จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำยังไง? ขายของออนไลน์แบบไหนต้องจดบ้าง?

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำยังไง? ขายของออนไลน์แบบไหนต้องจดบ้าง?

อยากขายของออนไลน์ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นไหมสำหรับแม่ค้าออนไลน์ ขายของผ่านหน้าเพจ Facebook เฉยๆ ต้องจดทะเบียนอะไรไหม ร้อยพันคำถามเกี่ยวกับการจดทะเบียนการค้าที่มีเพื่อนๆ ถามเข้ามาผ่านเพจ Zero to Profit หลังจากที่เราเคยเล่าไปก่อนหน้านี้ในบทความ ขายของออนไลน์เริ่มยังไง ว่าการจดทะเบียนตามกฎหมายให้เรียบร้อยเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นลำดับแรกๆ เลย

วันนี้เป็นฤกษ์งามยามดี แอดมิน Zero to Profit เพิ่งไปจดทะเบียนมาหมาดๆ เลยอยากจะเอามาแชร์ให้ทุกคนดูกันค่ะว่ามันคืออะไร และมีขั้นตอนเป็นยังไงบ้างแบบละเอียดยิบเลย ถ้าพร้อมแล้วลองไปอ่านกันเลยค่ะ

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?

ก่อนอื่นจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องทะเบียนพาณิชย์แบบสั้นๆ สักนิดนึงก่อน

การจดทะเบียนพาณิชย์ หรือที่หลายคนพูดติดปากว่า จดทะเบียนการค้านั้น เป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายเพื่อยืนยันว่าเรากำลังดำเนินธุรกิจค้าขายหรือให้บริการอยู่

ซึ่งทะเบียนพาณิชย์เอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ทะเบียนพาณิชย์ทั่วไป

2. ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เนี่ย จะเป็นทะเบียนพาณิชย์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เข้าเงื่อนไข 1 ใน 4 ข้อนี้

  1. ร้านขายของออนไลน์/ผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
  2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)
  3. ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Webhosting)
  4. ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Kaidee, Shopee, Lazada 

ถ้าทำธุรกิจอยู่ในจำพวกนี้เวลาไปจดทะเบียนพาณิชย์จะต้องกรอกข้อมูลและยื่นเอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากร้านค้าออฟไลน์ทั่วไปค่ะ

ตัวอย่างร้านค้าที่ต้องมีทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทีนี้ยังมีหลายคนสงสัยติดใจว่า ร้านค้าของเราเข้าข่ายต้องจดทะเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ และจดแล้วจบไหมต้องไปทำอะไรต่อบ้าง ลองมาดูตัวอย่างในตารางนี้กันค่ะ

ไม่จดทะเบียนพาณิชย์จดทะเบียนพาณิชย์ทั่วไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขอเครื่องหมาย DBD Registered
Blogger มีเว็บไซด์และเพจ เพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าว โฆษณา/
ขายเสื้อผ้าหน้าร้านที่ประตูน้ำ/
ขายเสื้อผ้าบน Instagram, Facebook/
ขายเสื้อผ้าบนเว็บไซด์ตนเองชื่อ www.ขายเสื้อ.com// (มีสิทธิ์เลือกขอ)

ลำดับขั้นการจดทะเบียนแบ่งเป็น 4 ขั้น ตามนี้

1. ไม่ต้องจดทะเบียน – ถ้าเป็นแค่สื่อ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ทั่วไป ไม่ได้มีการซื้อขาย

2. จดทะเบียนพาณิชย์ทั่วไป – ถ้าขายของหน้าร้านออฟไลน์ ไม่ได้มีหน้าเพจ หรือเว็บไซด์แบบออนไลน์

3. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ – ถ้าขายของมีหน้าร้านออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่าน Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ หรือว่ามีหน้าเว็บเป็นของตัวเอง

4. ขอเครื่องหมาย DBD Registered – อันนี้จะเป็น Add-on ของร้านค้าที่มี domain name ของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่ามีเว็บไซด์เป็นของตัวเองค่ะ จะสามารถไปขอเครื่องหมาย DBD registered ได้เมื่อจดทะเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าของเรา ใครสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.trustmarkthai.com/th ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกนะว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้

ขายของแบบบุคคลธรรมดา ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ไหม?

จริงๆ แล้วบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เป็นรูปแบบห้างหุ้นส่วนหรือว่าบริษัทจำกัด ก็มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ค่ะ (เสียใจด้วย ไม่ได้รับการยกเว้นนะ ฮือ T T) เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนแบบนี้เลยว่า

“ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต้องจดทะเบียนพาณิชย์….
(๓) การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต”

อ้างอิงจาก ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์(ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๓

ฉะนั้น ถ้าเปิดร้านขายของออนไลน์เล็กๆ แบบบุคคลธรรมดาก็ต้องจดทะเบียนอยู่ดี

จดทะเบียนพาณิชย์ต้องทำเมื่อไร ไม่จดแล้วมีค่าปรับไหม?

การจดทะเบียนพาณิชย์ต้องทำภายใน 30 นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ ถ้าประกอบธุรกิจโดยไม่จดทะเบียน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง คำนวณไปคำนวณมา ก็เยอะเหมือนกันแฮะ..ถ้ารู้ตัวแล้วรีบไปจดน่าจะประหยัดค่าปรับไปได้เยอะเลย

ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเป็นเท่าไร?

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์ทุกแบบ ถูกแสนถูกที่ 50 บาท เท่านั้นเอง

จดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ไปจดที่ไหน?

สถานที่ไปจดทะเบียนแตกต่างกันตามที่ตั้งสถานประกอบการดังต่อไปนี้

ที่ตั้งอยู่กรุงเทพฯที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด
– สำนักงานเขตที่สำนักงานตั้งอยู่ หรือ
– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กทม.
– เทศบาลหรือองค์การบริการส่วนตำบล ที่สำนักงานตั้งอยู่

หมายเหตุ: ในปัจจุบันที่เราเขียนบล๊อกนี้ยังไม่มีการเปิดให้จดทะเบียนแบบออนไลน์อย่างเป็นทางการนะคะ

ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

เอกสารที่ใช้ขอจดทะเบียนต้องเตรียมอะไรบ้าง ให้ดูว่าตัวเองเป็นร้านค้าประเภทไหน ระหว่างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลแล้วเตรียมเอกสารตามนี้เลย

บุคคลธรรมดานิติบุคคล
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
แบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ. กรอกเฉพาะข้อ 1-8)
เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
– Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบการ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า 
– วาดแผนที่ตั้งสถานประกอบการ
– กรณีไม่ได้ไปด้วยตัวเอง ให้แนบ หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
– แบบฟอร์มขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ. กรอกเฉพาะข้อ 1-8 และ 12) 
– เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
– Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบการ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า 
– วาดแผนที่ตั้งสถานประกอบการ
– หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
– กรณีไม่ได้ไปด้วยตัวเอง ให้แนบ หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานประกอบการ ให้เตรียมเอกสารเหล่านี้ไปด้วย

  • หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่หรือสัญญาเช่า และ 
  • สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

บางครั้งเจ้าหน้าที่อาจขอดูเอกสารด้านล่างนี้เพิ่มเติม ส่วนตัวแนะนำว่าควรพกไปด้วยจะได้ไม่เสียเวลากลับไปกลับมาค่ะ

  • เอกสารยืนยันการเป็นเจ้าของ Domain เช่น ใบเสร็จรับเงินการซื้อโดเมน
  • ภาพถ่ายสถานประกอบการ
  • สัญญาเช่าฉบับภาษาไทย (ถ้าสมมติมีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ)

ตัวอย่างการกรอกเอกสารแบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์

แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่ Download เอกสารมาแล้วแต่ข้องใจว่าควรจะกรอกเอกสารยังไง เรามีตัวอย่างวิธีการกรอกแบบคำขอจดทะเบียน (แบบ ทพ.) และเอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (แบบแนบ ทพ.) สำหรับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาให้ดูด้วย

ใบทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับถ้าจดสำเร็จ

ถ้าไปจดทะเบียนเรียบร้อย เราจะได้รับ 2 สิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าจดสำเร็จแล้วนะ

  1. ใบทะเบียนพาณิชย์ (แบบ พค. 0403)
  2. ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม

ดูตัวอย่างใบทะเบียนพาณิชย์ได้ที่นี่ สังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเรามีเว็บไซด์เป็นของตัวเอง นายทะเบียนจะระบุว่าร้านเราชื่ออะไร และชื่อเว็บไซด์ (โดเมน) ชื่ออะไรค่ะ

ความเข้าใจผิดของทะเบียนพาณิชย์คืออะไร?

ท้ายที่สุด แม้ว่าจดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์กันเป็นแล้ว แต่ก็ยังมีเจ้าของธุรกิจที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทะเบียนพาณิชย์อยู่มากว่าจดทะเบียนพาณิชย์ต้องเสียภาษีมั้ย หรือจดบริษัทแล้วต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือเปล่า Zero to Profit ได้ไขข้อข้องใจไว้ในบทความนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะ ลองไปฟังนุชกับพี่หนอมคุยกันเพลินๆ ได้ที่นี่เลย

Q&A จดบริษัทแล้ว ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ไหม?

สรุปสั้นๆ

อ่านกันมาจนถึงตรงนี้อยากสรุปสั้นๆ กันนิดนึง ถ้าใครที่เริ่มต้นขายของออนไลน์ หรือเริ่มมานานแล้ว (ก็อย่าเอ็ดไป 55) อย่าลืมไปจดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์กันให้เรียบร้อย ทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำ แล้วถ้าใครจดสำเร็จแล้วอย่าลืมมาบอกกันบ้างนะว่าเปิดร้านขายอะไร เผื่อ Zero to Profit จะได้ไปอุดหนุนจ้า

ถ้าวันนี้ใครทำธุรกิจแล้วยังไม่จดทะเบียนพาณิชย์ อ่านโพสนี้ของเราน่าจะเข้าใจมากขึ้น ถ้าไม่อยากกังวล รีบ Download เอกสารและไปจดทะเบียนให้เรียบร้อยซะ พอได้ทะเบียนมาแปะหน้าร้านแล้วจะได้สบายใจ แล้วแยกย้ายไปขายของกัน

ขอบคุณที่มา:

พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๓

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://www.facebook.com/zerotoprofitTH

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ