เปิดร้านค้าออนไลน์ค่าใช้จ่ายประจำเดือนก้อนโตที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามก็คือ ค่าใช้จ่ายในการขาย
หลายคนเข้าใจว่าแค่ขายของให้ได้เยอะๆ มันก็น่าจะจบแล้วจริงไหม…
แต่ในชีวิตจริงมันอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างงั้นน่ะสิ เจ้าของร้านค้าออนไลน์ต้องใส่ใจค่าใช้จ่ายหลักๆ อย่างค่าใช้จ่ายในการขายด้วย
เอ..แล้วค่าใช้จ่ายที่ว่ามันคืออะไรกันนะ เรามาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันเลย
1. ค่าใช้จ่ายในการขายคืออะไร?
ตามความหมายทางบัญชีแล้ว มันก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขาย (นิยามมาแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์เลย T T)
เอาใหม่ ค่าใช้จ่ายนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดเพื่อให้ขายสินค้าได้ หรือเพื่อให้ยอดขายเพิ่ม (ดูเข้าใจง่ายขึ้นหน่อย)
ตามคอนเซพท์แล้วยิ่งเราจ่ายค่าใช้จ่ายนี้มากขึ้นเท่าไร เราก็ควรจะมียอดขายกลับคืนมามากขึ้นเท่านั้น
2. ค่าใช้จ่ายในการขายต่างกับต้นทุนขายยังไง?
ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ตรงที่ว่า ต้นทุนขายนั้น เป็นค่าใช้จ่ายติดตัวสินค้ามาแต่แรกหรือเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้สินค้านั้นอยู่ในสภาพพร้อมขาย
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราเปิดร้านขายเสื้อสกรีน ต้นทุนสินค้าจะมีตั้งแต่ค่าเสื้อ ค่าออกแบบลายสกรีน แล้วก็ค่าบล็อกสกรีน เป็นต้น นึกง่ายๆ ว่าถ้ามีเสื้อขาว 1 ตัวอยากจะทำให้มันออกมาเป็นสินค้าเสื้อสกรีนสวยๆ 1 ชิ้นบ้างเราต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง
และถ้าตัดตอนที่เสื้อสกรีนผลิตเสร็จพร้อมขายแล้ว ต่อจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของค่าใช้จ่ายการขาย
ยกตัวอย่างเช่น
เสื้อสวยมากแต่ขายไม่ออก เลยต้องเสียเงินจ้างช่างภาพถ่ายรูป จ้างกราฟฟิกทำโฆษณา ฯลฯ จ่ายไปจนกว่าสินค้าชินนี้จะเป็นที่รู้จักและขายได้
ฉะนั้น ถ้าใครสังเกตดีๆ ก็จะพบว่า มันมีเส้นบางๆ ระหว่างกันซ่อนอยู่คือ จุดที่ของผลิตเสร็จพร้อมขายนั่นเอง ถ้าเกิดค่าใช้จ่ายก่อนจุดนี้จะถือเป็นต้นทุนขาย และเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายหลังจุดนี้ก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายการขาย
3. อยู่ตรงไหนในงบการเงิน?
ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของธุรกิจที่ติดตาม Zero to Profit มาสักพักแล้วอาจจะพอคุ้นหูกับงบกำไรขาดทุนอยู่บ้าง
งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของธุรกิจว่าทำได้ดีมีกำไรมั้ย
งบนี้เองเกิดจากสมการอมตะที่ว่า รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร
ค่าใช้จ่ายการขายก็เป็นส่วนนึงของค่าใช้จ่าย ที่แสดงในบรรทัดรองลงมาจากต้นทุนขาย เพราะอะไรน่ะหรอ
สาเหตุเพราะ ต้นทุนขายนั้นมีสัดส่วนสูงกว่าแล้วก็มีความสำคัญกว่าเลยถูกจัดประเภทไว้บรรทัดบนๆ ไงล่ะ
แต่ก็ใช่ว่าค่าใช้จ่ายการขายจะไม่สำคัญเสมอไป เพราะว่ายังไงก็ตามมันก็เป็นส่วนนึงในการขับเคลื่อนร้านค้าและช่วยสร้างผลกำไรขึ้นมาได้เช่นกัน
4. ตัวอย่างค่าใช้จ่าย ร้านค้าออนไลน์
ส่วนใหญ่แล้วร้านค้าออนไลน์น่าจะมีค่าใช้จ่ายการขายแผงตัวอยู่เยอะ และบางที่เราก็ลืมนึกไปว่า อัยหยา…เยอะแบบนี้ขายยังไงก็ไม่คุ้มนี่นา
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในร้านออนไลน์ทั่วไป เช่น
- ค่าขนส่ง (กรณีที่แม่ค้าจ่ายเอง ไม่เก็บกับลูกค้า) เช่น ค่าไปรษณีย์, Kerry, Flash, J&T Express ค่าขนส่งพวกนี้คิดตามน้ำหนักและขนาดของกล่อง
- ค่าโฆษณา ขายของออนไลน์ก็ต้องมีโปรโมทสินค้ากันบ้าง ผ่านทาง Facebook, IG, Tiktok ฯลฯ ตอนกดโปรโมทส่วนใหญ่จะผูกกับบัตรเครดิตไว้ แต่ทำบัญชีสิ้นเดือนมักลืมเอาค่าใช้จ่ายตัวนี้มีรวมด้วย
- ค่ารีวิวสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอย่างเครื่องสำอางค์หรืออาหาร ต้องมี influencer รีวิวถึงจะขายดี
- แจก แถมสินค้า แม้จะไม่เสียเงินสักบาท แต่เรามีต้นทุนสินค้า ที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายเหมือนกันนะ
- ค่าคอมมิชชั่น ถ้าขายอาหาร ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นที่เรียกว่า GP ให้ Grab, Food Panda ซึ่งบางที่สูงกว่า 30% แต่ถ้าขายของออนไลน์ใน Shopee ค่าคอมมิชชั่นนี้เค้าจะหัก 3-5% ทันทีที่ขายของได้
5. ตัวอย่างบิลค่าใช้จ่ายขายของออนไลน์?
แม่ค้าคนไหนที่ไม่มีเว็บไซด์หรือเฟสบุ๊คเป็นของตัวเอง Lazada ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เรามักจะเอาของไปวางขาย แล้วรู้หรือไม่ เราเองก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายการขายให้กับ Lazada แพงไม่ใช่น้อย ถ้าใครสงสัยว่าการวางขายของในแพลตฟอร์ม Lazada จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างลองมาดูตัวอย่างบิลที่เราจะโดนเรียกเก็บทุกๆ รอบชำระเงินกัน
1. ค่าขนส่ง
บิลนี้จะเรียกชาร์ตแม่ค้าออนไลน์เฉพาะค่าขนส่งล้วนๆ ที่คิดจากน้ำหนักสินค้าคูณอัตราค่าขนส่งของ Lazada ที่แม่ค้าต้องรับผิดชอบ ซึ่ง Lazada จะสรุปยอดให้เราทุกครั้ง
2. ค่าบริการ
บิลนี้เป็นค่าบริการทุกอย่างที่ Lazada หักจากเราเป็น ถือเป็นส่วนนึงของค่าใช้จ่ายการขายเช่นกัน และแน่นอน Lazada ก็จะสรุปยอดมาให้เป็นรอบบิลเช่นกันว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรเท่าไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น
- Payment Fee คือ ค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เรียกเก็บจากผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าผ่าน Lazada โดยจะคิดเฉพาะคำสั่งซื้อที่สำเร็จเท่านั้น อัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2% ของราคาสินค้า ถ้าลูกค้าชำระผ่านบัตรหรือให้เก็บเงินปลายทาง
- Commission Fee คือ ค่าธรรมเนียมการขาย มีอัตราต่างกันไปตามสินค้า
- Affiliate Ads คือ ค่ายิงแอดโฆษณาโปรโมทสินค้าที่ขายใน Lazada ผ่านทางพาร์ทเนอร์ของ Lazada
- Freeship Max Fee คือ ค่าใช้จ่ายจากการเข้าร่วมโปรแกรมส่งฟรีกับ Lazada
- LCP Fee คือ คือ ค่าใช้จ่ายจากการเข้าร่วมโปรแกรมให้ Cash Back ลูกค้า
ทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เราโดนเรียกเก็บอยู่ทุกขณะจิตที่มีสินค้าวางอยู่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่ตอนกดทำโปร ระหว่างขายสินค้า ลูกค้าโอนตังค์ ไปจนถึงการขนส่งถึงมือลูกค้า ถ้าใครอยากเช็คต่อว่าวิธีการคำนวณเป็นอย่างไรและมีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้บ้าง แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: ขายของ Lazada มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจว่าเงินพวกนี้ที่เราโดนชาร์ตไปเป็นค่าใช้จ่ายนะ อีกสิ่งนึงที่อยากให้ทุกคนลองวิเคราะห์ก็คือ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต่อเดือนมีจำนวนเท่าไร มันเยอะไปไหมถ้าเทียบกับรายได้ และเราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ร้านค้าออนไลน์ของเรามีกำไรหลังจากจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ดี
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/zerotoprofitTH
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit