ใครที่กำลังตัดสินใจว่าจดบริษัทดีไหมนะ เราควรเริ่มต้นจดบริษัทเมื่อไร มีเรื่องอะไรที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้บ้าง ในวันนี้ Zero to Profit จะมาสรุปให้ฟังค่ะว่าสิ่งที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจสำหรับเพื่อนๆ เจ้าของธุรกิจทุกคน
จดบริษัทดีไหม เมื่อไรควรมีบริษัทเป็นของตัวเอง
ก่อนอื่นจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจคำว่า “จดบริษัท” กันสักนิด
“การจดบริษัท” คือ การเริ่มชีวิตในใหม่ในรูปแบบนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจอย่างชัดเจนค่ะ และที่สำคัญ บริษัทที่เป็นนิติบุคคลนี้ จะแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดานะ ซึ่งแปลว่า กำไรจากธุรกิจก็แยกออกจากส่วนตัวอย่างชัดเจน
การจดบริษัทมีความพิเศษตรงที่ ตอนจดเปิดมันเริ่มง่ายมาก แต่ถ้าถึงเวลาเปิดธุรกิจจริงแล้วเกิดเปลี่ยนใจอยากเลิกบริษัท คราวนี้ล่ะ ความยุ่งยากจะบังเกิดขึ้นมาทันทีค่ะ
ดังนั้น 3 สิ่งที่ควรเช็คก่อนจดบริษัท ในความเห็นของ Zero to Profit คือเรื่องต่อไปนี้
1. เปิดเพื่ออะไร
เบื้องต้น เราต้องรู้ก่อนว่าอยากเปิดบริษทเพื่อทำอะไร วัตถุประสงค์ในการเปิดบริษัทคืออะไรกันแน่ เพราะการเปิดบริษัทตามๆ คนอื่น หรือเปิดเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทนี้จะมีรายได้ไหม มาจากช่องทางไหน มีความเสี่ยงที่เราต้องปิดตัวในอนาคต และอาจทำให้ชีวิตเรายุ่งยากกว่าที่คิดค่ะ
2. ใครเป็นผู้ถือหุ้น
ด้วยความที่กฎหมายกำหนดว่า การเปิดบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน ทีนี้ เราเองก็ต้องคิดแล้วค่ะว่าใครจะมีเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกันกับเราดี
“ผู้ถือหุ้น” ในที่นี้ หมายถึง เจ้าของบริษัท มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการบริษัท / โหวตในที่ประชุม/ และได้รับเงินปันผลด้วยนะ
ดังนั้น ก่อนจะเชิญใครมาเป็นผู้ถือหุ้น เราเองในฐานะผู้ก่อตั้งคนนึง ต้องคิดให้รอบคอบว่าเราต้องการทำงานกับคนนี้จริงไหม หรือถ้าแค่ชวนเค้ามาเพราะต้องการเงินทุน เราจะให้สัดส่วนหุ้นแก่พวกเค้าเท่าไรดีค่ะ
3. เงินทุนมาจากไหน
“เงินทุน” หมายถึง เงินทั้งหมดที่ใช้ในการตั้งต้นบริษัท ซึ่งอาจจะมีมูลค่าแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าเราจะทำธุรกิจใด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นธุรกิจบริการ อาจจะไม่ต้องใช้เงินทุนมากเท่ากับธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม เพราะโรงงานอุตสาหกรรม ต้องลงทุนในโรงงาน เครื่องจักร และพนักงานจำนวนมาก
ทีนี้ พอเรารู้จำนวนเงินทุนแล้ว ต้องคิดต่อค่ะว่า เงินทุนจะมาจากแหล่งไหน เช่น มาจากผู้ถือหุ้น หรือมาจากการกู้ยืม
พอเราตัดสินใจเรื่องเงินทุนได้ การวางโครงสร้างการเงินของธุรกิจก็จะง่ายและเป็นระบบขึ้นค่ะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เจ้าของธุรกิจต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนจดทะเบียนบริษัทค่ะ
ทำธุรกิจคนเดียว จดบริษัทได้หรือเปล่า
ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าขั้นต่ำการจดบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ จดบริษัท 2 คนทำได้หรือไม่ เริ่มต้นเมื่อไร มีอะไรต้องรู้บ้าง
แต่ทว่าในชีวิตจริง มีหลายๆ บริษัทที่มีเจ้าของคนเดียว ทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวไม่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของธุรกิจคนเดียวนิยมทำกันก็คือ จดทะเบียนบริษัทโดยตนเองถือหุ้นส่วนใหญ่ และส่วนที่เหลือ อาจจะให้ญาติ หรือคนสนิทมาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นก็ได้
วิธีนี้จะทำให้เราสามารถจดทะเบียนบริษัทได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ต้องเสียอำนาจบริหารให้ใคร เพราะว่ามีหุ้น 99.99% จะโหวตกี่ครั้งก็ชนะใสๆ อยู่แล้วจ้า
ถ้ามีผู้ถือหุ้นในบริษัทต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง
ถ้าธุรกิจนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว เผอิญว่าต้องมีผู้ถือหุ้นบริษัทหลายๆ คนล่ะ จะต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง 2 มุมที่ต้องคิด คือ
1. ผู้ถือหุ้นเป็นใคร
คนที่ชวนมาเป็นผู้ถือหุ้นลำดับแรกควรมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เหมือนทำงานกลุ่ม ถ้าชวนเพื่อนที่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน มาทำงานด้วยกัน ลงขันกัน เผลอๆ อาจทะเลาะกันเปล่าๆ บางทีแค่ชวนเพื่อนที่มีเงินมาร่วมหุ้นกัน มันก็ไม่ได้เหมาะสมเสมอไปในทางปฏิบัติ เพราะคนมีเงินไม่ได้แปลว่าเค้าจะช่วยทำงานนะคะ
2. ลงทุนเท่าไร
ผู้ถือหุ้นจะลงทุนคนละเท่าใด สัดส่วนการลงทุนในหุ้นสำคัญมากค่ะ เพราะมันผันแปรโดยตรงกับส่วนแบ่งเงินปันผลที่จะจ่ายให้กรณีมีกำไร
เช่น ถ้าเราลงทุนในบริษัท 50% พอมีกำไรจะจ่ายปันผลเราก็จะได้ 50% ตามสัดส่วนที่ลงทุนในหุ้นไป รวมไปถึงอำนาจในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมด้วย ถ้ามีมากก็ยิ่งได้เปรียบในการโหวตและบริหารงานต่างๆ
ถ้าจดบริษัท ภาษีจะลดลงได้ จริงหรือเปล่า
การจดบริษัทจะลดภาษีได้จริงหรือไม่ อยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีวิธีการคิดคำนวณจากฐานภาษีที่แตกต่างกันแม้ว่าจะมีรายได้จากธุรกิจเดียวกันค่ะ
ลองมาดูภาพเปรียบเทียบกันนะ
- ค่าใช้จ่าย ในมุมมองภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือว่าตามจริง ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ แต่ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าใช้จ่ายคำนวณตามจริงเท่านั้น นั่นก็แปลว่า เราต้องมีต้นทุนในการทำบัญชีเกิดขึ้นด้วย สำหรับธุรกิจแบบจดทะเบียนนิติบุคคลบริษัทค่ะ
- ค่าลดหย่อน สำหรับบุคคลธรรมดา จะมีค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนด เช่น ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ประกัน 100,000 บาท หรือ เงินลงทุนใน SSF กับ RMF แต่ภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีค่าลดหย่อนให้ค่ะ
- กำไรสุทธิ จากการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา (เรียกว่า “เงินได้สุทธิ”) กับแบบบริษัท จึงคำนวณได้แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นตัวตั้งต้นคำนวณภาษีที่จ่ายสำหรับปีค่ะ
ดังนั้น การที่จะฟันธงได้ว่าจดบริษัทแล้วประหยัดภาษีได้จริงไหม อาจจะต้องเริ่มต้นทำบัญชีธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ สักที เพื่อที่จะรู้ว่าเรามีกำไรเท่าไร แล้วต้องเสียภาษีเท่าไรกันแน่
อัตราภาษีแตกต่างกันไหม เมื่อจดบริษัท
พอเราเข้าใจเรื่องฐานการคำนวณภาษีระหว่างบุคคลกับบริษัทแล้วว่ามีความแตกต่างกัน
ถัดมาเป็นอีกเรื่องนึงที่ทุกคนน่าจะสงสัยว่า อัตราภาษีบุคคลและอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น แตกต่างกันหรือเปล่า
ลองมาดูข้อมูลเปรียบเทียบกันแบบนี้ค่ะ
ถ้ามองแบบเผินๆ อัตราภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดอยู่ที่ 35% และจดบริษัทอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดอยู่ที่ 20%
แต่อย่าลืมนะคะว่า แม้ว่าเราจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตราต่ำกว่าก็จริง เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราต้องเสียไปหากจดบริษัทจะคุ้มค่าหรือไม่ เช่น
- ค่าใช้จ่ายจ้างนักบัญชี
- ค่าตรวจสอบบัญชีและปิดงบการเงิน
- เวลาที่ต้องเก็บรวบรวมเอกสาร
ดังนั้น หากมองเฉพาะอัตราภาษี แต่ไม่คิดเรื่องอื่นๆที่ต้องเสียไปถ้าจดบริษัท อาจติดกับดักจนตัดสินใจผิดพลาดก็เป็นได้ค่ะ
สรุปแล้ว จดบริษัทดีไหม?
โดยส่วนตัวแล้ว แนะนำว่าให้ทุกคนลองคิดไปทีละขั้นตอน เพื่อตอบคำถามเบื้องต้นให้ได้ก่อน ว่าเราจดไปทำไม มีใครเป็นผู้ถือหุ้น และจะเอาเงินลงทุนมาจากไหน จากนั้น ค่อยลองมาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ของการทำธุรกิจแบบบุคคลกับบริษัทในหลายๆ แง่มุมค่ะ ไม่ใช่แค่เรื่องอัตราภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าใช่จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเวลาที่ต้องเสียไปกับการทำเอกสาร และการบันทึกบัญชีค่ะ
ถ้าลองเปิดใจมองจากมุมที่กว้างขึ้น เราอาจจะพบคำตอบที่แท้จริงว่าเราเหมาะหรือไม่ ที่จะทำธุรกิจรูปแบบบริษัทค่ะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ ได้ที่
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit