ซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทดีไหม คิดยังไงดี

ซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทดีไหม คิดยังไงดี?

หนึ่งในปัญหาโลกแตกที่เจ้าของธุรกิจหลายคนไม่กล้าลงมือทำสักที ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทเพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับธุรกิจหรือเปล่า กลัวว่าจะขาดทุนกว่าเดิม หรือเสียใจเพราะสินทรัพย์นั้น ไม่ได้มีประโยชน์กับธุรกิจเลยสักนิด

แล้วแบบนี้จะซื้อสินทรัพย์เข้าธุรกิจได้เมื่อไหร่? วันนี้มีหลักการคิดดี ๆ มาฝากเจ้าของธุรกิจทุกคนกันค่ะ

เมื่อไรควรซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัท?

เวลาจะตัดสินใจจะซื้อสินทรัพย์เข้ามาในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินก็ดี เครื่องจักรก็ดี หรือจะรถขนส่ง เพื่อดำเนินธุรกิจก็ถือเป็นสินทรัพย์ด้วยกันทั้งนั้นค่ะ

สำหรับหลักการคิดในการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ 4 ส่วนด้วยกัน

เมื่อไรควรซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัท
เมื่อไรควรซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัท
  1. มีประโยชน์ต่อธุรกิจหรือไม่ เช่น ช่วยสร้างมูลค่าทางการเงิน ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจ และช่วยให้กู้เงินกับธนาคารง่ายขึ้น โดยให้ดูที่ผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก
  2. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไหม เพราะถ้าซื้อสินทรัพย์หนึ่งที่เหมาะสมเข้าธุรกิจได้ จะช่วยลด หรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้อย่างดีเชียวนะ
  3. สร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจได้ สินทรัพย์ที่ซื้อมานั้นนอกจากจะสร้างเงินสดแล้ว ก็ต้องสร้างกำไรให้ได้ด้วย ถึงจะเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์กับธุรกิจ
  4. ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้สินทรัพย์นั้นได้ทำงานในตัวของมัน เพื่อให้สามารถช่วยอำนวยประโยชน์ให้กับธุรกิจ หรือลดขั้นตอนงานบางอย่างให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

เจ้าของธุรกิจอย่าลืมระวังจุดนี้ด้วยนะคะว่า แม้การซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัททำให้มีรายจ่ายสูง ถ้ามองเผินๆ เราคิดว่าน่าจะช่วยประหยัดภาษีได้เยอะ แต่บางครั้งสินทรัพย์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น รถยนต์นั่ง บ้านอยู่อาศัย แต่ซื้อในนามบริษัท อาจทำให้เกิดรายจ่ายต้องห้ามได้ แถมยังต้องเสียภาษีแพงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นควรไตร่ตรองเรื่องนี้ดีๆ เลยค่ะ

ซื้อสินทรัพย์ในชื่อบริษัทต้องมีเอกสาร อะไรบ้าง?

เวลาเจ้าของธุรกิจไปซื้อสินทรัพย์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งมา จะได้รับเอกสารการซื้อจากผู้ขายกลับมาเสมอ เพราะฉะนั้น สินทรัพย์ที่ใช้ในธุรกิจจะต้องมีเอกสารต่าง ๆ เก็บเอาไว้ให้ครบถ้วน ได้แก่

  1. สัญญา ในกรณีที่สินทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูง เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น
  2. หลักฐานการจ่ายเงิน เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งซื้อ ใบรับสินค้า เป็นต้น
  3. ใบเสร็จรับเงินที่สมบูรณ์ มีข้อมูลต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ตัวอย่างใบเสร็จรับเงินที่สมบูรณ์

เอกสารที่ต้องมีเมื่อซื้อสินทรัพย์
เอกสารที่ต้องมีเมื่อซื้อสินทรัพย์

รู้หรือไม่คะว่าทำไมถึงต้องเก็บเอกสารทั้ง 3 อย่างนี้เอาไว้ให้ดี? ก็เพราะว่าจะเอามาใช้เป็นหลักฐานการซื้อขายสินทรัพย์ไว้ยืนยันกับกรมสรรพากรเวลาถูกเรียกไปตรวจสอบน่ะสิคะ ขืนมีเอกสารไม่ครบตามที่แจ้งเอาไว้ วันดีคืนดีมีการประเมินภาษีเกิดขึ้น ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ แทนที่จะช่วยหักภาษีให้น้อยลง กลับต้องเสียภาษีเยอะขึ้นซะอย่างนั้น

ซื้อมาใช้ หรือเช่าสินทรัพย์ต่างกันยังไง

หลายคนอาจจะงงว่าการซื้อ กับการเช่าสินทรัพย์ต่างกันตรงไหน มาดูความแตกต่างกันค่ะทุกคน

การซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทมาใช้ ก็คือ การเอาเงินจำนวนหนึ่งมาแลกกับกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ ใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่ารายเดือน รายปี เงินที่จ่ายดังกล่าวถือเป็นสินทรัพย์ และคิดค่าเสื่อมราคาได้ ซึ่งค่าเสื่อมราคานี้ก็จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีถัดไปค่ะ (ทำให้จ่ายภาษีลดลงนั่นเอง)

แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันตรงที่ว่า เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อให้ได้สินทรัพย์นั้นมา หรือจะเป็นกรณีที่ซื้อไปแล้วกลับไม่ตอบโจทย์ได้อย่างที่คิด ก็ต้องเอาไปขายต่อกันให้วุ่น ซึ่งบางประเภทไม่ได้ขายออกง่ายขนาดนั้นนะ

ส่วนการเช่าสินทรัพย์ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

เช่าซื้อ ลีสซิ่งเป็นรายจ่ายได้เท่าไหร่
เช่าซื้อ ลีสซิ่งเป็นรายจ่ายได้เท่าไหร่

แบบแรกคือ ‘เช่าซื้อ’ หรือที่หลายคนเข้าใจว่า ‘การผ่อนชำระ’ นั่นแหละค่ะ เป็นการที่เจ้าของสินทรัพย์ให้ผู้เช่าจ่ายเงินตามจำนวนงวดที่ตกลงกันไว้จนครบ โดยที่กรรมสิทธิ์เป็นของผู้เช่าตั้งแต่เริ่มทำสัญญาการเช่าซื้อ ในการบันทึกค่าใช้จ่ายของบัญชี เจ้าของธุรกิจสามารถจดค่าเสื่อมราคาต่อปีรวมกับดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ แต่จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อในรอบระยะบัญชีนั้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจประหยัดภาษีได้มากเลยทีเดียว

แบบที่สองก็คือ ‘ลีสซิ่ง’ หรือทางภาษีมองว่าเป็นการเช่าทรัพย์ เหมือน ‘สัญญาเช่า’ ทั่วไปเลยค่ะ อารมณ์เหมือนฟีลเช่าห้อง เช่ารถ อะไรทำนองนี้ค่ะ เป็นการที่เจ้าของสินทรัพย์ตกลงให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา และต้องชำระราคาตามที่กำหนดไว้ โดยที่กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของผู้ให้เช่าสินทรัพย์ จนกว่าจะหมดสัญญาถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะซื้อ หรือจะเช่าสินทรัพย์ต่อ ส่วนเรื่องทางภาษี สามารถนำค่าเช่าทั้งหมด ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ไปลดหย่อนภาษีได้แบบ 100%

หมายเหตุ: จากที่อธิบายมาขอยกเว้นสินทรัพย์จำพวกรถยนต์นั่งนะคะ เพราะว่ามีเงื่อนไขทางภาษีไม่เหมือนคนอื่นเช่น เป็นรายจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเป็นค่าเช่าได้ไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือนเป็นต้น
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้เลย สัญญาเช่ามีกี่ประเภท จำแนกแต่ละประเภทอย่างไร

การเช่าจะมีข้อดีตรงที่ว่า เวลาจะลงทุนในสินทรัพย์ไหน แต่ยังไม่ชัวร์ว่าจะสร้างกำไร หรืออำนวยประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน ก็สามารถเช่าสินทรัพย์นั้นไปก่อนได้ จนผ่านไปซัก 3-4 เดือน วิเคราะห์สถานการณ์แล้วโอเค ก็ค่อยเจรจาขอซื้อสินทรัพย์นั้นทีหลังได้ โดยไม่ต้องแบกรับกับความเสี่ยงกับการจ่ายเงินก้อนเยอะ ๆ เลยค่ะ

กรณีตัวอย่างข้อผิดพลาดในการซื้อสินทรัพย์

มาถึงตรงนี้กันแล้ว เรามาดูกันที่ข้อผิดพลาดในการซื้อสินทรัพย์กันหน่อยดีกว่าค่ะ เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจบางคนยังเข้าใจผิดกันอยู่ว่า สินทรัพย์ในนามบริษัทก็สามารถนำมาใช้ส่วนตัวได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรนำมาปนกับธุรกิจเลยจริง ๆ รู้ไหมคะว่าทำไม?

เพราะเป็นสินทรัพย์ในนามบริษัทที่ใช้ส่วนตัว แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เวลานำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาคำนวณภาษีจะไม่สามารถใช้ได้ และกลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฎหมายทันที นอกจากจะลดค่าภาษีไม่ได้ ยังทำให้ตัวเลขภาษีผิดพลาดอีกด้วย ธุรกิจก็จะมีแต่เสียกับเสียเท่านั้นแหละค่ะ

ตัวอย่างสถานการณ์ 

นาย A เป็นเจ้าของธุรกิจประเภทหนึ่ง ลงทุนซื้อโต๊ะกินข้าวไฟฟ้าปรับระดับความสูงได้ ราคา 20,000 บาท ไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน แต่กลับซื้อในนามบริษัท แถมยังขอใบกำกับภาษีจากผู้ขายด้วย เพื่อส่งต่อให้ฝ่ายบัญชีไปลงบันทึกเป็นสินทรัพย์ในนามบริษัท โดยบัญชีบอกว่าตัดอายุการใช้งาน 5 ปี ค่าเสื่อมราคาจึงตกอยู่ที่ปีละ 4,000 บาท จึงนำค่าเสื่อมนี้มาใช้เป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษี หวังจะให้ธุรกิจเสียภาษีน้อยลง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือเรื่องภาษีนี่แหละค่ะ ตอนที่ยื่นรายการภาษีประจำปี กรมสรรพากรจะปัดตกค่าเสื่อมราคาเป็นรายจ่ายต้องห้ามทันทีเลย เพราะโต๊ะกินข้าว ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เป็นสินทรัพย์ในนามบุคคล ไม่สามารถมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีธุรกิจได้นะ นั่นแปลว่า ค่าใช้จ่าย 4,000 บาทนี้ก็เอามาลดจากรายได้ไม่ได้ สุดท้ายต้องจ่ายชำระภาษีเพิ่ม

สรุปแล้ว ซื้อสินทรัพย์ในชื่อบริษัทดีไหม?

จะเห็นได้ว่า การซื้อสินทรัพย์ในชื่อบริษัทอำนวยประโยชน์ให้กับธุรกิจได้หลากหลาย ทั้งในแง่มุมของกำไร และแง่มุมของการลดหย่อนภาษี โดยใช้หลักการคิดพิจารณา 4 ส่วนด้วยกันคือ

  1. มีประโยชน์
  2. ประหยัดค่าใช้จ่าย
  3. สร้างรายได้เพิ่ม
  4. ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งถ้าหากสินทรัพย์นั้นตอบโจทย์กับธุรกิจที่ต้องการสร้างกำไร และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ ก็สามารถซื้อสินทรัพย์ได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่ชัวร์ว่าจะสามารถให้ประโยชน์กับธุรกิจได้จริง ๆ ไหม ก็เช่าไปก่อนสักระยะหนึ่งจนกว่าจะมั่นใจว่าโอเค แล้วค่อยเจรจาขอซื้อในภายหลังก็ยังไม่สายค่ะ แต่ทั้งนี้ ซื้อสินทรัพย์ไปแล้ว อย่าเอาไปปนกับการใช้ส่วนตัวนะคะ เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาด้านการคำนวณภาษีในภายหลังนั่นเองค่ะ

สำหรับคนที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม ไปตามพี่นุชและพี่หนอมอธิบายได้ที่นี่เลย

เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง