ใครที่มีแผนจะเปิดธุรกิจใหม่เป็นของตัวเอง เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจมีอิสระในการจัดการได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใครเหมือนตอนที่เป็นพนักงานบริษัท อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในกิจการก็จะเสริมให้การทำงานสนุก และท้าทายตลอดเวลา และยิ่งธุรกิจเติบโตมากขึ้น ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำเงินก้อนไปทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ
แต่ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจมักจะเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวเสียก่อน ซึ่งจะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ก่อนว่า ธุรกิจเจ้าของคนเดียว คืออะไร? และมีจุดไหนที่ต้องระวังอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบมาฝากทุกคนที่จะเป็นผู้ประกอบการในอนาคตค่ะ
ธุรกิจเจ้าของคนเดียว คืออะไร
ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ก็คือธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นโดยบุคคลธรรมดา เป็นเจ้าของเพียงคนเดียวที่มีอำนาจในการบริหาร จัดการ และตัดสินใจปัญหาด้วยตัวเองค่ะ ในบางธุรกิจอาจจะมีบุคคลใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อน ช่วยกันดูแลธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ธุรกิจลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการค้าขาย หรือกิจการให้บริการที่เห็นได้ทั่วไปนั่นเองค่ะ
แต่สิ่งที่เจ้าของคนเดียวจะต้องรับมือ คือ ความรับผิดชอบต่าง ๆ ทั้งหมดในธุรกิจที่ต้องรับมือให้ได้ ความกดดันที่เกิดขึ้นจากภาระหน้าที่ และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ จะต้องมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น พร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเป็นไปได้ด้วยดีค่ะ
เจ้าของคนเดียว จดบริษัทได้ไหม
ถ้าดู ๆ แล้วพบว่าธุรกิจยังไม่น่าเติบโตไปกว่านี้ แนะนำให้ดำเนินธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาไปก่อนจะง่ายกว่า แต่ถ้าเมื่อไหร่เห็นแววว่าจะเติบโตขึ้น มีการจ้างพนักงานเพิ่ม รวมทั้งมีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท แนะนำให้จดบริษัทดีกว่านะคะ เพราะว่าในการดำเนินงานเรื่องกฎหมาย ภาษี และเอกสารต่าง ๆ จะมีความรัดกุมมากกว่า แถมยังสะดวกกว่าอีกด้วยค่ะ ดังนั้น เจ้าของคนเดียว สามารถจดบริษัทได้นะคะ
ข้อดี-ข้อเสีย ทำธุรกิจแบบบุคคล
มาดูที่ข้อดีของการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดากันก่อนค่ะทุกคน ในแง่ของบัญชีธุรกิจ เจ้าของคนเดียวสามารถจัดทำบัญชีเองแบบง่าย ๆ ได้เลย จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการจ้างนักบัญชีมาจัดทำ และตรวจสอบบัญชีได้ และในอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่องเอกสารไม่ต้องให้ใครอนุมัติ เจ้าของธุรกิจสามารถตัดสินใจเองได้เลยค่ะ
แต่ในทางกลับกัน ก็มีข้อเสียที่ต้องรู้ไว้ ก็จะเป็นเรื่องของเงินทุนที่จำกัด เพราะว่าธุรกิจนี้คนดูแลก็เป็นเจ้าของคนเดียว แหล่งเงินทุนก็มาจากคน ๆ เดียว ซึ่งอาจจะมีเงินลงทุนที่น้อยกว่าที่ต้องใช้จ่ายจริง ๆ ได้ และด้วยความที่มีแหล่งเงินทุนน้อย เวลาไปขอทำสินเชื่อ ธนาคารจะอนุมัติให้ยาก เพราะว่าดูมีความเชื่อถือน้อยกว่าในนามของบริษัท และที่สำคัญ เมื่อกิจการมีหนี้สินมากน้อยเท่าไหร่ เจ้าของธุรกิจจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมดค่ะ ดังนั้น ใครที่กำลังจะเปิดธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา อย่าลืมพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อดี และข้อเสียกันด้วยนะคะ
ข้อดี-ข้อเสีย ทำธุรกิจแบบบริษัท
หลังจากที่ทราบข้อดี-ข้อเสียของการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดากันไปแล้ว มาดูกันที่ธุรกิจแบบบริษัทกันบ้างค่ะ หรือที่หลายคนเข้าใจว่านิติบุคคลนะคะ ข้อดีก็คือ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น และได้จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีความน่าเชื่อมากขึ้น จึงส่งผลให้ธนาคารให้อนุมัติสินเชื่อ หรือเงินกู้ง่ายขึ้น ทำให้มีแหล่งเงินทุนมากขึ้น สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจให้ปังขึ้นได้ นอกจากนี้ ความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจจะน้อยกว่าแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งจะดูแลเฉพาะจำนวนเงินที่จดทะเบียนไปนั่นเองค่ะ
ส่วนข้อเสียก็คือ ธุรกิจในรูปบริษัทจะมีโครงสร้างการบริหารงานที่ซับซ้อนขึ้น จะต้องมีกรรมการบริษัท จะต้องมีพนักงานยิบย่อยลงมา นั่นจึงส่งผลให้การตัดสินใจปัญหา หรือประเด็นต่าง ๆ ล่าช้า เพราะต้องผ่านการอนุมัติจากแต่ละฝ่ายก่อนนั่นเอง ทำให้การทำงานยืดหยุ่นน้อยกว่าค่ะ เพราะฉะนั้น ใครที่จะเปิดบริษัทใหม่ ระวังข้อนี้ไว้ดี ๆ นะคะ
ความแตกต่างเรื่องภาษี ธุรกิจแบบบุคคลและบริษัท
หากพูดถึงในแง่มุมของภาษี รูปแบบธุรกิจทั้งสองประเภทจะมีข้อได้เปรียบ – ข้อเปรียบที่แตกต่างกันค่ะโดยจะขออธิบายให้เข้าใจกันมากขึ้น ดังนี้
ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา จะมีลักษณะการเสียภาษีเงินได้ คือ ถ้าหากมีรายได้ต่อปีน้อย ก็จะมีฐานเสียภาษีต่ำ แต่ถ้ากิจการนั้นมีรายได้เยอะมาก ฐานเสียภาษีก็จะสูงขึ้น โดยมีอัตราภาษีก้าวหน้าสูงสุดอยู่ที่ 35% การคำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณภาษี สามารถใช้วิธีหักเหมาโดยไม่ต้องใช้ใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีมาประกอบเป็นหลักฐานได้ ก็จะช่วยทำให้เจ้าของธุรกิจวางแผนลดหย่อนภาษีตัวเองได้ง่ายขึ้นค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น กิจการ A จดทะเบียนธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 1 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้เลือกใช้วิธีเหมาจ่าย เมื่อถึงเวลาเสียภาษี จะต้องคำนวณภาษีโดยการเอารายได้ 1 ล้านบาท – รายจ่ายแบบเหมา – ค่าลดหย่อนที่มี ก็จะได้จำนวนเงินได้สุทธิออกมา จากนั้นให้คูณด้วย 35% ก็จะได้ภาษีที่ต้องชำระจริง ๆ นั่นเองค่ะ
ส่วนธุรกิจแบบบริษัท การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ ธุรกิจ SMEs จะมีอัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได (รายได้ยิ่งเยอะ ยิ่งเสียภาษีเยอะ) สูงสุดอยู่ที่ 20% และธุรกิจที่ไม่ใช่ SMEs (บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด) อัตราภาษีจะเป็นแบบคงที่ 20% ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ เวลาคำนวณภาษีจะต้องคูณด้วย 20% การคำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณภาษีจะใช้วิธีหักตามจริง ซึ่งจะต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินประกอบด้วย ก็จะเพิ่มขั้นตอนตรงนี้เข้ามาค่ะ เช่น ต้องมีการจ้างนักบัญชี ต้องมีการจัดหาหลักฐานให้ครบ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท B จดทะเบียนธุรกิจแบบนิติบุคคล มีรายได้ต่อปีทั้งหมด 5 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 4 ล้านบาท เมื่อถึงเวลาเสียภาษี จะต้องคำนวณภาษีโดยการเอา 5 ล้านบาท – 4 ล้านบาท ก็จะได้กำไร 1 ล้านบาท จากนั้นคูณด้วย 20% ก็จะได้ภาษีที่ต้องจ่ายจริง ๆ ออกมาค่ะ
แล้วถ้าเกิดว่าวันใดวันหนึ่งธุรกิจเกิดขาดทุนขึ้นมา ธุรกิจที่จะรับมือหนักสุด ๆ ก็จะเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาค่ะ เพราะหนึ่ง เจ้าของต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดนั้นคนเดียว และสอง การใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ทำให้ยังต้องเสียภาษีต่อไป ในขณะที่ธุรกิจแบบบริษัท จะไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำเงินที่ขาดทุนไปใช้เป็นรายจ่ายในปีถัดไปได้ค่ะ ที่สำคัญ หุ้นส่วนจะรับความเสี่ยงเฉพาะที่ลงทุนเท่านั้นค่ะ
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา หรือธุรกิจแบบบริษัทที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะมีขั้นตอนการจดทะเบียน VAT การเตรียมเอกสาร และวิธีการยื่นภาษีเหมือนกันหมดทั้งหมดเลยค่ะ
สรุป เจ้าของธุรกิจคนเดียวทำแบบบุคคลหรือบริษัทดีกว่ากัน
ธุรกิจแบบไหนจะตอบโจทย์มากกว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เจ้าของธุรกิจตั้งธงไว้เลยค่ะ ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า มือใหม่เพิ่งทำธุรกิจครั้งแรก อยากจะดูสถานการณ์ไปก่อนว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไหม หรือยังไม่อยากขยายสเกลธุรกิจตอนนี้ และต้องการความสะดวกในการเตรียมเอกสาร ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาค่อนข้างตอบโจทย์เลยทีเดียวค่ะ
และถ้าทันทีที่เจ้าของธุรกิจอยากให้กิจการเติบโตมากขึ้น ต้องการสินเชื่อเพื่อเพิ่มเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ และการมีตัวตนในแง่ของกฎหมาย แต่อาจจะแลกด้วยขั้นตอนที่แสนวุ่นวายในการทำเอกสารต่าง ๆ ธุรกิจแบบบริษัทจะเหมาะสมกับเจ้าของธุรกิจมากกว่าค่ะ
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา หรือธุรกิจแบบบริษัท ห้ามลืมทำบัญชีโดยเด็ดขาดนะคะ เพราะจะมีผลต่อการคำนวณภาษี และการเสียภาษีเงินได้นั่นเองค่ะ
สำหรับคนที่อยากฟังนุชและพี่หนอมพูดคุยกันเรื่องนี้ ไปติดตามต่อกันได้ที่นี่เลยจ้า
เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit