เงินสดคืออะไร 3 เทคนิค ทำยังไงถึงมีเงินเข้ามาเร็ว

เงินสดคืออะไร 3 เทคนิค ทำยังไงถึงมีเงินเข้ามาเร็ว

ว่ากันว่า ทำธุรกิจเก่งต้องบริหารเงินสดให้ดี แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า เงินสดคืออะไร มันประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วทำอย่างไรเราจึงจะมีเงินเข้ามาไม่ขาดมือ วันนี้ Zero to Profit จะชวนเจ้าของธุรกิจมือใหม่ มาทำความเข้าใจเรื่องเงินสดกันค่ะ

เงินสดคืออะไรในทางบัญชี

คำว่า “เงินสด” เป็นคำที่เหมือนจะเข้าใจง่าย แต่ในความหมายจริงๆ แล้วอาจจะมีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่ทุกคนคิด

เงินสดในความหมายของบัญชี เราเรียกกันแบบเต็มยศว่า “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด” ซึ่งก็คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในธุรกิจ ความเสี่ยงต่ำสุด และใช้สำหรับจ่ายหนี้ได้ทันที (แบบไม่มีอะไรมากั้น)

เงินสดคืออะไร?
เงินสดคืออะไร?

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ เราของแบ่งคำนี้ออกมาเป็น 2 เรื่องย่อย 

1.เงินสด

เงินสดคือ เงินสดในมือ (หรือในเก๊ะ) และเงินฝากธนาคารไม่ว่าจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากกระแสรายวัน

เงื่อนไขของเงินสด

คือ จะต้องถอนมาใช้ได้ง่าย ทันใจ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการถอน

ลองมาดูตัวอย่างกัน

  • เงินฝากกระแสรายวัน = ถือเป็นเงินสด
  • เงินฝากออมทรัพย์ สกุลเงิน USD = ถือเป็นเงินสด
  • เงินฝากประจำ 2 ปี = ไม่ใช่เงินสด เพราะมีเงื่อนไข ถ้าถอนไปแล้วก่อนถึงเวลา 2 ปี จะอดได้ดอกเบี้ย
  • เงินฝากติดภาระค้ำประกัน = ไม่ใช่เงินสด เพราะเงินนี้ติดสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมบางอย่างอยู่ ถ้าถอนปุ๊บ ก็ผิดเงื่อนไขสัญญาปั๊บ

ฉะนั้น เงินสดในธนาคารทั้งหลาย ต้องดูให้ดีว่ามีเงื่อนไขการถอนมั้ย เพราะถ้ามีแล้ว มันอาจจะไม่ใช่เงินสดที่ใช้ได้ในการจ่ายชำระหนี้ในธุรกิจตามนิยามแล้วล่ะ

2.รายการเทียบเท่าเงินสด

รายการเทียบเท่าเงินสด หมายถึง เงินลงทุนที่ถือแบบสั้นๆ ไม่ถึง 3 เดือนและวัตถุประสงค์ในการถือเพื่อรอชำระหนี้ เหมือนเป็นที่พักเงิน (ไม่ใช่เพื่อลงทุนหากำไร) รายการเทียบเท่าเงินสดนี้ในตามทฤษฎีแล้วมันก็คือเงินสดดีๆ นั่นแหละ แค่อยู่ในรูปแบบอื่นเท่านั้นเอง

เงื่อนไขของรายการเทียบเท่าเงินสด

คือ ต้องรู้จำนวนเงินที่แน่นอน และความเสี่ยงต่ำมากที่จะเปลี่ยนแปลงมูลค่า

ถ้ายังไม่เข้าใจ ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กัน

  • ตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ ระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน = ถือเป็นรายการเทียบเท่าเงินสด
  • ตั๋วใช้เงินอายุ 1 เดือน = ถือเป็นรายการเทียบเท่าเงินสด
  • บิทคอยน์ = ถึงแม้จะถอนเงินออกมาเมื่อไรก็ได้ แต่บิทคอยน์ไม่ใช่รายการเทียบเท่าเงินสด เพราะเสี่ยงสูง วันนี้มีมูลค่า 100 ถอนออกมาอาจได้เงินจริงแค่ 10 บาท
  • ลงทุนในตลาดหุ้น = สภาพคล่องสูงก็จริง แต่การลงทุนในตลาดหุ้นความเสี่ยงสูง เงินที่ถอนมาจากการลงหุ้น PTT อาจจะไม่เท่ากับเงินที่ลงทุนไว้ในตอนแรกก็ได้

สรุปง่ายๆ

เงินสดที่แท้จริงในธุรกิจ คือ เงินที่มีในมือหรือในธนาคาร ที่ถอนมาใช้ง่ายๆ ไม่มีเงื่อนไข และไม่มีความเสี่ยงที่มูลค่าจะเพิ่มหรือลด ฉะนั้น ก่อนจะฟันธงว่าอะไรเป็นเงินสดของธุรกิจบ้าง อย่าลืมเช็คความเข้าใจตรงนี้ให้ชัดก่อนนะคะ

3 เทคนิคบริหารเงินให้เข้ามาเร็วขึ้น

1.วางแผนการเก็บเงิน

เริ่มต้นจากเรื่องแรก การวางแผนการเก็บเงิน เรื่องนี้เหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่เจ้าของธุรกิจมือใหม่หลายคนตกม้าตาย เพราะว่า ไม่รู้จักการวางบิล การออกใบแจ้งหนี้ วิธีการเรียกเก็บเงินลูกค้าในแบบที่ธุรกิจใหญ่ๆ เค้าทำกัน เลยทำให้เก็บเงินได้ช้ากว่าเพื่อน และสุดท้ายทำงานแทบตาย แต่ไม่ได้เงินเข้ามาสักที

เอาล่ะ แล้วถ้าอยากวางแผนการเก็บเงินจากลูกค้าให้ดี มีอะไรต้องรู้บ้าง

  • วางนโยบายการให้เครดิต การให้เครดิตกับลูกค้า คือ การตัดสินใจว่าเรายอมให้ลูกค้าชำระเงินได้ช้ากี่วัน และกำหนดวงเงินสูงสุดไว้เท่าใด ดังนั้น การกำหนดนโยบายการให้เครดิตนี้จึงไม่สามารถลอกเลียนธุรกิจอื่นได้ เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องคิดเอง กำหนดเอง ตกลงกับลูกค้าเองไว้ตั้งแต่เริ่มค่ะ
  • ออกใบแจ้งหนี้ให้เป็นระบบ ลูกค้าหลายราย ไม่ยอมจ่ายเงินเพียงเพราะไม่มีเอกสารแจ้งหนี้ที่เป็นทางการ เอกสารใบแจ้งหนี้ที่รายละเอียดรัดกุม ถูกต้อง ครบถ้วนนั้น ช่วยบังคับให้ลูกค้าชำระเงินมาตามเวลาได้ไม่ยากเลย แต่ถ้าทำงานไปแล้ว ส่งของไปแล้ว กว่าจะออกใบแจ้งหนี้ได้ ใช้เวลานาน กระบวนการล่าช้า นั่นหมายถึง เงินก็จะเข้ามาช้าด้วยเช่นกันนะ
  • ติดตามหนี้สม่ำเสมอ ขั้นตอนนี้มีหลายคนที่ไม่ใส่ใจ กลายเป็นว่าทำงานแล้ว แจ้งหนี้แล้ว พอลูกหนี้ไม่จ่ายนานๆ ก็ลืมไปเลยค่ะ ว่าต้องติดตามทวงถาม เพราะฉะนั้น การติดตามทวงถาม Keep Connection กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้ลูกค้าเกรงใจ และไม่กล้าเบี้ยวหนี้ง่ายๆ ด้วยนะ
วางแผนการเก็บเงิน
วางแผนการเก็บเงิน

2.กระจายแหล่งรายได้

เคยได้ยินมั้ยคะว่า การลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเอาเงินลงทุนไปไว้ในแหล่งเดียว เพราะถ้าเจ๊งขึ้นมา งานงอก เงินหายไปทั้ง 100% เลย

รายได้ของธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าเรามีรายได้จากแหล่งเดียว ลูกค้ารายใหญ่เจ้าเดียว มีโอกาสเสี่ยงสูงมาก ถ้าลูกค้ารายนั้นเบี้ยวหนี้ แปลว่า กระแสเงินสดเข้าของธุรกิจก็จะหายวับไปกับตาด้วยเช่นกัน

การกระจายแหล่งรายได้ ช่วยลดความเสี่ยงพึ่งพาเงินจากแหล่งเดียวได้ เช่น

  • กระจายช่องทางการขาย จากเดิมขายหน้าร้าน อาจต้องเริ่มขายออนไลน์บ้าง หรือส่งออกไปต่างประเทศ
  • เพิ่มชนิดสินค้า เช่น จากเดิมมีสินค้าอยู่ชนิดเดียวอาจจะได้รายได้ประมาณนึง แต่ถ้าเพิ่มสินค้าหลายๆ ชนิดก็อาจจะมีรายได้เพิ่มเข้ามาได้ จากลูกค้าเดิมที่สนใจสินค้าอยู่แล้ว หรือจากลูกค้าใหม่ที่อยากทดลองใช้สินค้าใหม่ๆ
  • เพิ่มกลุ่มลูกค้า เดิมทีการทำสินค้าขึ้นมาสักชิ้น เราน่าจะมีกลุ่มลูกค้าในใจอยู่แล้วว่าเป็นใคร อยู่ในตลาดแบบไหน การเพิ่มกลุ่มลูกค้าในตลาดอื่นๆ ที่เรายังไม่เคยเข้าไปขาย ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ธุรกิจมีเงินสดเข้ามาค่ะ เช่น เดิมขายนมจับกลุ่มลูกค้าโรงเรียน แต่อยากเพิ่มรายได้อีกช่องทาง อาจจะปรับแบรนด์แล้ว นำเสนอให้ลูกค้ากลุ่มคนทำงานได้เช่นกัน
กระจายแหล่งรายได้
กระจายแหล่งรายได้

3.รักษาลูกค้าเก่า

การทำธุรกิจกับลูกค้าเดิม ทำง่ายกว่าไปหาลูกค้าใหม่หลายเท่า ถ้าเรารักษาลูกค้าเดิมได้ มีต้นทุนน้อยกว่า แล้วก็สร้างกระแสเงินสดกลับมาแบบต่อเนื่องให้กับธุรกิจได้เลยนะ

การรักษาลูกค้าเก่าให้อยู่กับเราไปนานๆ มีด้วยกันหลากหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น

  • รักษาความสัมพันธ์ที่ดี เช่น มีของขวัญปีใหม่ ให้บริการอย่างจริงใจ
  • ส่งมอบบริการที่ประทับใจ เช่น มีบริการหลังการขาย ส่งมอบงานเกินความคาดหมาย
  • ทำ Loyalty Program เช่น ลูกค้าแอดไลน์เป็นสมาชิก สะสมแต้ม ได้รับส่วนลดหรือของรางวัล
รักษาลูกค้าเก่า
รักษาลูกค้าเก่า

ทั้ง 3 เรื่องนี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับบัญชี 100% แต่เป็นเรื่องที่ช่วยให้เราได้รับเงินสดกลับเข้ามาในธุรกิจได้เร็วขึ้น มีระบบขึ้น และต่อเนื่องขึ้น เมื่อบริหารเงินสดเข้าได้ดีแล้ว ธุรกิจก็มีลมหายใจต่อไปได้อีกยาวๆ เลยค่ะ

และสำหรับใครที่อยากเก่งไปอีกขั้น ลองมาวิเคราะห์เงินเข้า เงินออกของธุรกิจต่อ และศึกษาวิธีแบ่งกระเป๋าเงินธุรกิจที่นี่เลย

อยากบริหารเงินสดธุรกิจ ด้วยข้อมูลบัญชีที่ดี ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ