังนี้

  • บัญชีรายวัน เช่น บัญชีเงินสด บัญชีรายวันซื้อ บัญชีรายวันขาย บัญชีรายวันทั่วไป และบัญชีธนาคาร เป็นต้น
  • บัญชีแยกประเภท เช่น สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รายได้และค่าใช้จ่าย เป็นต้น
  • บัญชีสินค้า สำหรับบริษัทที่มีการสต็อกสินค้า
  • บัญชีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ หากบริษัทไหนฝ่าฝืน ไม่จัดทำบัญชี จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะอย่าลืมหานักบัญชีเพื่อจัดทำบัญชีบริษัทกันนะคะ

5. ยื่นภาษีประจำเดือน

เมื่อได้จัดหานักบัญชี และจัดทำบัญชีของบริษัทเรียบร้อยแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่บริษัทจะต้องทำก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ภาษี” โดยภาษีรายเดือนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย

ภาษีประจำเดือน
ภาษีประจำเดือน

1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีที่บริษัทต้องหักเมื่อมีค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการ ค่าโฆษณา เป็นต้น ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ และนำจำนวนเงินที่หักนั้นส่งให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปค่ะ

เอกสารที่ต้องใช้ ประกอบด้วย

  • แบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่สามารถเลือกใช้ตามประเภทเงินได้ เช่น ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 และ
    ภ.ง.ด.53
  • หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ภาษี 7% ที่เรียกเก็บจากลูกค้าจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งก็คือ VAT 7% ที่หลายคนคุ้นเคยนั่นเองค่ะ สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำเอกสารเหล่านี้ เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไปค่ะ

  • รายงานภาษีซื้อ-ขาย
  • แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30)

หมายเหตุ: สำหรับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่ต้องนำส่งภาษีส่วนนี้ค่ะ

6. ยื่นภาษีประจำปี

นอกจากการยื่นภาษีประจำเดือนแล้ว บริษัทจะต้องยื่นภาษีประจำปีด้วยเช่นกัน โดยจะต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

นำส่งภาษีประจำปี
นำส่งภาษีประจำปี

1. ภาษีเงินได้ครึ่งปี (ภ.ง.ด.51)

ภาษีส่วนนี้เป็นการประมาณการผลประกอบการประจำปี จึงต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีในส่วนของ 6 เดือนแรกของปีให้กรมสรรพากรเสียก่อนค่ะ ภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน  โดยเจ้าของบริษัทจะต้องเตรียมเอกสารดังนี้ค่ะ

  • แบบ ภ.ง.ด. 51
  • ไฟล์ประมาณการภาษีครึ่งปี

2. ภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด.50)

ภาษีที่มาจากการคำนวณกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา และต้องยื่นภาษีให้กับกรมสรรพากรภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โดยจะต้องเตรียมเอกสารทั้งหมด 2 ชุด 

  • แบบ ภ.ง.ด.50
  • ไฟล์คำนวณภาษีประจำปี

7. ยื่นงบการเงิน

อันดับสุดท้ายที่ทุกบริษัทจะต้องทำ นั่นคือการยื่นงบการเงินค่ะ

เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง ยื่นงบการเงิน
เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง ยื่นงบการเงิน

ในทุกๆ ปีจะต้องมีการปิดบัญชี และจัดทำงบการเงิน จากนั้นผู้ตรวจสอบบัญชีดำเนินการตรวจสอบ พร้อมกับเซ็นชื่อเป็นการอนุมัติงบ

สเตปต่อมา บริษัทจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับจากวันสิ้นสุดรอบบัญชี ท้ายที่สุด บริษัทจะต้องนำส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒน์ฯ ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ประชุมนั่นเองค่ะ

สรุป

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ น่าจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “เปิดบริษัท ทำอะไรบ้าง?” แม้ว่าจะมีขั้นตอนเยอะ ซับซ้อน ยุ่งยาก ถึงจะไม่อยากทำขนาดไหน แต่ถ้าคิดจะไปต่อกับบริษัทนี้แล้ว ขอแนะนำคำเดียวว่า ผู้ประกอบการ CEO ทุกท่าน ต้องทำให้เรียบร้อย อย่างถูกต้องตามกฎหมายนะคะ จะได้ไม่มีปัญหามากวนใจ ทั้งเรื่องกฎหมาย บัญชี และภาษีในภายหลังนั่นเอง

อยากทำธุรกิจอย่างสบายใจ ไม่กังวลเรื่องบัญชี ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ