4 เรื่องต้องรู้ก่อนจ้างพนักงานประจำ

4 เรื่องต้องรู้ก่อนจ้างพนักงานประจำ

ทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวมาสักพัก งานเริ่มหนัก ทำเองไม่ไหว การจ้างพนักงานประจำสักคนอาจเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่อันหนักหน่วงของเถ้าแก่ได้ค่ะ แต่รู้มั้ยคะว่าก่อนจะรับพนักงานเข้ามาทำงานนั้น เราไม่ได้แค่ตัดสินใจว่าจะรับใคร และให้เงินเดือนเท่าไร แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องรู้ อย่างเช่น จ้างมาแล้วคุ้มไหม แถมยังมีเรื่องภาษี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก

โอ้ย…อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็เริ่มวิตกกังวลแล้วใช่ไหมคะว่าสุดท้ายแล้วการจ้างพนักงานเนี่ย จะทำให้ชีวิตเจ้าของกิจการดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่

ในวันนี้ Zero to Profit จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการจ้างพนักงานค่ะ รับรองว่ามีประโยชน์มากๆ สำหรับเถ้าแก่มือใหม่เลยทีเดียวค่ะ

1. จ้างพนักงานประจำแล้วคุ้มไหม

เริ่มแรก ทุกคนคงอยากรู้ใช่ไหมคะว่าการจ้างพนักงานสักคนนั้น เราจะคิดอย่างไรว่าจ้างแล้วคุ้มค่าหรือไม่ หรือเมื่อไรควรจ้างพนักงานสักคนดี

จริงๆ แล้วแต่ละกิจการก็จะมีวิธีคิดที่แตกต่างกันค่ะ แต่ถ้าคิดในมุมมองตัวเลขบัญชี เราแนะนำให้คิดตาม Step นี้

  • มีพนักงานแล้ว ได้ประโยชน์อะไรบ้าง >> คิดเป็นตัวเงินให้ได้
  • มีพนักงานแล้ว เสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง >> คิดเป็นตัวเงินให้ได้

Zero to Profit ลองทำตารางเช็คลิส ให้ทุกคนลองคิดไปพร้อมๆ กัน 2 ฝั่งแบบนี้ค่ะ ด้านซ้ายมือเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่ม ส่วนขวามีเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม แล้วลองเปรียบเทียบตัวเลขผลรวมดูนะ

ประโยชน์ที่เพิ่ม (บาทต่อปี)ค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม (บาทต่อปี)
รายได้เพิ่มขึ้น        500,000 บาท
ลดเวลาเจ้าของธุรกิจ คิดเป็น       210,000 บาท* 
เงินเดือน                      360,000 บาท
สมทบประกันสังคม                          9,000 บาท โบนัส                                          60,000 บาท
ค่าอบรมฝึกทักษะ พนักงาน            20,000 บาท
สวัสดิการอื่นๆ                               65,000 บาท
รวม ประโยชน์ที่เพิ่ม          710,000 บาทต่อปีรวม ค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม             514,000  บาทต่อปี

เมื่อเรากรอกข้อมูลในตารางนี้ไปแล้ว ก็จะพบว่า การมีพนักงานใหม่ให้ประโยชน์ส่วนเพิ่มมากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มหรือไม่

ประโยชน์จากพนักงานใหม่

อาจมาในรูปแบบของรายได้ที่พวกเค้าช่วยเราหาได้มากขึ้น หรือมาในรูปการณ์ประหยัดเวลาของเถ้าแก่ลง เช่น ถ้าเถ้าแก่ต้องทำงานเองทั้งหมด คิดเป็นอัตราเงินเดือน 100,000 บาทต่อเดือน คำนวณมาเป็นชั่วโมงแรงงานชั่วโมงละ 625 บาท การมีพนักงานช่วย 1 คน ลดเวลาทำงานเถ้าแก่ได้ 28 ชั่วโมงต่อเดือน คิดเป็น 210,000 บาทต่อปี* แบบนี้ก็ควรนำไปคิดในตารางเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่มเช่นกันค่ะ

เงินเดือนพนักงาน

ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพียงตัวเดียวที่เจ้าของธุรกิจต้องเจอ ถ้าเราลองคิดดีๆ แล้ว เจ้าของธุรกิจยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น สมทบประกันสังคม โบนัส ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าสวัสดิการค่ารถ ค่าน้ำไฟ อื่นๆ แล้วแต่ตกลงด้วย

3 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเงินเดือนพนักงานมีอะไรบ้าง เช็กได้ที่นี่

คิดให้ไกลๆ อย่างน้อย 1 ปี

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับหรือว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายนั้น ก็เป็นเพราะค่าใช้จ่ายพนักงาน = ค่าใช้จ่ายคงที่ เกิดสม่ำเสมอทุกเดือน แม้วันนี้เราไม่มีรายได้ สุดท้ายค่าใช้จ่ายก็ต้องเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่ดี

โดยสรุปแล้ว จากตารางนี้ถ้าจ้างพนักงานมา เจ้าของธุรกิจได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 710,000 บาท มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม 514,000 บาท กว่า 196,000 บาท แปลว่า เถ้าแก่น่าจะตัดสินใจจ้างพนักงานแน่นอนเลยในเคสนี้

ก่อนเริ่มต้นจ้างพนักงานประจำสักคน ลองเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นกับค่าใช้จ่ายสักนิด ด้วยตาราง Check-List ตัวอย่างนี้ว่าคุ้มหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจช่วยให้ตัดสินใจว่าจะรับพนักงานใหม่ได้ไม่ยากเลยค่ะ

จ้างพนักงานประจำแล้วคุ้มไหม
จ้างพนักงานประจำแล้วคุ้มไหม

คู่มือจ้างพนักงานคนแรก ต้องเก็บประวัติอะไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมที่นี่

2. ยื่นประกันสังคม

เมื่อมีพนักงานคนแรกแล้ว เจ้าของธุรกิจต้องขอขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้างตามกฎหมาย พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน ให้เรียบร้อยค่ะ

แต่เท่านั้นยังไม่พอค่ะ นายจ้างมีหน้าที่จะต้องหักเงินประกันสังคมจากเงินเดือนพนักงาน และสมทบเงินประกันสังคมด้วยในอัตรา 5% ค่ะ ถ้าสังเกตจากตารางข้อ 1 ดีๆ จะเห็นว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมส่วนนี้เข้าไปด้วยค่ะ

ยื่นประกันสังคม
ยื่นประกันสังคมพนักงาน

อัตราเงินประกันสังคม

  • หักเงินสมทบประกันสังคมจากเงินเดือนของลูกจ้าง ด้วยอัตรา 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน และ
  • นายจ้างสมทบเงินเพิ่มตามกฎหมาย ด้วยอัตรา 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน

ลองคิดดูเล่นๆ ถ้ามีพนักงานสัก 10 คน แล้วต้องสมทบประกันสังคมคนละ 750 บาท/เดือน นั่นแปลว่า เราจะมีค่าใช้จ่าย 10×750 = 7500 บาท เป็นประจำทุกเดือนค่ะ

ยื่นประกันสังคมคืออะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

3. ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เรื่องภาษีที่นายจ้างต้องรู้ ถ้ามีพนักงานแล้ว เราต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับพนักงาน และนำส่งภาษีให้กับสรรพากรด้วยจ้า

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย พนักงาน
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย พนักงาน

แบบภาษีที่ต้องนำส่ง

  • แบบ ภงด.1 ส่งเป็นประจำทุกเดือน
  • แบบ ภงด1ก ส่งเป็นประจำทุกปี

อัตราหัก ณ ที่จ่าย

  • เป็นอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5%-35% ยิ่งฐานเงินเดือนเยอะ ยิ่งหักเยอะ พนักงานแต่ละคนก็คำนวณไม่เหมือนกัน

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย

พนักงานเงินเดือน 35,000 บาท นายจ้างต้องหัก ณ ที่จ่าย 458.33 บาท เงินส่วนนี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ แต่เป็นเงินของพนักงานที่นายจ้างมีหน้าที่นำส่งแทนค่ะ

ภงด1 คืออะไร คิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายพนักงานอย่างไร อ่านต่อที่นี่ได้เลย

ภงด 1ก คืออะไร ต่างจาก ภงด 1 อย่างไร ยื่นเมื่อไร อ่านต่อที่นี่ได้เลย

3. เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน

ถ้าจ้างพนักงานแล้วเกิดเปลี่ยนใจอยากให้พนักงานออก รู้หรือไม่ว่าเรายังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ต้องจ่ายชำระตามกฎหมายด้วย นั่นก็คือ เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน

ค่าใช้จ่ายนี้หลายคนมักเรียกอีกชื่อว่า ค่าจ้างพนักงานออก

ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ว่า เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงานในอัตราตั้งแต่ 1 เดือน ถึงสูงสุด 13.33 เดือน (หรือ 400 วัน) ขึ้นอยู่กับอายุงานของพนักงานตามตารางนี้ค่ะ

จ้างพนักงานออกจ่ายเท่าไร
จ้างพนักงานออกจ่ายเท่าไร

ตัวอย่างคำนวณเงินชดเชยพนักงาน

บริษัท ซีโร่ จำกัด มีนาย A เป็นพนักงานรับเงินเดือน 35,000 บาทต่อเดือน อายุงาน 4 ปี อยู่มาวันนึงสภาพคล่องไม่ดี อยากให้พนักงานออก บริษัท ซีโร่ จำกัด ต้องจ่ายเงินชดเชย = 35,000 x 6 เดือน = 210,000 บาทค่ะ

เงินชดเชยผลประโยชน์พนักงานส่วนนี้ยังหมายรวมถึง การจ่ายเงินให้กรณีที่พนักงานเกษียณอายุด้วยนะ ถ้าเราจ้างพนักงานจนถึงวันที่เค้าเกษียณอายุ (60 ปี) เจ้าของกิจการต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานเป็นเงินก้อนในส่วนนี้ด้วยเช่นกันค่ะ

ทั้งหมดนี้เป็น 4 เรื่องบัญชี ภาษี และกฎหมายเบื้องต้นที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ก่อนจ้างพนักงานประจำสักคนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ค่ะ ก่อนจะตัดสินใจจ้างใครสักคนควรเช็กให้ดีๆ และเมื่อจ้างพนักงานเข้ามาแล้ว อย่าลืมดูแลพวกเค้าให้ดี เพื่อไม่ให้มีปัญหา พนักงานในภายหลังนะคะ

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ