ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ประกอบกับที่ตั้งของประเทศไทยเรานั้น เหมาะกับการทำมาค้าขายอย่างมาก เลยไม่น่าแปลกใจค่ะว่าเมืองไทยนอกจากจะน่าท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นประเทศที่เนื้อหอม น่าลงทุนทำธุรกิจอีกด้วย
แต่การที่ต่างชาติเปิดบริษัทในไทย รวมทั้งชาวต่างชาติที่เป็นหุ้นส่วนบริษัทกับคนไทย ขั้นตอนที่แตกต่างจากการเปิดบริษัทคนไทย 100% และจะต้องทำตามกระบวนการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทำให้หลายคนสงสัยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร บทความนี้มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ “ต่างชาติเปิดบริษัทในไทย ต้องทำยังไงบ้าง” มาฝากทุกคนกันค่ะ
ต่างชาติเปิดบริษัทในไทย คืออะไร ?
คนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย ประสงค์ที่จะเปิดบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในประเทศไทยเพื่อทำการค้า โดยจะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลก่อน จัดการแบ่งการถือหุ้นให้เหมาะสม พร้อมกับปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายไทยกำหนดค่ะ
ในการจดทะเบียนบริษัทต่างชาติในประเทศไทยนั้น จะต้องมีการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทย และชาวต่างชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในหัวข้อถัดไปจะพาไปดูลักษณะการถือหุ้นของชาวต่างชาติในกรณีต่าง ๆ ว่าควรจะถือหุ้นอยู่ที่จำนวนเท่าใด ถึงจะเปิดบริษัทในไทยได้อย่างราบรื่นกันค่ะ
สัดส่วนการถือหุ้นมีแบบไหนบ้าง ?
เมื่อบริษัทของคุณมีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย เราสามารถแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นตามกฎหมายได้ 2 กรณี โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
1. คนไทยเปิดบริษัท ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49%
กรณีที่บริษัทนั้นคนไทยถือหุ้นด้วยสัดส่วนที่มากกว่า และมีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนที่ไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะถือว่าเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย
2. ต่างชาติเปิดบริษัท ถือหุ้นตั้งแต่ 50%
ในขณะเดียวกัน หากบริษัทนั้นมีต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีคนไทยถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า จะถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าวตามกฎหมาย
สำหรับบริษัทที่เข้าข่ายเป็นนิติบุคคลต่างด้าว จะต้องทำเรื่องขออนุญาตกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และดำเนินการตามเงื่อนไขที่กฎหมายไทยกำหนด โดยต้องขอใบประกอบธุรกิจต่างด้าว ห้ามถือครองที่ดินในประเทศไทย และมีข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจบางประการค่ะ
ต่างชาติจดบริษัทในไทย ต้องทำอย่างไร ?
ก่อนจะเริ่มต้นเปิดบริษัทจะต้องทำความเข้าใจกับพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เสียก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมการดำเนินธุรกิจโดยชาวต่างชาติในประเทศไทย
ต่อมา ชาวต่างชาติจะต้องรู้ก่อนว่า อยากเปิดบริษัทในรูปแบบไหน ซึ่งประกอบด้วย บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อเลือกรูปแบบได้แล้ว ก็จะเข้าสู่การจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลโดยต่างชาติ โดยมีขั้นตอนการจดทะเบียนสำหรับต่างชาติเปิดบริษัทในไทย ดังนี้ค่ะ
1. การจองชื่อนิติบุคคล
ขั้นตอนนี้ ชาวต่างชาติต้องจองชื่อนิติบุคคลกับกรมพัฒน์ฯ มากที่สุด 3 ชื่อ โดยจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อบริษัทอื่น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเลือกชื่อที่เหมาะสมที่สุดกลับมาภายใน 1-3 วันทำการ และให้นำชื่อที่ได้รับอนุมัติไปยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติค่ะ
2. การเตรียมเอกสาร และการชำระค่าหุ้น
หลังจากที่ได้จองชื่อนิติบุคคลสำหรับการตั้งชื่อบริษัทกันแล้ว ขั้นตอนต่อมา ชาวต่างชาติจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อจดทะเบียนเปิดบริษัทให้ครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วยเอกสารต่าง ๆ ได้แก่
- หนังสือบริคณห์สนธิ ที่มีข้อมูลของชื่อบริษัทที่ได้รับอนุมัติ สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ วัตถุประสงค์ของการเปิดบริษัท ทุนจดทะเบียน มูลค่าหุ้น จำนวนหุ้น ข้อมูลของผู้ถือหุ้น และข้อมูลของพยาน 2 คน
- แบบคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต.2
- แบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนบริษัทที่เซ็นโดยกรรมการผู้มีอำนาจ
- ข้อบังคับของบริษัท
- รายชื่อผู้ถือหุ้น และใบหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด
- สำเนารายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท
- สำเนาหนังสือเดินทางต่างด้าว หรือสำเนาบัตรประชาชนคนไทยของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
นอกจากนี้จะต้องมีการชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนจะมีการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท (ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องแสดงหลักฐานว่ามีเงินจริง ไม่ใช่นอมินีต่างชาติ)
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BBD มีทุนจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท
- ชาวต่างชาติที่ถือหุ้น 60% = เงินลงทุน 600,000 บาท
- คนไทยคนที่ 1 ถือหุ้น 20% = 200,000 บาท
- คนไทยคนที่ 2 ถือหุ้น 20% = 200,000 บาท
ผู้ถือหุ้นคนไทยทั้งสองคนจะต้องแสดงยอดเงินในบัญชีกับกรมพัฒน์ฯ ว่ามีเงินจริงๆ จะใช้เทคนิคเหมือนบริษัทคนไทย จดบริษัท ไม่ลงเงินจริงแบบนี้ทำไม่ได้นะ
แต่จะมีบางกรณีที่บริษัทต้องการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้กับพนักงานต่างชาติในอนาคต จะต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาท / ต่างชาติ 1 คน ค่ะ
และสำหรับต่างชาติที่อยากจดบริษัทแบบออนไลน์ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ขั้นตอนยืนยันตัวตนจะต้องไปยืนยันตัวตนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง กรณีเป็นชาวต่างชาติให้แสดงหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวที่ออกโดยส่วนราชการไทยที่ยังไม่หมดอายุ
3. การยื่นภาษี และใบอนุญาตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
บริษัทที่ดำเนินการโดยต่างชาติก็ถือเป็นหนึ่งในนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร เมื่อบริษัทจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว จะได้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒน์ฯ เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทนั่นเองค่ะ ซึ่งบริษัทก็ต้องนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรตามกฎหมายนะ
อ่านเพิ่มเติม: จดบริษัท เสียภาษีอะไรบ้าง
รวมทั้งใบอนุญาตอื่น ๆ ที่ต้องใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจว่าเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ อะไรบ้างค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BBD เป็นบริษัทส่งออกคอมพิวเตอร์ระหว่างประเทศ จะต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตนำเข้า และส่งออกสินค้าจากกรมศุลกากร เป็นต้น
ต่างชาติเป็นกรรมการของบริษัทในไทย ต้องทำอย่างไร ?
- กรรมการต่างชาติที่มีอำนาจลงนาม หมายถึง ชาวต่างชาติที่มีสิทธิ์ลงนามเอกสารต่าง ๆ แทนบริษัทได้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น หรือไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเลยก็ได้
- กรรมการต่างชาติที่ไม่มีอำนาจลงนาม หมายถึง ชาวต่างชาติที่ไม่มีสิทธิ์ลงนามแทนบริษัท แต่จะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทควบคู่ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ๆ ตามกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หากมีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 1 หุ้นขึ้นไป คนไทยที่ถือหุ้นทุกคนจะต้องแสดงบัญชีเงินฝาก เพื่อเป็นการยืนยันกับทางกรมพัฒน์ฯ เมื่อไปจดทะเบียนบริษัทว่ามีเงินจริง ๆ ไม่ใช่นอมินีของชาวต่างชาติ โดยให้ธนาคารทำหนังสือรับรองเงินฝากสำหรับผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน และยอดเงินจะต้องมากกว่าหรือเท่ากับเงินลงทุนในบริษัทตามสัดส่วนที่ถือหุ้นไว้ค่ะ
เรื่องต้องรู้ก่อนเตรียมเอกสารจดบริษัท และมีต่างชาติถือหุ้นต้องมีอะไรบ้าง
ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องข้อจำกัดการจดบริษัทโดยมีต่างชาติเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป) เรามาดูในรายละเอียดกันต่อนะคะ
ธุรกิจบางประเภทที่ต้องสงวนไว้ให้แก่คนไทย (ห้ามต่างชาติทำ) ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีธุรกิจแบบไหนกันบ้าง
- ธุรกิจที่ห้ามต่างชาติทำ เช่น กิจการหนังสือพิมพ์ กิจการวิทยุกระจายเสียง การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การทำป่าไม้ การทำประมง และอื่น ๆ
2. ธุรกิจต้องห้าม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
- ธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ เช่น อาวุธ ยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สงคราม
- ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การค้าของเก่า การผลิตเครื่องแกะสลักไม้ การเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม การผลิตเครื่องดนตรีไทย เป็นต้น
- ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตน้ำตาลจากอ้อย การทำนาเกลือ การทำเหมือง การแปรรูปไม้เพื่อทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้สอย
3. ธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับกิจการของคนต่างด้าว หากจะประกอบธุรกิจ จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น
- การสีข้าว และการผลิตแป้งจากข้าวและพืชไร่
- การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- การทำป่าไม้จากป่าปลูก
- การผลิตไม้อัด แผ่นไม้วีเนียร์ ชิปบอร์ด ฮาร์ดบอร์ด
- การผลิตปูนขาว
- การทำกิจการบริการทางบัญชี
- การทำกิจการบริการทางกฎหมาย
- การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม
- การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม
- การก่อสร้าง
- การทํากิจการนายหน้าหรือตัวแทน
- การขายทอดตลาด
- การทํากิจการโฆษณา
- การทํากิจการโรงแรม
- การนําเที่ยว
- การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม
- การทํากิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพนธั ์ุพืช
- การทําธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กําหนดในกฎกระทรวง
หากชาวต่างชาติคนใดประสงค์จะประกอบธุรกิจตามข้อ 2 และ 3 ให้ทำการยื่นเรื่องขออนุญาตกับกรมพัฒน์ฯ โดยใช้แบบ ต.2 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ ยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ด้วยตัวเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมคำขอ 2,000 บาทค่ะ
สรุป
เป็นอย่างไรกันคะ สำหรับบทความนี้ จะเห็นได้ว่า การที่ต่างชาติเปิดบริษัทในไทยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เราต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง และดำเนินตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้ทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีปัญหามากวนใจในภายหลังค่ะ