บัญชีแยกประเภทคืออะไร ทำไมต้องมีเวลาตรวจสอบงบการเงิน

บัญชีแยกประเภทคืออะไร ทำไมต้องมีเวลาตรวจสอบงบการเงิน

ในการทำธุรกิจให้ราบรื่นนั้น จะต้องตรวจสอบบัญชีอยู่เสมอว่าผิดพลาดตรงไหน แต่ถ้าจะเช็กแค่เงินเข้าออกเพียงเท่านั้น ก็น่าจะปวดหัวเพราะว่าใน Bank Statement ไม่ได้จัดหมวดหมู่รายได้ค่าใช้จ่ายไว้ ยากต่อการวิเคราะห์แน่นอนค่ะ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ถ้าอยากตรวจสอบบัญชีว่าทำได้ดี มีข้อผิดพลาดหรือไม่ เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจ “บัญชีแยกประเภท” นั่นเอง

บัญชี แยกประเภท หรือ General Ledger หรือคำที่เรียกสั้น คือ GL เป็นพื้นฐานของระบบบัญชีที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่คนไหน ที่ยังไม่ได้เคยรู้จักเรื่องนี้ เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับบัญชี แยกประเภท (GL) คืออะไร ทำไมต้องมีเวลาตรวจสอบงบการเงินมาฝากกันค่ะ

บัญชีแยกประเภท (General ledger) คืออะไร?

บัญชีแยกประเภทคืออะไร
บัญชีแยกประเภทคืออะไร

บัญชี แยกประเภท (General Ledger) คือ สมุดที่ใช้รวบรวมรายการค้าทั้งหมด ทุกๆ รายการที่เกิดขึ้นในบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง และมูลค่าคงเหลือเป็นเท่าไร ในแต่ละบัญชี

หมวดหมู่ที่จะจัดกลุ่มในบัญชี แยกประเภทจะมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. บัญชีหมวดสินทรัพย์ เช่น บัญชีเงินสด บัญชีเงินฝากธนาคาร 
  2. บัญชีหมวดหนี้สิน เช่น บัญชีเจ้าหนี้การค้า บัญชีเงินกู้ บัญชีเจ้าหนี้อื่นๆ
  3. บัญชีหมวดส่วนของเจ้าของ (ทุน) เช่น บัญชีทุนที่ชำระแล้ว หรือ กำไร(ขาดทุน) สะสมเป็นบัญชีแสดงส่วนของเจ้าของที่เพิ่มหรือลดลง
  4. บัญชีหมวดรายได้ โดยปกติบัญชีรายได้ รับรู้เพิ่มขึ้นฝั่งเครดิต เมื่อทำการปิดบัญชีแล้วจะทำให้บัญชีทุนเพิ่มขึ้น
  5. บัญชีหมวดค่าใช้จ่าย โดยปกติบัญชีค่าใช้จ่าย รับรู้เพิ่มขึ้นฝั่งเดบิต เมื่อทำการปิดบัญชีแล้วจะทำให้บัญชีทุนลดลง

พอมาถึงจุดนี้ หากใครที่กำลัง งงๆ ว่า เดบิต เครดิต คืออะไร มาทำความเข้าใจศัพท์บัญชีกัน

ตัวอย่างสิ่งต้องมีในบัญชี แยกประเภท General Ledger

ตัวอย่าง General Ledger
ตัวอย่าง General Ledger

ตรงนี้เป็นตัวอย่างหน้าตาของบัญชีที่แสดงการแยกประเภทของแต่ละบัญชีค่ะ รายละเอียดในแบบฟอร์มอาจจะเยอะหน่อยนะคะ แต่ถ้าตั้งสติ ทำความเข้าใจดีๆ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้แน่นอนจ้า

ลองมาดูกันว่าในบัญชี แยกประเภทมีข้อมูลอะไรบ้าง?

  1. รหัสบัญชี – แสดงลำดับรายการบัญชี
  2. วันที่ – วันที่บันทึกรายการ 
  3. เลขที่เอกสาร 
  4. ชื่อบัญชี
  5. รายละเอียด หรือคำอธิบายรายการ
  6. เดบิต – แสดงรายการที่เพิ่มยอดในบัญชีสินทรัพย์และค่าใช้จ่าย และลดยอดในบัญชี หนี้สิน ทุน และรายได้ ในทางกลับกัน
    เครดิต – แสดงรายการที่เพิ่มยอดในบัญชี หนี้สิน ทุน และรายได้ และลดยอดในบัญชี สินทรัพย์และค่าใช้จ่าย
  7. ยอดคงเหลือ – หลังจากบันทึกแต่ละรายการ บัญชีนั้นจะมียอดคงเหลือเท่าไหร่

การอ่านและวิเคราะห์บัญชีแยกประเภทนั้นทำอย่างไร?

สำหรับวิธีอ่าน General Ledger หรือ GL นั้น จะแยกออกเป็นสองฝั่ง โดยฝั่งซ้ายจะเป็นเดบิต (Debit) ซึ่งหมายถึงแสดงรายการที่เพิ่มยอดในบัญชีสินทรัพย์และค่าใช้จ่าย โดยฝั่งซ้ายจะเป็นเครดิต (Credit) แสดงรายการที่เพิ่มยอดในบัญชี หนี้สิน ทุน และรายได้

ต่อไปเรามาดูตัวอย่างการวิเคราะห์ General Ledger ตามภาพตัวอย่างกันค่ะ

การอ่านและวิเคราะห์ GL
การอ่านและวิเคราะห์ GL

จากตัวอย่างนี้เป็นบัญชี แยกประเภท “รายได้จากการให้บริการ” ช่วงเวลา 1/1/2023 – 31/12/2023 ซึ่งยอดรวมทั้งสิ้น 1,028,193.97 บาท

1. ไม่มีรายการบันทึกผิดคู่บัญชีใช่หรือไม่

ในบัญชีรายได้จากการให้บริการ การบันทึกบัญชีจะต้องทำตามนี้
ฝั่งเครดิต (Credit) แสดงรายการที่เพิ่มยอดในบัญชีรายได้
ฝั่งเดบิต (Debit) แสดงรายการที่ลดยอดในบัญชีรายได้
ดังนั้น ตามปกติ รายได้ที่เกิดขึ้น จะต้องแสดงอยู่ฝั่งเครดิตนั้นเอง

ซึ่งจากภาพยอดรายได้จากการให้บริการอยู่ฝั่งเครดิต คือ ถูกต้องแล้วนั่นเอง

2. รายการที่จำนวนเงินสูงหรือที่สงสัย ต้องมีที่มาที่ไปด้วย

หากเจอรายการที่ผิดปกติ เช่น เดือนก่อนที่ผ่านมา รายได้หลักหมื่นต่อ 1 รายการ แต่จู่ๆ วันที่ 1/6/2024 ก็มีรายการหลักแสนมาซะงั้น แบบนี้เราต้องไปดูรายละเอียดกันซักหน่อยแล้ว

3. ยอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภท ต้องเท่ากับงบทดลอง

โดยรายละเอียดที่แสดงจะรวบรวมทุกรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเรียงตามให้แต่ละวัน โดยบรรทัดสุดท้ายจะบวกรวมทุกรายการที่เกิดขึ้นเป็นบรรทัดยอดคงเหลือค่ะ

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าบัญชี แยกประเภท แจกแจงทุกรายการที่เกิดขึ้นไว้ แล้วรวมรวมเป็นยอดคงเหลือทั้งหมด ยอดคงเหลือนี้จะนำไปแสดงยอดสรุปในงบทดลองนั่นเองค่ะ

หากใครอยากไปดูรายงานทางบัญชีต่อให้สุดทาง งบทดลองคืออะไร อ่านงบทดลองต้องโฟกัสตรงไหนบ้าง ตามลิงค์นี้เลย

ทำไมต้องมีบัญชีแยกประเภท ตอนให้ออดิทตรวจสอบงบการเงิน

กระบวนการตรวจสอบการเงินมีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมากเลยค่ะ เพราะจะเป็นเครื่องมือแสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของธุรกิจว่ากำลังไปในทิศทางไหน โดยออดิทจะต้องตรวจสอบงบการเงินที่จัดทำขึ้นมาจากงบทดลองประจำปี

และถ้าเราอยากเห็นข้อมูล หรือที่มาที่ไปว่าในยอดรวมของงบทดลองนั้นมีอะไรบ้าง ก็ต้องดึงข้อมูลมาจากบัญชี แยกประเภท General Ledger

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ออดิทจึงต้องเรียกตรวจสอบบัญชี แยกประเภท (General Ledger)

ถ้าหากรายละเอียดการบันทึกบัญชีในแต่ละบรรทัดไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้งบทดลองสรุปเลขออกมาผิด และสุดท้าย งบการเงินก็ผิดพลาดได้เช่นเดียวกันค่ะ

ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตั้งแต่กระบวนต้นน้ำ บัญชี แยกประเภทจึงจำเป็นต้องมีนั่นเองค่ะ เพราะเป็นแบบฟอร์มที่จัดหมวดหมู่แล้ว และผ่านการวิเคราะห์ตัวเลขแล้ว จนอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง ไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ดึงข้อมูลไปทำงบการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้ออดิตตรวจสอบงบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

และในอนาคตบัญชี แยกประเภท (General Ledger) ยังถือเป็น Big Data ที่สำคัญของวงการตรวจสอบบัญชี ในอนาคตนอกจากจะใช้ในการตรวจสอบแล้ว ยังใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ด้านอื่นๆในการประกอบธุรกิจอีกด้วย
ถ้าเพื่อนๆ อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้ที่นี่เลย News Letter FAP หัวข้อ กระแสแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยี กับวิชาชีพสอบบัญชี หน้าที่ 12

สรุป

บัญชีแยกประเภท (General Ledger) หรือ GL เป็นแบบฟอร์มหนึ่งในระบบบันทึกบัญชีที่เอาข้อมูลจากสมุดบัญชีประจำวันมารวบรวม และจัดหมวดหมู่บัญชีให้ได้ 5 หมวด ได้แก่ หมวดสินทรัพย์ หมวดหนี้สิน หมวดทุน หมวดรายได้ และหมวดค่าใช้จ่าย เพื่อสรุปที่มาที่ไปว่า ในยอดรวมของงบทดลอง ประกอบด้วยตัวเลขอะไรบ้าง เกิดเหตุการณ์ทางบัญชีอะไรขึ้นบ้างนั่นเองค่ะ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากๆ ในการบันทึกความเป็นมาเป็นไปของกิจการ รวมไปถึงถ้าบันทึกผิดขึ้นมา ออดิตตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง ก็อาจจะส่งผลให้งบการเงินไม่ถูกต้องเอาเสียด้วย

ดังนั้น ถ้าอยากเป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจบัญชี อย่าลืมหันมาใส่ใจในรายละเอียดว่ามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในบัญชี แยกประเภทบ้างไหมด้วยนะคะ

ใครอ่านแล้วอยากเริ่มทำบัญชีง่ายๆด้วยตัวเอง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย
สอนทำบัญชีบริษัทแบบง่าย เริ่มต้นได้ทันที

อยากมีบัญชี และเข้าใจผลประกอบการธุรกิจตัวเองจริงๆ ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง