จ่ายเงินปันผล สรุป 9 เรื่องต้องรู้สำหรับเจ้าของธุรกิจ

จ่ายเงินปันผล สรุป 9 เรื่องต้องรู้สำหรับเจ้าของธุรกิจ

ในช่วงปีที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจหลายคน โดนพี่สรรพากรร้องขอแกมบังคับให้จ่ายเงินปันผลออกจากบริษัท แต่ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ที่มัวแต่คุมลูกน้องทำงานอย่างเดียว อาจจะยังไม่เข้าใจว่า เจ้าปันผลเนี่ยมันคืออะไร แล้วเราจะจ่ายปันผลออกไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้หรือไม่

ในวันนี้ Zero to Profit ชวนทุกคนมาทำความเข้าเรื่องนี้กัน แบบสั้นๆ กับ 9 เรื่องต้องรู้สำหรับการจ่ายปันผลค่ะ

เงินปันผล คืออะไร

เงินปันผล คือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราลงทุนในธุรกิจ คือ จ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นของบริษัท จากนั้นพอบริษัทได้กำไร ในฐานะเจ้าของธุรกิจก็จะได้รับผลตอบแทนที่เรียกว่าเงิน ปันผล หรือ Dividend นั่นเองค่ะ

เงินปันผล คืออะไร
เงินปันผล คืออะไร

ธุรกิจต้องมีกำไรเท่านั้น จึงจ่ายปันผลได้ใช่หรือไม่

ใช่เลยค่ะ แต่คำว่ากำไรที่ธุรกิจต้องมี คือ “กำไรสะสม”

กำไรสะสม หมายความว่า ไม่ว่าจะเปิดบริษัทมากี่ปี ตัวกำไรหรือขาดทุนที่หาได้ในแต่ละปีมันจะทบกันเรื่อยๆ สมมติ ปี1 ขาดทุน 2 ล้าน ปี 2 กำไร 1 ล้าน อย่างงี้จะจ่ายปันผลไม่ได้ เพราะว่ากำไรสะสมเรายังไม่มี ตอนปลายปีที่ 2 เรายังติดขาดทุนสะสมอยู่ 1 ล้านบาท ปลายปีที่ 2 จึงจ่ายปันผลยังไม่ได้ แต่ถ้าปีถัดๆ ไปมีกำไรเข้าเรื่อยๆ จนล้างขาดทุนสะสมหมดแล้ว ก็จะสามารถจ่ายปันผลได้นั่นเอง

ธุรกิจต้องมีกำไรเท่านั้น จึงจ่ายปันผลได้ใช่หรือไม่
กำไรสะสมมาจากไหน

การจ่ายปันผล ทำให้บริษัทเสียภาษีน้อยลงไหม

เรื่องนี้มีคนเข้าใจผิดเยอะมากๆ เลย ว่าการจ่ายปันผล ถือเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ ทำให้เสียภาษีน้อยลงแน่เลย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะว่า การจ่ายปันผลไม่ใช่ ค่าใช้จ่าย

แต่เป็นการทำให้ส่วนของเจ้าของลดลงเท่านั้นเอง พอมันไม่ใช่ค่าใช้จ่าย มันก็ไม่ช่วยให้เราลดภาษีได้อย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน

การจ่ายปันผล ทำให้บริษัทเสียภาษีน้อยลงไหม
การจ่ายปันผล ทำให้บริษัทเสียภาษีน้อยลงไหม

จ่ายปันผล แล้วดียังไงกับเจ้าของธุรกิจ

เจ้าของธุรกิจที่เอาเงินมาลงทุนในบริษัท พอมีกำไรสะสม ก็สมควรได้รับเงินปันผลตอบแทนค่ะ

การจ่ายปันผลจึงเป็นหนึ่งในวิธีจ่ายผลตอบแทนให้เจ้าของธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องขีดเส้นใต้ว่าต้องทำตามขั้นตอนการจ่ายปันผลที่กฎหมายกำหนดด้วยนะ

จ่ายปันผล แล้วดียังไงกับเจ้าของธุรกิจ
จ่ายปันผล แล้วดียังไงกับเจ้าของธุรกิจ

ถ้านึกอยากจ่ายปันผล เราถอนเงินออกมาจากบริษัทได้เลยป่าว

ขึ้นชื่อว่า บริษัท การจ่ายปันผลมันไม่ใช่แค่การถอนเงินออกมาแบบง่ายๆ แน่ เพราะว่ามันต้องมีขั้นตอนการจ่ายเงินที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุปสั้นๆ 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น ก่อนล่วงหน้า 7 วัน
  2. ลงประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
  3. จัดประชุม ลงมติอนุมัติจ่ายปันผล ว่าจะจ่ายปันผล จำนวนเท่าไรต่อหุ้น คิดเป็นเงินรวมเท่าไร
  4. ทำรายงานการประชุมไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นจึงสามารถจ่ายปันผลออกไปให้ผู้ถือหุ้นได้ แต่ตอนจ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วยน้า

สรุปขั้นตอนจ่ายปันผล
สรุปขั้นตอนจ่ายปันผล

มีกำไรสะสม 2 ล้าน เรานัดประชุมจ่ายเงินออกมาหมดเลยได้ไหม

แม้อยากจะทำแบบนั้น แต่ก็ทำไม่ได้ค่ะ เพราะว่ากฎหมายบังคับไว้ว่า การจ่ายปันผล เราจะจ่ายออกจากกำไรสะสมจนหมดเกลี้ยงเลยไม่ได้ แต่ต้องจัดสรรเงินสำรองไว้ตามกฎหมายอย่างน้อย 5% ของผลกำไร จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึง 10% ของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น 

ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าบริษัทมีกำไรสะสม และกำไรปีนี้เท่ากับ 2 ล้านบาท

ยังไม่เคยจ่ายปันผลเลยจะจ่ายปันผลออกไป ต้องสำรองไว้ตามกฎหมาย 2 ล้าน  x 5% = 100,000 บาท ก่อน

จากนั้น จึงจ่ายปันผลได้ จากกำไรสะสมส่วนที่เหลือ

และต้องทำแบบนี้เรื่อยๆ ทุกปีที่จ่ายปันผลจนกว่า เงินสำรองตามกฎหมายจะเท่ากับ = 10% ของเงินทุน ซึ่งถ้าทุนจดทะเบียนเท่ากับ 10 ล้าน ก็จะต้องสำรองให้ครบ 10%x10 ล้าน = 1 ล้านบาท

จ่ายเงินออกมาหมดเลยได้ไหม
จ่ายเงินออกมาหมดเลยได้ไหม

เงินสำรองตามกฎหมายคืออะไร ไม่อยากตั้งสำรองได้ไหม

เงินสำรองตามกฎหมาย เป็นเงินของบริษัทที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สำรองเพื่อใช้จ่ายในกรณีจำเป็นค่ะ ดังนั้น เราไม่มีทางเลือกว่าจะสำรองหรือไม่สำรองนะคะ เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องสำรองให้ครบถ้วนจึงจะจ่ายปันผลออกไปได้

เราต้องเข้าใจว่าการสำรองเงินตามกฎหมายนั้น สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเงินเราเก็บไว้ในบริษัทอยู่ดี อาจจะเอาไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ โดยไม่ต้องไปหาเงินลงทุนเพิ่ม หรือว่าเก็บไว้จ่ายเจ้าหนี้ยามจำเป็นก็ได้นะ มันไม่ได้หายไปไหน แบบนี้น่าจะสบายใจขึ้นเวลาเราสำรองเงินจำนวนนี้ไว้

เงินสำรองตามกฎหมายคืออะไร
เงินสำรองตามกฎหมายคืออะไร

สมมติมีกำไรสะสม แต่เราไม่จ่ายปันผล จะผิดไหม

มีกำไรสะสมแล้วไม่จ่ายปันผล ไม่มีกฎหมายข้อไหนบอกว่าผิดนะคะ แต่ว่าผู้ถือหุ้นจะยอมได้หรือป่าวนี่ก็เป็นอีกเรื่องนึง ถ้าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่ยอม สุดท้ายก็ต้องจ่ายปันผลอยู่ดี ยกเว้นเสียแต่ว่าจะกำหนดนโยบายปันผลไว้เป็นอย่างอื่น

ไม่จ่ายปันผล จะผิดไหม
ไม่จ่ายปันผล จะผิดไหม

เจ้าของหุ้นควรคาดหวังปันผลสูงๆ จากบริษัทใช่ไหม

การลงทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เรารวยขึ้น การรวยขึ้นจากหุ้น อาจมาจาก 2 ทาง

ทางแรก ได้รับเงินปันผล อันนี้เงื่อนไขคือ ธุรกิจต้องมีกำไรสะสม

อีกทางนึงก็คือ การที่มูลค่าหุ้นสูงขึ้น เช่น หุ้นของบริษัทอาจมีราคาหุ้นตราไว้ 100 บาท วันดีคืนดีเปิดขายในตลาดหรือมีแมวมองมาขอซื้อตีราคาตลาดไว้ที่ 200 บาทต่อหุ้น ถ้าเราขายหุ้นนี้ไปปุ๊บส่วนต่อก็เป็นกำไรจากการขายนั่นเอง ซึ่งกรณีนี้มีปัจจัยมาเกี่ยวข้องหลายๆ อย่างนะไม่ใช่แค่กำไรอย่างเดียวค่ะ

เช่น Start-up ที่เราเห็นมูลค่าหุ้นเยอะๆ บางครั้งพวกเค้าอาจจะยังไม่มีกำไรจากการดำเนินงานเลยด้วยซ้ำ แต่มีฐานลูกค้าเยอะเลยมีมูลค่าสูง เพราะคนตีราคามองไปถึงอนาคตข้างหน้าไม่ใช่แค่งบการเงินปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นธุรกิจ SMEs กว่าจะไปถึงจุดที่ 2 ที่เราทำกำไรจากการขายหุ้นได้เป็นกอบเป็นกำอาจจะยากนิดนึง ถ้าไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์

ควรคาดหวังปันผลสูงๆ จากบริษัทใช่ไหม
ควรคาดหวังปันผลสูงๆ จากบริษัทใช่ไหม

เพราะฉะนั้น โดยสรุปแล้ว ถ้าทำธุรกิจแบบ SMEs ไม่ได้คิดจะไปขายหุ้นในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ก็ย่อมคาดหวังปันผลสูงแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องบาลานซ์ด้วยว่าบริษัทจะไม่ขาดสภาพคล่องนะโดยเช็คจาก 3 เรื่องนี้: เงินปันผล คืออะไร ต้องจ่ายหรือไม่ ก่อนจ่ายต้องรู้อะไรบ้าง

สรุป

ข้อคิดก่อนจ่ายปันผลสั้นๆ อย่าลืมว่า ก่อนจ่ายปันผลต้องเข้าใจเสียก่อนว่ามันคืออะไร และทำให้บริษัทมีกำไรสะสมก่อนที่จะจ่ายปันผลค่ะ ไม่เช่นนั้นขั้นตอนที่เล่ามาทั้งหมดจะไม่มีความหมายเลยนะคะ

มีกำไรสะสมเยอะ อยากจ่ายปันผลแต่ไม่รู้เริ่มต้นอย่างไร ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ