กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม เช็กยังไง ต้องเข้าใจอะไรบ้าง

หากพูดถึงเรื่องประกันสังคมแล้ว อาจนึกถึงสิทธิประโยชน์ที่พนักงานออฟฟิศทุกคนจะต้องได้รับจากบริษัทกันใช่ไหมคะ แต่ก็มีอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมักจะสงสัยเช่นเดียวกันว่า คนที่ทำงานในตำแหน่ง กรรมการ ของบริษัทจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนด้วยเหมือนกันไหม

ในบทความนี้ มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ “กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม เช็กยังไง ต้องเข้าใจอะไรบ้าง” มาช่วยทุกคนคลายข้อสงสัยนี้กันค่ะ จะมีรายละเอียดยังไง ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

กรรมการคืออะไร มีหน้าที่อะไรในบริษัท?

กรรมการคือใคร
กรรมการคือใคร

กรรมการเป็นตำแหน่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลบริหาร กำหนดทิศทาง กลยุทธ์ โครงสร้างองค์กรบริษัท และติดตามการดำเนินงานของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากที่สุด

โดยกรรมการจะเป็น 1) ผู้ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้น และ CEO หรือ 2) จะเป็นคนที่ผู้ถือหุ้นแต่งตั้งมาดูแลควบคุมบริษัทแทน ซึ่งมาจากการโหวตและมีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 50% ขึ้นไปก็ได้ค่ะ

ยกตัวอย่าง

Mark Zuckerburg CEO ของ Meta และ Elon Mask CEO ของ Tesla ทั้งสองคนนี้เป็นผู้บริหารที่ควบตำแหน่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการของบริษัทในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถดูแลและบริหารการดำเนินงานให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดด้วยตัวเอง

ส่วนในอีกกรณีหนึ่งอย่าง หลายๆ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะแต่งตั้งกรรมการจากภายนอกที่มีความสามารถและประสบการณ์ด้านนี้ ขึ้นมาบริหารบริษัท ซึ่งไม่ใช่ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัท แบบนี้ก็ทำได้ ไม่ได้ผิดอะไรเช่นกันค่ะ

เช็กยังไง ? ใครเป็นผู้ถือหุ้น ใครเป็นกรรมการ

หลังจากที่ได้รู้จักกับคำว่ากรรมการกันไปแล้ว หลายคนอาจยังสับสนอยู่นิด ๆ ตรงที่ว่า กรรมการต่างจากผู้ถือหุ้นยังไง ? ฉะนั้น เราจะมาแยกความแตกต่างระหว่าง 2 ตำแหน่งนี้ให้เห็นภาพชัดขึ้นกันค่ะ

ผู้ถือหุ้น ก็คือเจ้าของบริษัท สามารถมีได้ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป แต่จะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนหุ้นที่ตัวเองถือ ใครที่ถือหุ้นมากที่สุด จะมีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุด หากต้องการเช็กว่าบริษัทนั้น ผู้ถือหุ้นเป็นใครบ้าง แต่ละคนถือหุ้นในจำนวนเท่าไหร่ สามารถตรวจสอบได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือหนังสือ บอจ.5

บอจ.5
บอจ.5

ในขณะเดียวกัน กรรมการ คือตัวแทนจำนวน 1 คน หรือหลายคน (คณะกรรมการ) ที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อเข้ามาดูแลและควบคุมการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายแทนผู้ถือหุ้นอีกที หรือในกรณีที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ ผู้ถือหุ้นกับกรรมการอาจเป็นคนเดียวกันก็ได้ สามารถตรวจสอบได้โดยการค้นหาชื่อบริษัทได้ทางเว็บไซต์ DBD DataWarehouse จะมีรายชื่อกรรมการแสดงอยู่ค่ะ

รายชื่อกรรมการ
รายชื่อกรรมการ

กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม?

กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม
กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจให้เคลียร์ก่อนว่า การเข้าประกันสังคม คือการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันมาตรา 33 ซึ่งจะต้องเป็น “ลูกจ้าง” ในบริษัทเท่านั้นค่ะ ซึ่งอาจทำให้หลายคนพออนุมานได้ว่า กรรมการเป็นลูกจ้างเหมือนกันใช่ไหม ? ต้องเข้าประกันสังคมด้วยหรือไม่ ? ทั้งนี้ อย่าเพิ่งรีบฟันธงกันนะคะทุกคน เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่า “กรรมการทำงานในฐานะลูกจ้าง หรือนายจ้าง” ถึงจะสามารถตอบคำถามนี้ได้ค่ะ

ตามกฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่เป็นนายจ้าง หรือผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายการเป็นลูกจ้าง ดังนี้

  1. เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท หรือเป็นผู้ถือหุ้น
  2. ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของบริษัท
  3. ไม่มีหัวหน้า หรือไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตำแหน่งของสูงกว่า
  4. ทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัท

ดังนั้น คำตอบก็จะแบ่งได้เป็น 2 กรณีดังนี้

1. กรณีที่กรรมการคือ “ตัวแทน”  ไม่ใช่ “ลูกจ้าง”

ถ้ากรรมการเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท หรือผู้ถือหุ้น ไม่ได้มีการทำสัญญาการทำงานภายใต้คำสั่ง และกฎระเบียบของบริษัทเหมือนนายจ้าง-ลูกจ้าง

หรือเป็นกรรมการแต่ในนามเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อมีการประชุมเท่านั้น เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือการประชุมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทใหม่ เป็นต้น

จะสรุปได้ว่า กรรมการไม่ใช่ลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนมาตรา 33 ดังนั้น กรรมการไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมนั่นเองค่ะ

2. กรณีที่กรรมการคือ “ลูกจ้าง”

ถ้ากรรมการเป็นคนที่ถูกจ้างงานมาปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง หรือผู้ถือหุ้นบริษัท มีการทำสัญญาการทำงานภายใต้คำสั่ง และกฎระเบียบของบริษัทเหมือนนายจ้าง-ลูกจ้าง

กรณีนี้จะถือว่ากรรมการผู้นี้เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมนะคะ

เจ้าของ VS ลูกจ้าง ต่างกันยังไง ?

หลังจากที่ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเข้าประกันสังคมของกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะชวนทุกคนมาดูความแตกต่างระหว่าง “เจ้าของ” กับ “ลูกจ้าง” กันบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ

เจ้าของ

เป็นผู้ที่ก่อตั้งบริษัท หรือธุรกิจเพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยไม่ได้ทำงานภายใต้อำนาจของใคร และมีอำนาจในการคิด วางแผน แก้ปัญหา และตัดสินใจด้วยตัวเองทุกเรื่อง เพื่อสร้างโอกาส ผลกำไร และการพัฒนาอาชีพในบริษัทได้ ผู้ที่เป็นเจ้าของอาจจะมีเพียงคนเดียว หากธุรกิจนั้นมีขนาดเล็ก ไม่ต้องจ้างคนช่วย หรือจะมีการจ้างคนอื่นมาช่วยทำงานก็ได้ หากธุรกิจนั้นมีขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่

ข้อดีของการเป็นเจ้าของข้อเสียของการเป็นเจ้าของ
– มีอิสระในการคิด วางแผน ลงมือทำ และแก้ปัญหาโดยใช้ความสามารถของตัวเอง
– ไม่ต้องทำงานภายใต้อำนาจใคร สามารถมอบหมายงาน หรือออกคำสั่งกับพนักงานได้
– ได้ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้พัฒนาบริษัทให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ
– มีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่าการเป็นพนักงาน
– มีความเสี่ยงและความรับผิดชอบสูง ไม่ว่าจะเป็นงาน การเงิน ลูกค้า และอื่น ๆ
– เป็นการลงทุนครั้งสำคัญ หากบริษัทหรือธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ อาจสูญเสียเงินทั้งหมดได้
– ต้องคิดหาวิธีพัฒนางาน และวิธีแก้ปัญหาตลอดเวลา เพื่อให้บริษัทแตกต่างและอยู่รอด
– มีเวลาให้กับครอบครัว เพื่อน และคนรักน้อยลง

ลูกจ้าง

เป็นผู้ที่ทำงานให้กับนายจ้าง เช่น เจ้าของบริษัท ภายใต้กฎระเบียบ หน้าที่ และคำสั่งที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างผลงานและผลประโยชน์ที่พึงพอใจให้กับนายจ้าง โดยจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน รายชิ้น เหมาจ่าย เป็นต้น 

ข้อดีของการเป็นลูกจ้างข้อเสียของการเป็นลูกจ้าง
– มีสิทธิ์เข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33
– ได้รับรายได้ที่มั่นคงทุกเดือน พร้อมกับได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ควบคู่ด้วย
– ไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสี่ยงของบริษัท
– มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
– มีเวลาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว เพื่อน และคนรัก
– มีรายได้ที่จำกัด ถูกกำหนดโดยนายจ้าง
– ต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง ไม่มีอิสระในการตัดสินใจ
– ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถทำงานที่ท้าทายได้ ทำให้เกิดความเครียด
– สภาพแวดล้อม เพื่อนร่วมงาน และลักษณะงานที่ไม่ดี อาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง

ถ้าเข้าประกันสังคมไปแล้ว แจ้งออกได้ไหม ทำยังไงบ้าง ?

สำหรับใครที่เคยเป็นลูกจ้างในบริษัทมาก่อน แล้วต่อมามีโอกาสได้เป็นเจ้าของบริษัท กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ซึ่งอยู่ในสถานะนายจ้าง จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเรามีทางแก้ไข ก็คือ

นายจ้างต้องทำแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หรือแบบ สปส. 6-09 ภายในวันที่ 15 ของเดือนที่ลาออกจากงาน และสามารถส่งแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานประกันสังคมในเขต ส่วนเงินสมทบที่เคยจ่ายไป จะได้รับเงินคืนเมื่อมีอายุ 55 ปีค่ะ

หากนายจ้างคนไหนไม่ได้แจ้ง และออกจากระบบประกันสังคมให้ถูกต้อง แล้วทางสำนักงานประกันสังคมตรวจพบเจอในภายหลัง ระวังจะโดนค่าปรับย้อนหลังเอาได้นะคะ แถมไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ขอแนะนำให้นายจ้างมือใหม่ทำตามกระบวนการให้ถูกต้องตามกฎหมายดีกว่านะคะทุกคน

บทสรุป

กรรมการเข้าประกันสังคมได้ไหม สิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำก็คือ เช็กเงื่อนไขเสียก่อนว่ากรรมการทำงานใน “ฐานะนายจ้าง” หรือเปล่าค่ะ

ถ้าทำงานในฐานะนายจ้าง ก็ไม่ถือเป็น ลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคม มีผลให้กรรมการเข้าประกันสังคมไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำงานในฐานะนายจ้าง แค่มีตำแหน่งเป็นกรรมการเฉยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังถือเป็นมนุษย์เงินเดือนดีๆ นี่เอง ถ้าเป็นลักษณะนี้ก็ยังได้สิทธิ์เข้าประกันสังคมอยู่ค่ะ

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายคนคลายข้อสงสัยเพื่อนๆ ได้นะคะ

อยากขึ้นทะเบียนนายจ้าง ลูกจ้างประกันสังคม หรือยื่นประกันสังคมออนไลน์ ไม่รู้จะเริ่มยังไง ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง