“เงินกองทุนทดแทน” ชื่ออาจไม่คุ้นหู แต่รู้ไหมว่า ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างต้องยื่นสิ่งนี้ทุกปีนะคะ
การนำส่งเงินกองทุนทดแทน เป็นเรื่องที่ต้องทำประจำทุกปี เพื่อส่งข้อมูลและชำระเงินให้กับสำนักงานประกันสังคม และรู้ไหมเอ่ยว่า ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ผ่านระบบ e-Wage ของสำนักงานประกันสังคมนั่นเอง ในวันนี้ Zero to Profit จะมาสอนยื่นกองทุนเงินทดแทน ออนไลน์ (e-Wage) ด้วยตัวเองทีละขั้นตอนค่ะ
เงินกองทุนทดแทนคืออะไร?
กิจการที่มีพนักงานคนแรกแล้ว นอกจากต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง ยื่นแบบสมทบประกันสังคมแล้ว นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนแก่สำนักงานประกันสังคมอีกด้วย ลองมาดูกันค่ะว่ากองทุนเงินทดแทนมันคืออะไร
กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบ อันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเงินทดแทนแต่เพียงฝ่ายเดียว จะเรียกเก็บจากนายจ้าง เป็นรายปี โดยประเมินจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน (คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี) คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการระหว่างอัตรา 0.2-1.0% โดยนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่าย ในอัตราเงินสมทบแต่ละธุรกิจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยในการทำงานค่ะ
นายจ้าง มีหน้าที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1คน
คำนวณปีละกี่ครั้งและยื่นเมื่อไหร่บ้าง
ปีแรก ถ้ามีลูกจ้างคนแรก ให้จ่ายเงินทดแทนภายใน 30 วันในปีแรก (ปกติถ้าไปขึ้นทะเบียนนายจ้าง จะถูกเรียกเก็บทันทีที่สำนักงานประกันสังคม)
ส่วนปีถัดไปนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนประจำปีทุกต้นปี พร้อมกับส่งรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงแก่สำนักงานประกันสังคมด้วย โดยมีขั้นตอน 2 ขั้นตอนดังนี้
- ครั้งที่ 1 ประกันสังคมประเมินเงินสมทบ ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ประกันสังคมจะประเมินเงินสมทบโดยจะใช้วิธีการประมาณการไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้น
- ครั้งที่ 2 นายจ้างส่งข้อมูลจริง เดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป นายจ้างต้องแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปีของปีที่ผ่านมาผ่านแบบ กท.20ก หรือระบบ e-wage ให้กับสำนักงานประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจ่ายชำระส่วนต่างภายในเดือนมีนาคม
อัตราจ่ายชำระจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะงานและการประเมินของสำนักงานประกันสังคมค่ะ
ถ้ายังสับสนอยู่ ลองดูสรุป Timeline ว่า การจ่ายเงินกองทุนทดแทน 2 ครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างไรบ้างในตารางนี้เลย
เงินกองทุนทดแทนประจำปี | ยื่นเมื่อไหร่ | คำนวณครั้งที่ 1 : สำนักงานประกันสังคมประเมิน | คำนวณครั้งที่ 2 : ผู้ประกอบการยื่นตัวเลขค่าจ้างจริง |
ปีแรก 31/1/x1 | จ่ายเงินสมทบ ภายใน 30 วัน | / | – |
ปี x1 | เดือนกุมภาพันธ์ ปี x2 | – | / ( นายจ้าง ยื่น e-Wage รายงานค่าจ้างที่เกิดขึ้นจริง ปี x1 ) |
ปี x2 | เดือนมกราคม ปี x2 | / ( ประมาณการเงินกองทุนทดแทน ปี x2 ) | – |
ปี x2 | เดือนกุมภาพันธ์ ปี x3 | / ( นายจ้าง ยื่น e-Wage รายงานค่าจ้างที่เกิดขึ้นจริง ปี x2 ) |
การเตรียมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อ ยื่น e-Wage
ระบบ e-Wage คือ ระบบการนำส่งข้อมูลการจ้างงานที่ผ่านมาในปีให้กับประกันสังคมเพื่อคำนวณเงินกองทุนทดแทนว่ามีจ่ายเพิ่มหรือได้จะได้รับเงินคืนจากที่สำนักงานประกันสังคมประมาณการไว้หรือไม่ค่ะ ซึ่งระบบนี้ใช้ทดแทนการยื่นแบบ กท.20ก ได้ (ใครยื่น e-Wage ภายในกุมภาพันธ์ของปีถัดไปแล้ว ไม่ต้องยื่น กท.20ก ซ้ำอีกนะ)
เอกสารข้อมูลที่ต้องเตรียมเพื่อยื่น e – Wage มีดังนี้
รายงานเงินเดือนและค่าจ้างทั้งปี ข้อมูลที่ควรมีดังนี้
1. รวมเงินได้ของพนักงานที่จ่ายไปทั้งปี
2. ยอดรวมที่ใช้แจ้งแบบกท.20ก คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี
3. จำนวนลูกจ้างคงเหลือเดือนธันวาคม
สอนยื่นกองทุนเงินทดแทน ออนไลน์ รายงานค่าจ้างประจำปี
- เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม เลือกสถานประกอบการ แล้วทำการเข้าสู่ระบบตาม Username Password ที่เราเคยตั้งไว้
(หากเป็นกิจการที่เพิ่งจดประกันสังคมยังไม่เคยมี Username Password ให้ขอทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนนะ สมัครตามลิงค์นี้เลย ขอทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต
2. เมื่อเข้าสู่ระบบได้แล้ว ให้เลือกที่หัวข้อ เงินกองทุนทดแทน
3. เมื่อเข้ามาหน้าเงินกองทุนทดแทน ให้เลือก e-Wage รายงานค่าจ้าง
4. กรอกรายละเอียดค่าจ้างรายวัน หรือ รายเดือนของลูกค้าที่ได้รับต่ำสุด
5. กรอกจำนวนลูกจ้างที่คงเหลือเดือนธันวาคม (ตามหัวข้อ การเตรียมข้อมูลที่จำเป็น ยื่น e-Wage)
6. กรอกค่าจ้างรายงานเงินเดือนและค่าจ้างทั้งปี คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปีนะ (ตามหัวข้อ การเตรียมข้อมูลที่จำเป็น ยื่น e-Wage)
7. ตรวจสอบข้อมูล เช็คยอดว่าต้องจ่ายเพิ่มหรือว่าได้เงินคืน หากถูกต้องแล้วให้กดยืนยัน
8. จากตัวอย่างจะมียอดจ่ายชำระเพิ่มเติม ให้ดาวน์เอกสารเพื่อเตรียมจ่ายชำระเงิน
9. นำจ่ายช่องทางตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ภายในเดือนมีนาคม ห้ามลืมนะ
บทสรุป
การยื่นกองทุนเงินทดแทน ออนไลน์ ผ่านช่องทาง e-Wage เตรียมข้อมูลไม่กี่อย่าง กรอกข้อมูลลงไประบบก็คำนวณให้เราได้เลย e-Wage เกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เราขนาดนี้ เราในฐานะนายจ้าง อย่าลืมส่งเงินกองทุนทดแทนให้ทันเวลากันนะ เพราะนี่เป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้กับพนักงานของเรา ได้รับสิทธิ์และสวัสดิการดีๆ จากภาครัฐนะคะ หากเกิดเหตุด่วน เหตุร้ายจากการทำงานที่ไม่คาดฝันขึ้นมา สิทธิ์และสวัสดิการจากภาครัฐเหล่านี้ ช่วยคุ้มครองและเยียวยาลูกจ้างได้ดีเลยทีเดียวค่ะ