ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่คล่อง ปัญหาสินค้าล้นสต๊อกก็เป็นปัญหาใหญ่ที่เจ้าของกิจการหลายๆ คนต้องเผชิญ
นอกจากจะขายสินค้าไม่ได้ รายได้ไม่เข้าแล้ว เจ้าของกิจการต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจตามมาเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเก็บสต๊อกเยอะเกินไปมีอะไรบ้าง จะเหมือนกับที่เพื่อนๆ คิดไว้ไหม ลองมาดูกัน
1. ค่าพื้นที่
การมีสต๊อกในปริมาณที่มากย่อมหมายถึงค่าพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าของคลังสินค้าเอง หรือไปเช่าพื้นที่เพื่อเก็บสินค้า ทุกๆ ตารางเมตรที่เราใช้ ย่อมมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่เสมอ ทั้งค่าไฟ ค่าระบบรักษาความปลอดภัย พนักงานคลังสินค้า และยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ผลไม้แช่แข็งต้องเก็บที่เย็นพิเศษ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างค่าห้องเย็น เป็นต้น
2. ค่าประกันภัย
ถ้าอยากคุ้มครองความเสี่ยงสินค้า ทั้งจากน้ำท่วม ไฟไหม้ หรือโรงงานถล่ม ก็ต้องยอมจ่ายค่าประกันภัยสินค้าเหล่านี้ไว้ก่อน ซึ่งปัจจัยหลักที่กำหนดว่าเราต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยสินค้ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับมูลค่าสินค้าคงเหลือ ถ้าหากมูลค่าสินค้าคงเหลือมีปริมาณสูงมาก แน่นอนว่าค่าเบี้ยประกันภัยก็ต้องสูงไปตามๆ กัน
3. ค่าทำบัญชีและการตรวจสอบ
รู้หรือไม่ว่าค่าบัญชี นักบัญชีมักคิดจากเวลาที่ใช้และความยากง่ายในการทำงานของพวกเค้า และยิ่งเจ้าของกิจการมีสต๊อกสินค้าคงเหลือจำนวนมากๆ นักบัญชีก็ยิ่งมีงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีก็อาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงตอนปลายปีก็ต้องมีการตรวจสอบและนับสินค้าคงเหลือ ยิ่งถ้ามีสินค้าเก็บไว้ในหลายสถานที่ ก็เสียค่าใช้จ่ายและเวลาไม่ใช่น้อย
4. ขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ
สินค้าค้างสต๊อก เมื่อเวลาผ่านไปอาจเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุ ไม่สามารถขายให้ลูกค้าได้ หรือในบางครั้งต้องยอมตัดใจขายแบบขาดทุน คำว่าขาดทุนในที่นี้คำนวณจากสูตรนี้
ขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพ = ต้นทุนสินค้า – ราคาซากที่ขายได้
การขาดทุนจากสินค้าเสื่อมสภาพถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายเช่นกัน ยิ่งสินค้าบางชนิดเสื่อมสภาพมากๆ ขายราคาซากไม่ได้ นอกจากจะขาดทุนเต็มจำนวนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการจ้างทำลายสินค้าเพิ่มเติมอีกต่างหาก
สุดท้ายแล้ว หลักคิดที่ว่ามีสินค้าไว้ยังไงก็เป็นทรัพย์สินของกิจการ คงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องเสมอไป
เพราะถ้าเราระบายสินค้าได้ไม่ดีพอ สินค้าที่ว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จะเป็นทรัพย์สินของบริษัทโดยไม่รู้ตัว
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit