เคล็ดลับ! แอบส่องคู่แข่งแบบฟรีๆ (เจ้าของธุรกิจไม่ควรพลาด)

เคล็ดลับ! แอบส่องคู่แข่งแบบฟรีๆ (เจ้าของธุรกิจไม่ควรพลาด)

อะไรเอ่ย…ถึงแม้ไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ แต่ก็แอบมองเค้าอยู่ทุกวันนะ

คำตอบ คือ คู่แข่งไงล่ะ…

ใครเป็นเหมือนกันบ้าง ทำธุรกิจแล้วแอบส่องคู่แข่งอยู่บ่อยๆ เพราะอยากรู้ว่าเค้าเป็นยังไง แล้วเราจะทำยังไงกับธุรกิจเราให้ดีขึ้นกว่าเค้าได้บ้าง

ถ้าใครตกอยู่ในสถานการณ์นี้อยู่ คอนเทนต์นี้น่าจะเหมาะกับคุณค่ะ เพราะเราจะสอนวิธีเผือกคู่แข่งแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยสักนิด

ทำไมเราต้องรู้จักคู่แข่งด้วย?

มีคนกล่าวไว้ว่า “คู่แข่ง” เปรียบเสมือนคุณครูที่สอนให้เรารู้ว่า จะเก่งขึ้นได้ยังไง

แล้วสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากคู่แข่งในเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น

  • เค้าตั้งอยู่ไหน – เพื่อดูว่าทำเลร้านค้า หรือศูนย์บัญชาการเค้าเป็นอย่างไร?
  • ใครเป็นเจ้าของ – จะได้ไปเผือกต่อว่าเค้าเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง
  • เงินลงทุนเท่าไร – ถ้าอยากลงทุน เราจะต้องใช้เงินเท่าไร
  • งบการเงินเป็นอย่างไร – ตัวนี้สำคัญสุดๆ เพราะมันช่วยบอกว่าคู่แข่งเจ้านี้กำไรดีมั้ย และมีฐานะการเงินดีหรือป่าว

.

วิธีรู้จักคู่แข่ง 3 เรื่องฟรีๆ จาก DBD Datawarehouse

วิธีการดูข้อมูลของคู่แข่งแบบฟรี ที่นักบัญชีรู้ แต่เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจจะยังไม่รู้ ก็คือ การดูข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) คือ หน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงพาณิชย์ที่ทุกธุรกิจต้องไปจดทะเบียนที่นั่น และนำส่งข้อมูลงบการเงินเป็นประจำทุกปี

ฉะนั้น ไม่แปลกใจเลยใช่ไหม ที่ทำไม DBD จึงมีข้อมูลของคู่แข่งเรา (และข้อมูลของเรา) แสดงบนหน้าเว็บไซด์ DBD Datawarehouse ได้

ลองเข้าไปดูได้ตรงลิงก์นี้เลย แล้วใส่ชื่อหรือเลขที่นิติบุคคลของบริษัทคู่แข่งลงไปได้เลย

https://datawarehouse.dbd.go.th/

สมมติว่าถ้า Zero to Profit อยากทำธุรกิจจับคู่คนส่งอาหารให้ลูกค้า คู่แข่งสำคัญเราน่าจะเป็น Lineman เราเลยลองใส่ชื่อ “ไลน์แมน” ลงไปในช่องค้นหาเลย

จากนั้น เราจะรู้ข้อมูลต่างๆ ของคู่แข่งตามนี้

1.รู้ข้อมูลคู่แข่งเบื้องต้น

รู้อะไร: ที่อยู่ วันที่เริ่มจดทะเบียน ทุนจดทะเบียน คณะกรรมการ และวัตถุประสงค์บริษัท

คิดต่อ: ถ้าจะลงทุนในธุรกิจนี้ ไซด์ใหญ่เท่านี้ ต้องมีทุนจำนวน 20 ล้านบาทเลยนะ และกรรมการบริหารก็ดูมีประสบการณ์ช่ำชองในธุรกิจอาหารเลยล่ะ

2.ดูงบย้อนหลัง 5 ปี

ฟังก์ชั่นนี้เป็นฟังก์ชั่นที่น่าเลิฟสุดๆ เพราะเราสามารถส่องข้อมูลงบการเงินของคู่แข่งได้ 5 ปีย้อนหลัง สำหรับ 2

งบ ได้แก่

  • งบแสดงฐานะการเงิน = บอกว่าฐานะคู่แข่งเป็นยังไง ยิ่งมีสินทรัพย์ > หนี้สิน ยิ่งดี
  • งบกำไรขาดทุน = บอกว่าเค้าบริหารธุรกิจได้เก่งมั้ย มีกำไรมากหรือเปล่า

จากการส่องดูเบื้องต้น

  • งบแสดงฐานะการเงิน = แม้ว่าสินทรัพย์จะเติบโตก้าวกระโดดจากปี 62 ไป 63 แต่ว่าธุรกิจยังมี สินทรัพย์ < หนี้สินอยู่ แปลว่า เปิดมาสองปี ส่วนของเจ้าของยังไม่เพิ่ม (ยังไม่ได้ทุนคืน)
  • งบกำไรขาดทุน = แม้ว่ารายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 62 ถึง 63 แต่ก็ยังมีผลขาดทุนติดลบอยู่

เอ..ทีนี้เราอาจจะต้องกลับมาคิดต่อว่า แล้วถ้าเราทำจะขาดทุนเหมือนเค้ามั้ยนะ และในช่วงเริ่มแรกเราจะทนอยู่ในสภาวะขาดทุนได้นานเท่าไร

ฟังก์ชั่นดูงบย้อนหลัง เราเลือกเปรียบเทียบได้ทั้งกับตัวเองในปีที่ผ่านๆ มา หรือกับคนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งมีประโยชน์มากๆ เลย

และเท่านี้ยังไม่พอค่ะ ซาร่า

ในเมนูนี้ยังมี “ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน” อีกด้วยนะ

  • อัตราส่วนทางการเงิน = การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างรายการต่างๆ ในงบ เพื่อตอบคำถาม 4 เรื่อง
  • ความสามารถในการทำกำไร
  • สภาพคล่อง
  • ประสิทธิภาพการดำเนินงาน
  • โครงสร้างงบการเงิน

และที่สำคัญถ้าใครอ่านอัตราส่วนพวกนี้แล้ว แปลความหมายไม่ออก DBD เค้ามีคำแปลด้านล่างให้ด้วย ถ้าใครสนใจลองเลื่อนลงไปอ่านกันได้เลย

3.การลงทุนจำแนกตามสัญชาติ

สำหรับข้อมูลส่วนนี้ จะช่วยให้เรารู้ว่าผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยเท่าไร เลยต่างชาติจำนวนเท่าไร

แล้วเรายังกดไปดูต่อได้ว่าในธุรกิจเดียวกัน เจ้าอื่นมีคนสัญชาติไหนมาลงทุนบ้าง ซึ่งนั่นหมายถึง Know-How และเงินสนับสนุนที่เราอาจจะได้รับจากคนต่างชาติ

เผลอๆ เราอาจปิ้งไอเดีย ชวนเพื่อนชาติอื่นมาลงทุนก็ได้ ใครจะไปรู้ 555

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีแอบส่งธุรกิจของคู่แข่งจากฐานข้อมูลฟรีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

แต่สุดท้ายแล้ว อย่าลืมนะว่า “การเรียนรู้” จากคู่แข่ง เป็นคนละเรื่องกันกับ “การเลียนแบบ”

ถ้าเราเรียนรู้ ธุรกิจมักจะจบลงด้วยคำว่า “ดีขึ้น” ฉะนั้น อย่าลืมเริ่มต้น “เรียนรู้” ในทุกๆ วันที่ทำธุรกิจนะคะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ