มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าเราจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนเยอะๆ แล้วไม่ลงเงินกันจริงๆ จะทำได้มั้ย และจะมีปัญหาตามมาหรือไม่
ก่อนอื่นเลย ต้องบอกไว้ก่อนว่าสำหรับการจดทะเบียนบริษัทนั้น เราจำเป็นต้องระบุจำนวนทุนจดทะเบียนและทุนที่ชำระแล้ว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ แตกต่างกัน
ทุนจดทะเบียน = ทุนที่คาดว่าจะใช้ในกิจการทั้งหมด
ทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว = เงินจริงๆ ที่ลงไปในกิจการ ขั้นต่ำกฎหมายกำหนดว่าต้องชำระเริ่มแรกไม่ต่ำกว่า 25%
นั่นแปลว่า ตอนที่เราจดทะเบียนบริษัท เราสามารถแจ้งได้ว่าเราชำระค่าหุ้นกันจริงๆ เท่าไร ถ้ายังชำระไม่ครบ ก็ควรแจ้งไปตามจริง
แต่ประเด็นคือ มีหลายๆ บริษัทไม่ได้ทำอย่างนั้นน่ะสิ ยกตัวอย่างเช่น ตอนจดทะเบียนกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ 10 ล้านบาท ไม่ได้ลงเงินกันจริง แต่แจ้งในเอกสารจดทะเบียนว่าชำระทุนแล้ว 3 ล้านบาท สาเหตุเพราะคิดว่าดูน่าเชื่อถือ หรืออีกนัยหนึ่งอาจไม่เข้าใจว่าทุนจดทะเบียนและชำระแล้วคืออะไร
และโดยปกติแล้วเรื่องการรวบรวมเงินลงทุนเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัท ถ้าทุนจดทะเบียนไม่ถึง 5 ล้านบาทไม่จำเป็นต้องแจ้งหลักฐานการชำระเงินต่อเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอาจไม่รู้ว่าบริษัทที่จดทะเบียนแต่ละครั้งมีการลงเงินกันจริงหรือไม่อย่างไร
แล้วถามว่าถ้าจดบริษัทแล้วไม่ลงเงินจริงๆ กันแบบนี้จะมีปัญหาตามมามั้ย เราจะขอแบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1.ประเด็นแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน
การที่บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งแต่ไม่ได้มีการเรียกชำระเงินค่าหุ้นตรงตามที่ระบุในรายการทางทะเบียน อาจถือว่าเป็นการแสดงรายการจดทะเบียนอันเป็นเท็จ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งคนที่รับผิดชอบไปเต็มๆ คงเป็นผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการบริษัทที่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งแต่เริ่ม
2.ประเด็นบัญชี
การจดทะเบียนแล้วระบุว่ามีการชำระเงินเข้ามาเต็มจำนวนแต่จริงๆ แล้วไม่มีเงินเข้ามาในสมุดบัญชีธนาคารของกิจการ ในทางบัญชีจึงไม่สามารถบันทึกรับรู้เงินสดเข้าไปได้ ดังนั้น นักบัญชีจึงจำใจต้องบันทึกรายการนี้ไว้เป็น “เงินให้กู้ยืมกรรมการ” เป็นรายการค้างรับชำระก้อนโตแทนจากกรรมการ และ “ทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว” เกินกว่าความเป็นจริง
3.ประเด็นภาษี
เป็นปัญหาที่ตามมาจากการบันทึกบัญชี “เงินให้กู้ยืมกรรมการ” ก้อนโต ซึ่งการที่บริษัทให้เงินกู้ยืมแก่กิจการดังกล่าว ตามกฎหมายภาษี กิจการจะให้กู้แบบฟรีๆ ไม่ได้ต้องมีดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าราคาตลาด คิดคำนวณเป็นรายได้ของกิจการ ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม และมิหนำซ้ำดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ทางบัญชีบันทึกเงินให้กู้ยืมกรรมการไว้ 3 ล้านบาท สมมติอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี (อ้างอิงเงินฝากประจำ) และอัตราภาษี 20% ทำให้กิจการจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล = เงินต้น * อัตราดอกเบี้ย * อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
= 3 ล้าน * 1% * 20%
= 6,000 บาท
ภาษีธุรกิจเฉพาะ = ดอกเบี้ย * อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
= 30,000 * 3.3% = 990 บาท
พอจะทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่ตามมาสำหรับการจดทะเบียนบริษัทแต่ไม่ลงเงินจริงๆ กันไปแล้ว
ถ้าใครคิดจะจดทะเบียนบริษัทตอนนี้ ทำความเข้าใจเรื่องทุนจดทะเบียนกันดีๆ และเลือกจดแจ้งตามวิธีที่ถูกต้องกันดีกว่า เพราะนอกจากจะไม่เจอปัญหาที่ตามมาอีก 3 ข้อ ตัวเลขในบัญชียังแสดงข้อมูลตามจริง หยิบไปใช้ง่าย บริหารงานได้สะดวกขึ้นเยอะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit