ในยุคที่ Marketplace กำลังมาแรง มีฐานลูกค้าเยอะที่สุดในตอนนี้ ทำให้แม่ค้าออนไลน์หลายคนทยอยเข้าไปเปิดร้านค้าออนไลน์ที่ Shopee และ Lazada กันมากขึ้น
แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า Lazada ก็มีค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องชำระด้วย และความไม่รู้นี่ล่ะค่ะ อาจนำไปสู่การวางแผนที่ผิดพลาดจนรู้สึกตายทั้งเป็น เข้าเลือดเข้าเนื้อแบบเลือดไหลซิบ ๆ ได้เลยค่ะ
ถ้าแม่ค้าออนไลน์คนไหนไม่อยากเจอปัญหานี้ล่ะก็ บทความนี้เราเอาค่าใช้จ่าย ขายของบน Lazada ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง? มาฝาก บอกเลยว่าแม่ค้าออนไลน์ห้ามพลาดเด็ดขาด
ขายของ Lazada ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง?
ในเบื้องต้น เราต้องรู้ก่อนว่า ขายของใน Lazada จะมีค่าธรรมเนียมที่พ่อค้าแม่ค้าหลายคนต้องจ่ายหลายส่วนด้วยกัน โดยจะหักจากรายได้ทุก ๆ รอบบิล และมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้
ค่า lcp fee lazada คืออะไร?
Lazada Cashback Program Fee หรือค่า LCP Fee Lazada คือ ค่าธรรมเนียมโปรแกรม Daily Cashback ของ Lazada ซึ่งจะมีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3% ของราคาขายสินค้า
ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง?
Lazada มีค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้มีแค่ค่าคอมมิชชั่นส่วนเดียวอย่างที่หลายคนคิดนะ แต่จริง ๆ แล้วจะมีค่าธรรมเนียมหลายส่วนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็น
- Payment Fee เป็นค่าธรรมเนียมรูปแบบหนึ่งที่เรียกเก็บจากผู้ขาย เมื่อการจ่ายด้วยบัตรเครดิตเพื่อซื้อของใน Lazada โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2% ของราคาขายสินค้า
- Commission Fee เป็นค่าธรรมเนียมอีกหนึ่งรูปแบบที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน เช่น ขายเฟอร์นิเจอร์จะโดนค่าธรรมเนียม 8-10% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ที่ 1-2% เป็นต้น
- Freeship Max Fee เป็นค่าธรรมเนียมที่เก็บจากการเข้าร่วมโปรแกรมจัดส่งสินค้าฟรี ถ้าใครไม่เห็นภาพให้นึกถึงคูปองส่งฟรี 40 บาทจากร้านค้าที่ลูกค้าจะกดใช้ โดยจะมีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4% ของราคาสินค้า 1 ยอดไม่เกิน 200 บาทต่อชิ้น
ค่าการตลาด
นอกจากค่า LCP Fee Lazada กับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว ขายของบน Lazada ค่าธรรมเนียมอีกอย่างที่อาจต้องเสียเพิ่มเติมด้วย ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดให้กลุ่มลูกค้าเห็นร้านค้าออนไลน์ของตัวเองมากขึ้น โดยวิธีที่แม่ค้าหลายคนนิยมชอบใชัมักจะทำ Affiliate ซึ่งเป็นการขายของผ่านพาร์ตเนอร์ (นายหน้า) ของ Lazada ที่จะต้องนำสินค้าที่เข้าร่วมแคมเปญไปโปรโมตตามช่องทางต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ การทำ Affiliate บน Lazada จึงมีค่าธรรมเนียมส่วนนี้เข้ามาที่เรียกว่า Affiliate Ads คือ ค่ายิงแอดโฆษณาโปรโมทสินค้าผ่านทางพาร์ตเนอร์ โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำอยู่ที่ 4% ของราคาสินค้าที่ขาย
ค่าขนส่ง
ส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาจากการใช้บริการขนส่ง Lazada Express เพื่อเป็นตัวเลือกของร้านที่ช่วยเพิ่มยอดขาย และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยจะมีบิลเรียกเก็บจากแม่ค้าออนไลน์ว่าในรอบ 7 วันที่ผ่านมามีค่าขนส่งสินค้าที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ โดยแต่ละยอดจะมีราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสินค้า ระยะทางขนส่ง และประเภทของโปรโมชันที่ใช้
วิธีการคำนวณค่าธรรมเนียม Lazada เป็นยังไง Update ล่าสุด เช็กตรงไหน?
เมื่อพ่อค้าแม่ค้าทุกคนรู้กันแล้วว่า เวลาขายของบน Lazada ค่าธรรมเนียมของแต่ละรายการมีอะไรบ้าง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าค่าธรรมเนียมยอดนี้มีที่มาจากไหน เรามีวิธีคำนวณง่าย ๆ ฉบับอัปเดตล่าสุดมาฝากกัน โดยมีรายละเอียด คือ
LCP Fee Lazada: อัตราค่าธรรมเนียม 3% ของราคาขายสินค้าต่อชิ้นสูงสุดไม่เกิน 100 บาท
Payment Fee: อัตราค่าธรรมเนียม (2%) x ราคาสินค้ากรณีลูกค้าชำระผ่านบัตร
Commission Fee: อัตราค่าธรรมเนียม x ราคาสินค้า
Affiliate Ads: อัตราค่าคอมมิชชั่นที่จะจ่ายให้ partner x ราคาสินค้า
ค่าขนส่ง: ค่าขนส่งคำนวณจากน้ำหนักสินค้า x อัตราค่าขนส่งของ Lazada ที่แม่ค้าต้องรับผิดชอบ
ค่าใช้จ่ายที่ Lazada เรียกเก็บ บันทึกบัญชียังไง?
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีหน้าร้าน หรือเป็นร้านค้าออนไลน์ ก็ต้องมีการบันทึกบัญชีเสมอเพื่อใช้ในการชำระภาษี ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บจากการขายของบน Lazada จะบันทึกเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการขายของงบการเงิน ซึ่งจะแตกต่างจากต้นทุนขายที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ติดตัวสินค้ามาแต่แรกในสภาพที่พร้อมขาย
วิธีบันทึกบัญชีร้านค้าออนไลน์จะมีหลักการง่าย ๆ คือ เราจดข้อมูลบัญชีเป็นงบกำไรขาดทุน ที่มีสมการในการคิด คือ รายได้ – รายจ่าย = กำไร ซึ่งรายจ่ายของงบนี้ก็คือค่าใช้จ่าย 3 ส่วนคือ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหารนั่นเอง
สมมติในรอบบิลนี้เราได้เงินจาก Lazada เท่ากับ 1,000 บาท เราต้องไปดูในรายละเอียดแยกว่าเป็นรายได้เท่าใด และเป็นค่าใช้จ่ายในการขายแต่ละประเภทเท่าไรกันบ้าง เช่น
- รายได้จากการขายสินค้า 1,430 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการขาย จำนวน 430 บาท ประกอบด้วย
- LCP Fee Lazada: 30 บาท
- Payment Fee: 200 บาท
- Commission Fee: 150 บาท
- Affiliate Ads: ไม่มี
- ค่าขนส่ง: 50 บาท
- ทำให้สุดท้ายได้รับเงินจาก Lazada เท่ากับ 1,430 – 430 = 1,000 บาท
นอกจากนี้ ถ้าสมมติให้ต้นทุนสินค้าเท่ากับ 500 บาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารร้านอื่นๆ เท่ากับ 200 บาท
แม่ค้าจะมีกำไรทั้งสิ้นเท่ากับ = รายได้ 1,430 – ค่าใช้จ่าย (500 + 430 + 200) = 300 บาท
สรุปขายของออนไลน์ Lazada ต้องเข้าใจค่าใช้จ่ายยังไงบ้าง
จะเห็นว่า สิ่งแรกก่อนที่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนต้องเข้าใจ และคิดเผื่อก่อนว่า หากไปขายของออนไลน์บน Lazada จะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเสมอ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ค่า lcp fee lazada ค่า Payment Fee ค่า Commission Fee ค่า Freeship Max Fee ค่า Affiliate Ads และค่าขนส่ง โดยจำนวนเงิน 1 ยอดที่แตกต่างกันมาจากสูตรการคำนวณค่าใช้จ่ายที่แตกต่าง
ที่สำคัญ อย่าลืมนะ รายได้ – รายจ่ายที่เกิดขึ้นในร้านค้าออนไลน์ ต้องมีการจดบันทึกบัญชีให้เรียบร้อย เพราะค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายใน Lazada ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการขาย สามารถนำไปใช้ยื่นภาษีได้นั่นเองค่ะ
โดยสรุปแล้ว แม้การเปิดร้านค้าออนไลน์ใน Lazada จะทำได้ง่ายและช่วยเพิ่มช่องทางขายสินค้าให้เราได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องความเข้าใจนอกเหนือจากว่าจะเปิดร้านยังไง และจะขายอะไร คงหนีไม่พ้นว่า เรามี ค่าใช้จ่ายในการขายอะไรบ้าง? เพื่อให้เรามันใจว่าเปิดร้านแล้วจะมีกำไรปังๆ ไม่ใช่ขาดทุนแบบพังๆ นะคะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีขายของออนไลน์ ติดต่อ Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/zerotoprofitTH
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit