ในช่วงวิกฤต Cash is King เป็นคำพูดที่ยังคลาสสิคเสมอ โดยเฉพาะกับ SMEs หรือแม้แต่กระทั่งคนทำงานแบบ Freelance
เพราะเงินสดจะเป็นตัวที่บอกว่า ธุรกิจจะมีลมหายไปต่อไปได้อีกนานเท่าไร
ถึงแม้ทำมาค้าขาย รายได้ดี มีกำไร แต่ไม่มีเงินสด ใช้จ่ายหมุนเวียนภายใน อาจจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน
ถ้าเทียบกับธุรกิจที่ขายกะท่อนกะแท่น ขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง แต่ได้เงินสดเร็ว มีเงินหมุนเพียงพอ ในวิกฤตอาจอยู่ได้นานกว่า
แล้วถ้าอยากรู้ว่าทำธุรกิจ ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะได้เงินสดกลับมา คำตอบคือ ต้องคำนวณวงจรเงินสดของธุรกิจตัวเองให้เป็นเสียก่อน
วงจรกระแสเงินสด คืออะไร
วงจรเงินสด คือ จำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงานหลัก เช่น
ธุรกิจหลักตอนนี้ทำโรงงานเล็กๆ ผลิตผักดองบรรจุกระป๋องขาย ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นซื้อวัตถุดิบเข้ามา นับไปอีกกี่วันเราจะได้เงินสดมาหมุนในกิจการ ก็ต้องมานั่งนึกก่อนว่า
1.เรามีกระบวนการอะไรบ้าง ก่อนขายผักดองกระป๋องได้ = เช่น เตรียมวัตถุดิบอย่างผักสด เกลือ จากนั้นเริ่มดองแล้วก็ค่อยบรรจุกระป๋อง เสร็จปึ๊บเอาไปส่งร้านขายของ หรือห้างร้านต่างๆ ถ้าขายเงินสดก็ได้เงินเลย แต่ถ้าขายเงินเชื่อก็ต้องรอไปอีก
2.เรามีกระบวนการอะไรบ้างตอนซื้อเข้ามา = ต้องรู้ว่าเราซื้อวัตถุดิบจากใครเป็นหลัก เช่น ผักสดจากเกษตรกร และกระป๋องจาก supplier แล้วตอนซื้อเราจ่ายเงินอย่างไร เช่น เกษตรต้องรับซื้อสดแน่นอน แต่พ่อค้าคนกลางเราอาจได้เครดิต ส่วนกระป๋องที่บรรจุ ได้เครดิตกี่วัน ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน
วิธีการคำนวณวงจรเงินสดแบบง่ายๆ ทำยังไง
พอเราเข้าใจกระบวนการหลักๆ ของกิจการแล้วมาลองคำนวณวงจรเงินสดกัน
วงจรเงินสด คำนวณได้จากสูตรนี้
วงจรเงินสด = จำนวนวันที่ขายสินค้า + จำนวนวันที่เก็บหนี้ – จำนวนวันที่จ่ายหนี้
1.จำนวนวันที่ขายสินค้า = นับตั้งแต่วันที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามาเลยค่ะ จนกระทั่งถึงตอนขายได้ ว่ามีทั้งหมดกี่วัน เราใช้ตัวเลขในงบการเงิน คำนวณได้จากสูตรนี้
จำนวนวันที่ขายสินค้า = 365 * สินค้าคงเหลือ
ต้นทุนขาย
สินค้าคงเหลือเฉลี่ยเราเอาข้อมูลมาจากงบแสดงฐานะการเงิน และต้นทุนขายใช้ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุน
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจผักดองของเราคำนวณระยะเวลาในการขายได้ 90 วัน เพราะต้องดองผักอย่างน้อย 2 เดือนครึ่งและกว่าจะขายสินค้าให้ลูกค้าได้ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์
จำนวนวันที่ขายสินค้า ถ้ายิ่งมีน้อยก็จะยิ่งดี เพราะมันจะทำให้กิจการได้กระแสเงินสดเร็วขึ้น
2.จำนวนวันที่เก็บหนี้ = จำนวนวันที่ขายของได้จนถึงชำระเงินเงินสด ซึ่งจำนวนวันที่เก็บหนี้เราคำนวณได้จากสูตรนี้
จำนวนวันที่เก็บหนี้ = 365 * ลูกหนี้การค้าเฉลี่ย
รายได้
ลูกหนี้การค้าเฉลี่ยเราเอาข้อมูลมาจากงบแสดงฐานะการเงิน และรายได้ใช้ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุน
ยกตัวอย่างเช่น กิจการเราวางขายของในร้านสะดวกซื้อประจำจังหวัด หลังจากขายได้ต้องรออย่างต่ำ 60วัน กว่าจะเก็บเงินได้ และถ้าลูกหนี้เหนียวหนี้ จำนวนวันตรงนี้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ถ้าเราต้องการให้วงจรเงินสดเราหมุนเร็วๆ ต้องควบคุมจำนวนวันที่เก็บหนี้ ให้มีน้อยที่สุด
เรารู้จัก 2 ตัวแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินเข้า ถัดมาเป็นเรื่องเงินออก หรือเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อสินค้าวัตถุดิบกันบ้าง
3.จำนวนวันที่จ่ายชำระหนี้ = จำนวนวันนับตั้งแต่ซื้อของจนกระทั่งจ่ายชำระหนี้ จำนวนวันจ่ายชำระหนี้ต้องเอาไปหักกลบกับสูตรวงจรเงินสด ซึ่งมีวิธีการคำนวณตามสูตรนี้
จำนวนวันที่จ่ายชำระหนี้ = 365 * เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ต้นทุนขาย
เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ยเราเอาข้อมูลมาจากงบแสดงฐานะการเงิน และต้นทุนขายใช้ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคำนวณได้ 30 วัน แปลว่าโดยเฉลี่ยแล้วเมื่อซื้อของจากซัพพลายเออร์ เราต้องจ่ายชำระภายใน 30 วัน
ถ้าอยากให้วงจรเงินสดสั้นขึ้น วิธีการชะลอจ่ายชำระหนี้ให้ช้าลงก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทำได้
สุดท้าย พอคำนวณตัวเลขจำนวนวันทั้ง 3 ตัวได้แล้ว เราลองมาเข้าสูตรหาวงจรเงินสดของธุรกิจกันเลย
วงจรเงินสด = จำนวนวันที่ขายสินค้า + จำนวนวันที่เก็บหนี้ – จำนวนวันที่จ่ายหนี้
วงจรเงินสด = 90 + 60 – 30
สุดท้ายจะได้ วงจรเงินสด = 120 วัน (คร่าวๆ คือ 4 เดือนกว่าจะมีเงินเข้ามาในกิจการ 1 รอบ) ในระหว่างสี่เดือนนี่ต้องคิดแล้วว่าเอ ชั้นจะทำยังไงดีถึงมีเงินหมุนเพียงพอ เพราะอย่าลืมว่าในแต่ละเดือนเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย อย่างเช่น ค่าน้ำไฟ เงินเดือนลูกจ้างพนักงาน เป็นต้น
ถ้าเราเข้าใจวงจรเงินสดตั้งแต่แรก เราจะรู้ว่าวงจรในการทำธุรกิจ 1 รอบเราต้องรอนานเท่าไรกว่าจะได้เงินกลับมา และสุดท้ายควรเตรียมเงินไว้อย่างต่ำเท่าไร เพื่อที่จะหมุนเวียนให้ธุรกิจไม่สะดุด
และที่สำคัญ เราควรจะทำอย่างไรเพื่อลดจำนวนวันของวงจรเงินสดลง ให้เหลือน้อยๆ จะได้มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit