เจ้าของธุรกิจตั้งเงินเดือนให้ตัวเองที่เป็นทั้งเจ้าของและกรรมการในเวลาเดียวกันยังไงดีนะ?
หลายคนอาจคิดว่า “เงินในร้านก็เงินเราเอง จะตั้งเงินเดือนทำไม ?”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของกิจการก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ และในทางกลับกันธุรกิจเองก็ต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอค่ะ ดังนั้น ถ้าเราไม่เคยตั้งเงินเดือนให้กับตัวเองเลย บางทีอาจกลายเป็นว่าเราเองที่ถูกธุรกิจเอา หรือบางครั้งเราเองไปดึงเงินธุรกิจมาใช้แบบเกินเบอร์ ก็เท่ากับว่าเอาเปรียบธุรกิจในอีกรูปแบบนึง
แต่หากตัดสินใจจ่ายเงินเดือน ก็จะมีข้อดีตรงที่ การแยกเงินธุรกิจออกจากเงินส่วนตัวได้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าร้านเรามีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ ทำให้ธุรกิจของเรามีเงินหมุนเวียนไม่เสี่ยง “เจ๊ง” และยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจวางแผนคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ง่ายขึ้น ไม่งง ไม่โดนปรับทีหลังให้ปวดหัว
พอรู้ข้อดีแบบนี้แล้ว อาจสงสัยว่าแล้วต้องตั้งเงินเดือนให้กับตัวเองกี่บาทดี บทความนี้จะพาทุกคนไปดูกันค่ะ ว่าเจ้าของธุรกิจสามารถตั้งเงินเดือนได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
เจ้าของธุรกิจ คิดเงินเดือนให้ตัวเองยังไงดี?
การตั้งเงินเดือนเจ้าของธุรกิจในฐานะ “กรรมการบริษัท” เป็นวิธีที่ช่วยแบ่งเงินในกิจการ และเงินส่วนตัวออกจากกันได้อย่างชัดเจน เจ้าของธุรกิจสามารถตั้งเงินเดือนกรรมการยังไง จ่ายให้ตัวเองแบบไหน มีวิธีการพิจารณาดังนี้ค่ะ
1. เช็กรายจ่ายส่วนตัว
เริ่มจากการเอารายจ่ายของตัวเองเป็นที่ตั้ง ว่าในแต่ละเดือนจำเป็นต้องใช้เงินกี่บาท และทำการประมาณเงินที่ตัวเองควรได้รับในแต่ละเดือน ทั้งนี้เพื่อประเมินเงินเดือนที่ควรได้ขั้นต่ำ (แบบอยู่ได้ไม่อดตาย) จากธุรกิจค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
รายจ่ายส่วนตัว | บาท |
ค่าครองชีพรายเดือน 300 บาท x 30 วัน | 9,000 |
ค่าเช่าบ้าน | 6,000 |
ค่าสาธารณูปโภค (น้ำ+ไฟฟ้า+โทรศัพท์+อินเทอร์เน็ต) | 2,000 |
ค่าเดินทาง 100 บาท x 30 วัน | 3,000 |
ค่าเลี้ยงดูลูก เมีย | 10,000 |
รวมรายจ่ายส่วนตัวเบื้องต้น | 30,000 |
หากเราสามารถทราบถึงรายจ่ายส่วนตัวได้ เราก็ประมาณได้แล้วว่าอย่างน้อย ควรมีเงินเดือน เริ่มต้นที่เท่าไหร่ดี
ตามตัวอย่างตาราง แสดงให้เห็นว่า เราควรมีเงินเดือนประมาณอย่างน้อย 30,000 บาท เพื่อสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่เดือดร้อนนั่นเอง
2. เช็กกำไรขาดทุนธุรกิจ
ก่อนตั้งเงินเดือนกรรมการ เราต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจของเรามี “กำไร” หรือ “ขาดทุน” เท่าไหร่ค่ะ โดยกำไรขาดทุนของธุรกิจนั้น หมายถึง ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำรายได้ทั้งหมด มาหักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยรวมเงินเดือนไว้ในค่าใช้จ่ายธุรกิจแล้ว
โจทย์สำคัญที่เราต้องทำก็คือ คิดต่อว่า หลังจากที่คำนวณจ่ายเงินเดือนตัวเองแล้ว ธุรกิจของเรายังมีกำไรอยู่ไหม? ตามตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้
เช็กกำไรขาดทุน | บาท |
รายได้ | 100,000 |
ต้นทุน | 50,000 |
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร | 10,000 |
เงินเดือนเจ้าของธุรกิจ/กรรมการ | 30,000 |
กำไรขาดทุนของธุรกิจ | 10,000 |
จากตัวอย่าง เราจะนำเงินเดือนเจ้าของธุรกิจ 30,000 บาท ลองเข้าไปคำนวณด้วย จากสมการนี้ เราจะพบว่าแม้จ่ายเงินเดือน 30,000 บาททุกเดือนแล้ว ธุรกิจก็ยังมีกำไร ก็น่าจะสบายใจไปเปราะนึงจ้า
3. เช็กเงินสดธุรกิจ
จากข้อ 2 พอเราเช็กแล้วว่ามีกำไร พอจ่ายเงินเดือนแน่นอน แต่อย่าลืมนะ ต้องเช็กด้วยมีเงินสดพอจ่ายไหม
การตรวจสอบเงินสดก่อนตั้งเงินเดือนให้กับเจ้าของธุรกิจ ช่วยให้รู้ว่าธุรกิจจะเหลือเงินสดหมุนเวียนเท่าไหร่ วางแผนการเงินได้ดีขึ้น รู้ว่ามีเงินสดเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและการลงทุนหรือไม่
โดยเราสามารถเช็กกระแสเงินสดของธุรกิจได้ ตามวิธีนี้
- กรณีกิจการมีการทำบัญชี ให้ดูบัญชีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ทุกสิ้นเดือนในงบแสดงฐานะการเงินได้เลย
- กรณีไม่ได้ทำบัญชี ให้ดูที่ Bank Statement ที่แสดงเงินสดคงเหลือในกิจการ
- กรณีที่ไม่ได้ทำบัญชี และไม่มี Bank Statement มีเงินส่วนอื่นๆมาปนอยู่ด้วย ไม่สามารถดูได้
ให้ลองคำนวณตามวิธีนี้ค่ะ
ยอดยกมาต้นงวด + เงินสดเข้า – เงินสดออก = เงินสดคงเหลือ (ต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเท่านั้น)
เมื่อถึงในขั้นตอนนี้เจ้าธุรกิจจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า หากเงินออกไปแล้ว ในอนาคตธุรกิจของเรายังจะอยู่รอดไหม ควรวางแผนในระยะยาวเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจสามารถจ่ายเงินเดือนได้แบบยาวๆ (ไม่ช็อตในอนาคต) นั่นเองจ้า
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพกันมากขึ้น ขอยกสักหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้นค่ะ
1. เช็กรายจ่ายส่วนตัว เป็นเงิน 30,000 บาท
2. เช็กกำไรขาดทุนธุรกิจ กรณียังไม่จ่ายเงินเดือน กำไรสุทธิปีละ 500,000 บาท
3. เช็กเงินสดธุรกิจ ธุรกิจมีเงินสดหมุนเวียน 650,000 บาท
ตัวอย่างการคำนวณ*
1. รายจ่ายส่วนตัว 30,000 บาทต่อเดือน เป็นจำนวนที่ พอใช้จ่าย
2. หากำไรสุทธิเฉลี่ยต่อเดือน 500,000 บาท / 12 เดือน = 41,667 บาท/เดือน กรณีที่จ่ายเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน ก็ยังมีกำไรเหลือ = 41,667 – 30,000 = 11,667 บาท
3. เงินสดหมุนเวียน 650,000 บาท ถ้าต้องจ่ายเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน (แบบไม่มีเงินได้อื่นๆ เข้ามาเลย) = 30,000×12 = 360,000 บาท เงินสดหมุนเวียนก็ยังมีเพียงพอ = 650,000 – 360,000 = 290,000 บาท และยังเหลือเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินสำหรับธุรกิจอีกด้วย
หมายเหตุ ตัวอย่างนี้เป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ ในการคำนวณเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ทั้งนี้เจ้าของกิจการควรปรับตามสถานการณ์จริงของตัวเองเพื่อความเหมาะสมค่ะ
แล้วถ้าหากทำธุรกิจไปเรื่อย ๆ แล้วจะสามารถปรับเงินเดือนเพิ่มได้เมื่อไหร่ แล้วปรับเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ? ไปดูกันเลยค่ะ
การปรับเพิ่มเงินเดือนควรทำเมื่อไร
การปรับเงินเดือนเพิ่มสำหรับเจ้าของธุรกิจ มีหลากหลายปัจจัยที่ควรพิจารณา เช่น
- ผลประกอบการของธุรกิจ มีกำไรหรือขาดทุน
หากธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรเพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะพิจารณาปรับเงินเดือนได้ - สภาพคล่องทางการเงิน
ถึงธุรกิจมีกำไรก็จริง แต่อย่าลืมว่า สภาพคล่องทางการเงิน พร้อมที่จะต้องจ่ายกระแสเงินสดเพิ่ม ที่เกิดจากการขึ้นเดือนครั้งนี้หรือไม่ - แผนระยะยาวของธุรกิจ
หากมีแผนที่จะขยายธุรกิจ จ้างพนักงานเพิ่ม หรือลงทุนเพิ่มเติม อาจจะต้องเผื่อเงินทุนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้ด้วย - ค่าครองชีพ
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ควรพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับตัวเองให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย - นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผลงานของเจ้าของธุรกิจ สามารถบรรลุเป้าหมาย หรือสร้างคุณค่า ผลงานเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้หรือไม่
ถ้าหากปัจจัยเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่ประเมินแล้วว่าสามารถเพิ่มได้ จะทำได้โดยมี 2 วิธีหลัก คือ
1. เพิ่มฐานเงินเดือน
การเพิ่มฐานเงินเดือน ควรมีตัวชี้วัดว่า จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น คำนวณมาจากอะไร เกณฑ์ในคำนวณ
ผลการทำงาน (Performance) ประเมินผลการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจพิจารณาจากการประเมินประจำปี หรือการตั้งเป้าหมายและการทำงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ได้ อย่างที่เราจะคุ้นเคยกันบ่อยๆ คือ KPI หรือ OKR เป็นต้น
2. จ่ายโบนัสประจำปี
หากกิจการต้องเพิ่มรายได้ การจ่ายโบนัสจะไม่ได้เป็นรายเดือน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายรายปี ตามผลประกอบการและความสามารถของเจ้าของธุรกิจ
ข้อควรระวัง
- การจ่ายโบนัสประจำปีนั้น ควรมีนโยบายการจ่ายโบนัสประจำปีที่ชัดเจน และควรระบุเกณฑ์ รวมไปถึงวิธีการคำนวณเงินโบนัสที่ชัดเจน
โดยสุดท้ายแล้ว เมื่อทำการจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าของธุรกิจ ต้องมั่นใจว่า
- ธุรกิจยังคงมีกำไร ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินของธุรกิจ ในอนาคตธุรกิจยังคงต้องมีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน และต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการชำระหนี้สิน
- เงินสดธุรกิจยังเหลือพอ ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง ซึ่งธุรกิจยังคงต้องสามารถเปลี่ยนเงินทุนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น
เมื่อพิจารณาถึงการปรับขึ้นเงินเดือนแล้ว มาดูกันค่ะว่า เงินหมุนเวียนของธุรกิจมีผลกับการคิดเงินเดือนไหม
เงินหมุนเวียนของธุรกิจมีผลกับการคิดเงินเดือนไหม
การตั้งเงินเดือนให้ตัวเองสำหรับเจ้าของธุรกิจหรือกรรมการนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ เงินหมุนเวียนของธุรกิจ เปรียบเสมือนเสาหลักของธุรกิจ ซึ่งกระแสเงินสดที่ไหลเข้า-ออก จะเป็นตัวชี้วัดสภาพคล่องทางการเงินว่าธุรกิจมีเงินเพียงพอต่อการดำเนินงานไหม โดยสามารถพิจารณาจากสถานการณ์หลัก ดังนี้
1. สินทรัพย์หมุนเวียน มากกว่า หนี้สินหมุนเวียน ในสถานการณ์นี้ ธุรกิจจะมี เงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ
2. สินทรัพย์หมุนเวียน น้อยกว่า หนี้สินหมุนเวียน ในสถานการณ์นี้ ธุรกิจจะมี เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ
โดยต้องระวังการใช้จ่ายของธุรกิจให้ดี
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเราควรรับเงินเดือนจากธุรกิจดีไหมถ้าเงินหมุนเวียนของธุรกิจยังไม่เพียงพอ หรือ ให้ธุรกิจรอดก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินให้ตัวเองดีนะ
อ้างอิงคำตอบจากเจ้าของกิจการ มุมมองจากประสบการณ์จริงที่ให้คำแนะนำว่า “ให้ธุรกิจมันรอดก่อน” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “เงินหมุนเวียน” ที่เปรียบเสมือนเสาหลักของธุรกิจ
ทำไมต้องให้ธุรกิจรอดก่อน ?
- ธุรกิจที่รอด หมายถึง โอกาสที่ยั่งยืน ซึ่งธุรกิจที่ผ่านพ้นช่วงเริ่มต้น จะมีระบบ กลไก ฐานลูกค้า ที่มั่นคง ที่สามารถสร้างรายได้ กำไร หล่อเลี้ยงเจ้าของกิจการ และพนักงานได้อย่างยั่งยืน
- การดึงเงินออกก่อน เปรียบเสมือนการดึงเงินออกจากร่างกาย ก่อนที่ร่างกายจะสมบูรณ์ อาจส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้
- โอกาสสูญเสียเงินลงทุน หากธุรกิจล้ม เงินลงทุน เงินทุนที่ทุ่มเทไป อาจสูญเปล่า ไม่ได้รับผลตอบแทนได้
ดังนั้น การตั้งเงินเดือนให้กับเจ้าของธุรกิจ ควรคำนึงถึงความยั่งยืนของธุรกิจเป็นหลัก เจ้าของกิจการสมควรได้รับผลตอบแทน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความเสี่ยงและสภาพการเงินของธุรกิจ ควรวางแผนอย่างรอบคอบ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก็จะเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจได้ค่ะ
เงินเดือน 25,000 บาท สำหรับเจ้าของธุรกิจเหมาะสมไหม ทำไมคนนิยมทำกัน
นักบัญชีหลายคนมักแนะนำเจ้าของธุรกิจตั้ง เงินเดือน 25,000 บาท/เดือน เพราะในทางภาษีบุคคลธรรมดาเมื่อคำนวณแล้วจะไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองค่ะ
แต่ในปัจจุบัน อาจจะน้อยเกินไป สำหรับเจ้าของธุรกิจ ซึ่งหลายคนอาจประสบปัญหาทำงานหนักแต่ได้เงินเงินเดือนน้อย มีรายได้ไม่เพียงพอ สุดท้ายก็ต้องไปถอนเงินธุรกิจมาใช้ก้อนใหญ่ๆ อยู่ดี
โดยการตั้งเงินเดือนที่ต่ำ ถึงแม้จะช่วยประหยัดภาษีได้ในระยะสั้น แต่ก็ส่งผลเสียต่อธุรกิจในระยะยาวได้นั่นเองจ้า
ดังนั้น เงินเดือน 25,000 บาท สำหรับเจ้าของธุรกิจ อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขตายตัวที่บอกได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ประเภทธุรกิจ ขนาดธุรกิจ สถานที่ตั้ง ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงทักษะและประสบการณ์ของเจ้าของธุรกิจ ควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจตั้งเงินเดือนให้ตัวเองอย่างเหมาะสมค่ะ
สรุป เจ้าของธุรกิจตั้งเงินเดือนกรรมการยังไงดี
เจ้าของธุรกิจควรตั้งเงินเดือนกรรมการยังไง ไม่ใช่ปัญหาโลกแตก เพียงแค่ยึดหลักวิธีคิดตามขั้นตอนที่เราแนะนำ เพื่อนๆ ก็น่าจะพอกำหนดเงินเดือนที่เหมาะสมได้นะคะ
หลักการสำคัญก็คือ พิจารณารายจ่ายส่วนตัว กำไรขาดทุนของธุรกิจ และเงินสดหมุนเวียน
ถ้าจ่ายแล้วตัวเองไม่ช็อต ธุรกิจอยู่รอด เงินแยกกระเป๋าชัดเจน เพียงเท่านี้ก็ถือว่า ยอดเยี่ยมสุดๆ ไปเลยค่ะ
สำหรับคนที่อยากฟังนุชและพี่หนอมพูดคุยกันเรื่อง การตั้งเงินเดือนกรรมการยังไงดี ไปติดตามต่อกันได้ที่นี่เลยจ้า
บทความอื่นๆ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน (คลิกที่นี่)
เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อ Line: @zerotoprofit