ทำธุรกิจมาแล้วหลายปี ผลประกอบการก็เหมือนจะดี แต่ทำไมไม่เคยได้เงินตอบแทนเลย
เหตุผลที่เจ้าของธุรกิจไม่เคยได้เงินตอบแทน ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะ เราไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้ตัวเองเลยน่ะสิ
เอ.. แล้วเงินปันผลมันคืออะไร ก่อนจ่ายออกไปต้องเช็คเรื่องอะไรบ้าง
วันนี้ Zero to Profit จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
ก่อนอื่น ต้องอธิบายกันก่อนว่า เงินปันผลเนี่ยมันคืออะไร
เงินปันผล คือ การปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ตอนเปิดบริษัท เราและเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนได้เอาเงินส่วนตัวไปลงทุนในหุ้นของบริษัทเพื่อเป็นเงินตั้งต้นไว้ พอเวลาผ่านไปพอธุรกิจมีกำไร ธุรกิจก็ปันผลกำไรให้เราเป็นเงินตอบแทนในรูปแบบที่เรียกว่า เงินปันผลนั่นไงล่ะ
ที่นี้ก่อนจะจ่ายเงินปันผลเจ้าของธุรกิจจะต้องเช็คข้อมูลอะไรบ้าง เราขอสรุปมาให้ 3 ข้อ ตามนี้
1.ต้องมีกำไรสะสม
ถ้าอยากจ่ายเงินปันผล จะต้องมีกำไรสะสม
คำว่ากำไรสะสมในที่นี้ หมายถึง กำไรที่สะสมมาตั้งแต่เปิดกิจการ ว่าทำธุรกิจมาแล้วมีส่วนที่เกินจากทุนมามากน้อยขนาดไหน
ยกตัวอย่างเช่น
ปีที่ 1 ขาดทุน 2 ล้าน
ปีที่ 2 กำไร 1 ล้าน
กำไรสะสม ณ ปลายปีที่ 2 จะเท่ากับ = -2 ล้าน + 1 ล้าน = -1 ล้าน (ขาดทุนสะสม)
ถ้าติดลบแบบนี้เราจะเรียกว่า ขาดทุนสะสม และแม้ว่าปีที่ 2 จะมีกำไร 1 ล้านบาทก็ตาม ธุรกิจก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลออกไปได้จนกว่า จะเคลียร์รายการขาดทุนสะสมให้หมดก่อน
ยกตัวอย่างเช่น
ปีที่ 3 มีกำไรเพิ่มมา 2 ล้าน
กำไรสะสม ณ ปลายปีที่ 3 จะเท่ากับ = -2 ล้าน + 1 ล้าน + 2 ล้าน = 1 ล้านบาท
ปลายปีที่ 3 ธุรกิจจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สบายๆ เพราะมียอดกำไรสะสมเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะจ่ายเงินปันผลได้ทั้งหมด เพราะต้องไปเช็ค 2 ต่อกันต่อเลย
2.เช็คเงินสำรอง
แม้จะมีกำไรสะสมมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าจะจ่ายเงินปันผลออกจากกำไรสะสมได้ทั้งหมด 100% นะ เพราะว่ากิจการต้องกันเงินสำรองส่วนนี้เอาไว้ด้วยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า…
“ทุกคราวที่บริษัทแจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วน (5%) ของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบ (10%) ของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท”
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น
กำไรที่จะจ่ายเงินปันผล 1 ล้านบาท
ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
ปีนี้ถ้าจ่ายเงินปันผลจะต้องจัดสรรเป็นเงินสำรอง = 5%x1 ล้าน = 50,000 บาท และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆทุกปีจนกว่ายอดเงินสำรองตามกฎหมายจะถึง 10% ของทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท = 200,000 บาท
หลายคนเข้าใจผิดว่าเงินสำรองนี้ จะเป็นเงินส่วนที่เสียไปโดยไม่ใช่ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเงินของธุรกิจไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่สำรองไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้นเอง
3.เช็คเงินสด
ข้อนี้สำคัญมากเลยก่อนจะจ่ายเงินปันผล เพราะแม้ว่าเราจะมียอดกำไรสะสมเยอะ จ่ายเงินปันผลได้เยอะก็จริง แต่ในธุรกิจเองแล้วก็ยังต้องมีเงินสดให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเงินสดที่ต้องกันไว้ในธุรกิจอย่างเพียงพอ เช่น
- จ่ายหนี้ในอนาคต
- จ่ายค่าใช้จ่ายประจำเดือน
- จ่ายค่าเพื่อลงทุนในโรงงาน
รายจ่ายทั้งหมดนี้ควรต้องหักออกจากยอดเงินสดคงเหลือทั้งหมดก่อนที่เราจะเริ่มต้นจ่ายเงินปันผล
เพราะบางครั้งธุรกิจเราอาจไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเพียงพอ เพื่อคืนกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้มากมาย
ถ้ายังอยู่ในช่วงตั้งตัว เริ่มต้นธุรกิจ การคิดให้รอบก่อนจ่ายปันผลก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ
สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจว่าปีนี้จะจ่ายเงินปันผลเท่าไร คงไม่ใช่เพียงแค่การดูกำไรประจำปีเท่านั้น เพราะยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องสนใจ และใส่ใจไม่แพ้กันก่อนจ่ายเงินปันผลออกไป
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit