นายจ้างยื่นประกันสังคมไหม กองทุนเงินทดแทนคืออะไร ขึ้นทะเบียนทำยังไง

นายจ้างยื่นประกันสังคมไหม กองทุนเงินทดแทนคืออะไร ขึ้นทะเบียนทำยังไง

ถ้าใครทำธุรกิจแล้วมีลูกจ้างนอกจากเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายและยื่น ภงด1 แล้ว สิ่งที่ต้องทำทุกเดือนก็คือ การขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนค่ะ

แล้วการยื่นประกันสังคมกับกองทุนเงินทดแทนมันคืออะไร ถ้าเป็นนายจ้างมือใหม่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนใดๆ เลยเราต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้ Zero to Profit จะมาแนะนำเพื่อนๆ ไปทีละ Step เลยค่ะ

เนื้อหา ซ่อน

การยื่นประกันสังคม คืออะไร?

ประกันสังคม คือ สวัสดิการที่รัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตสำหรับคนทำงานตั้งแต่ช่วงทำงานไปจนถึงเกษียณอายุค่ะ

ยื่นประกันสังคมคืออะไร
ยื่นประกันสังคมคืออะไร

ประโยชน์ที่พนักงานได้รับจากกองทุนประกันสังคมมีทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33

  1. ค่าหมอ ค่ายา ค่าทำฟัน ยามเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ
  2. ค่าเงินชดเชย กรณีทุพพลภาพ
  3. ค่าคลอดบุตร
  4. ค่านมลูก (เงินสงเคราะห์บุตร)
  5. ค่าใช้จ่ายยามตกงาน
  6. ค่าจัดงานกรณีเสียชีวิต
  7. ค่าใช้จ่ายยามเกษียณ

แม้ว่าประกันสังคมเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง แต่นายจ้าง หรือเจ้าของธุรกิจเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะว่าเราต้องขึ้นทะเบียนและส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายด้วยค่ะ

นายจ้างคือใครบ้าง มีพนักงานกี่คนต้องทำประกันสังคม

นายจ้าง คือ ผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เป็นผู้มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน

ดังนั้น ตามกฎหมายแล้ว แม้ว่านายจ้างจะเป็นบุคคลธรรมดา ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปก็จะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมเช่นกันจ้า

กรรมการและผู้ถือหุ้นขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้หรือไม่

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ทำงานให้บริษัทด้วย อาจจะสงสัยว่าตนเองนั้นมีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือไม่

ในเบื้องต้นอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจคำศัพท์ 2 คำนี้ ตาม พรบ. ประกันสังคม กันเสียก่อนค่ะ

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง

“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้าง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างกรณีที่เป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

พรบ. ประกันสังคม

ถ้าหากเป็นกรรมการผู้มืออำนาจลงนาม และเป็นผู้ถือหุ้นด้วยแล้วล่ะก็ จะเข้านิยามคำว่า “นายจ้าง” ไม่ใช่ “ลูกจ้าง”

ดังนั้น นายจ้างที่เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นก็จะไม่สามารถยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนเพื่อรับสิทธิ์ในฐานะ “ลูกจ้าง” ได้ค่ะ

กองทุนเงินทดแทนคืออะไร?

นอกจากกองทุนประกันสังคมแล้ว นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนแก่สำนักงานประกันสังคมด้วย ลองมาดูกันค่ะว่ากองทุนเงินทดแทนมันคืออะไร

กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบ อันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเงินทดแทนแต่เพียงฝ่ายเดียว จะเรียกเก็บจากนายจ้าง เป็นรายปี โดยประเมินจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน (คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี) คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการระหว่างอัตรา 0.2-1.0% โดยนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่าย ในอัตราเงินสมทบแต่ละธุรกิจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยในการทำงานค่ะ

นายจ้าง มีหน้าที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1คน

เตรียมข้อมูลอะไรบ้างก่อนยื่นประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน?

เมื่อทราบกันแล้วว่านายจ้างต้องรีบไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนภายใน 30 วันเมื่อมีลูกจ้างคนแรก ต่อมาเรามาดูข้อมูลที่นายจ้างต้องเตรียมกันค่ะ

1. แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)

พร้อมกับหลักฐานประกอบดังนี้

เอกสารขึ้นทะเบียนประกันสังคม
เอกสารขึ้นทะเบียนประกันสังคม

2. แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)

พร้อมกับหลักฐานประกอบดังนี้

  • กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03)
  • บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถแสดงตนได้
  • ใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทางหรือใบอนุญาติทำงานและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ในกรณีผู้ประกันตนเป็นชาวต่างชาติ
  • ลูกจ้าง ที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาแล้ว ให้แจ้งการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเอกสารทั้งหมดที่นี่

นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนได้ที่ไหน?

นายจ้างจะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียน และจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ณ เขตท้องที่ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่

กรณีที่นายจ้างมีหลายสาขา ต้องแจ้งรายละเอียดสถานที่ตั้งและจำนวนลูกจ้างให้ครบถ้วนด้วย

สิ่งที่นายจ้างได้รับภายหลังการขึ้นทะเบียน

  1. เลขที่บัญชี สำหรับกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้อ้างอิงในการติดต่อ
  2. ใบประเมินเงินสมทบ เพื่อแจ้งให้นายจ้างทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน พร้อมทั้งกำหนดวันที่ ซึ่งนายจ้างจะต้องนำเงินมาจ่าย
  3. หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว นายจ้างต้องทำอะไรบ้าง

1. นำส่งเงินสมทบแก่ประกันสังคม

          นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยคำนวณเงินสมทบค่าจ้างจากฐานขั้นต่ำ 1,650 บาท  และฐานสูงสุด 15,000 บาท  โดยคูณกับอัตราเงินสมทบที่ต้องนำส่ง โดยปกติแล้วอยู่ที่อัตรา 5%

นายจ้างนำส่งเงินสมทบส่วนของนายจ้างในจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างทั้งหมดถูกหักรวมกัน

ให้นายจ้างจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 ยื่นประกันสังคมภายใน วันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ตัวอย่างแบบ สปส.1-10 ประกันสังคม
ตัวอย่างแบบ สปส.1-10 ประกันสังคม

2. นำส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน

กองทุนเงินทดแทน จะเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเป็นรายปี (ปีละ 1 ครั้ง) โดยในปีแรก นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน

ปีต่อๆ ไป ต้องจ่ายภายใน เดือนมกราคมของทุกปี เงินสมทบที่เรียกเก็บต้นปี คิดมาจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ประมาณการไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างต้องแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปีของปีที่ผ่านมาให้กับสำนักงานประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจ่ายชำระส่วนต่างภายในเดือนมีนาคม

สมทบกองทุนเงินทดแทน กท. 25ค
สมทบกองทุนเงินทดแทน กท 25ค

หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะมีความผิดหรือไม่ ?

กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

และถ้านายจ้าง ส่งเงินสมทบไม่ทัน หรือ ส่งไม่ครบ จะต้องรับผิดชอบ จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งหรือ จำนวนเงินที่ขาดอยู่

สรุป มีอะไรต้องรู้เกี่ยวกับประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน
ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องต้องรู้สำหรับนายจ้างทุกท่าน ไม่ว่าจะทำธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ส่วนประกอบสำคัญของธุรกิจที่เติบโตนั้นมาจากลูกจ้างและพนักงานที่ช่วยเราทำงานค่ะ ดังนั้น การขึ้นประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนก็เป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้พวกเค้าได้รับสิทธิ์และสวัสดิการดีๆ จากภาครัฐนะคะ

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ