มาต่อกันที่ตอนที่ 2 สำหรับคำถาม-ตอบยอดฮิต สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ที่สงสัยว่าต้องทำอะไรบ้างเมื่อจดบริษัท จริงมั้ยที่นักบัญชีเก่งจะช่วยลดภาษีได้ ทำไมธุรกิจไปได้ดีแต่ไม่มีเงินเหลือ วางแผนภาษีเองยังไงดี ทำธุรกิจแล้วจะวัดผลอย่างไร
สำหรับใครที่อยากรู้คำตอบ ลองอ่านสรุป ในโพสนี้ได้เลย
Q: อะไรบ้างที่ควรทำทันที หลังจากที่เปิดบริษัทของตัวเอง
A: 9 สิ่งต่อไปนี้ควรทำทันทีหลังจดบริษัท
- เปิดบัญชีธุรกิจ เพื่อแยกกระเป๋าธุรกิจออกจากส่วนตัวให้เด็ดขาด
- จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ารายได้ไม่ได้รับยกเว้น และรายได้รวมต่อปีถึง 1.8 ล้าน
- เข้าใจลักษณะธุรกิจ ว่าธุรกิจมีวงจรการค้ายังไง มีกระบวนการอะไรบ้าง
- วางระบบการขาย รับให้ง่าย ด้วยเอกสารการขายที่สมบูรณ์
- วางระบบการซื้อและค่าใช้จ่าย จ่ายให้เป็นระบบ มีคนตรวจสอบ ก่อนชำระเงินออกไป
- วางระบบสินค้า คุมสต๊อกให้อยู่ ว่ารับเท่าไร เบิกเท่าไร เหลือเท่าไร
- วางระบบเงินสด เก็บเงินปลอดภัย เป็นระเบียบ และทุกครั้งที่เบิกเงินต้องมีเอกสาร
- ทำบัญชี นอกจากจะทำตามกฎหมายแล้ว เจ้าของกิจการควรได้ประโยชน์จากข้อมูลบัญชี
- ยื่นภาษี ก่อนจะยื่นต้องรู้ว่ามีภาษีอะไรเกี่ยวกับเราบ้าง
ทั้งหมดนี้เป็น 9 สิ่งที่ควรทำทันทีหลังเปิดบริษัท เรื่องเอกสาร บัญชี และภาษี อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องไกลตัว ถ้าไม่ถนัดเรื่องนี้จริงๆ ติดต่อนักบัญชีให้ช่วยวางระบบเอกสารเหล่านี้ให้ได้นะ
Q: จริงหรือไม่ ถ้าคนทำบัญชีเก่ง บริษัทเราจะไม่ต้องเสียภาษี
A: ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่า นักบัญชีที่เก่ง คือ ต้องวางแผนภาษีเก่งด้วย จริงๆ แล้วการทำบัญชีต้องการแค่ความถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี ส่วนภาษีก็ต้องทำตามกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
ถ้าจะวัดความเก่งของการวางแผนภาษีจากนักบัญชี ก็อาจจะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะข้อมูลต้นทางมาจากผู้ประกอบการ ส่วนนักบัญชีเป็นคนบันทึกข้อมูลตอนปลายทาง
ถ้าอยากวางแผนภาษีให้ประหยัดที่สุด ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ภาษี และทำตามกฎเกณฑ์ทางภาษีให้ได้ ก่อนจะเอาข้อมูลมาให้นักบัญชีบันทึก
อย่าลืมว่า การวางแผน คือ การวางแผนไว้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องวางไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มไม่ใช่หลังที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ประกอบการเองจึงเป็นตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่นักบัญชีเท่านั้น
Q: ธุรกิจไปได้ดี แต่ทำไมไม่มีเงินเหลือ
A: สาเหตุของปัญหานี้คือ มีกำไร แต่ไม่มีเงินสด
เงินสด คือ เงินสดในมือเงินฝากธนาคารไม่ใช่กำไร เพราะกำไร เกิดจากรายได้ – ค่าใช้จ่าย บางทีรายได้ที่เกิดอาจจะเกิดจากการขายเชื่อ สุดท้ายมีกำไรก็ไม่ได้แปลว่ามีเงินสดในมือ ถ้ายังเก็บเงินไม่ได้
เจ้าของกิจการ ต้องดูแยกกัน 1) มีกำไร คือ รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 2) มีเงินสดเหลือ คือ นับเงินในมือแล้วยังมีเพียงพอใช้ มีสองเรื่องนี้ครบจึงถือว่ากิจการยังสุขภาพดีอยู่
และนอกจากจะบริหารกำไรแล้ว อย่าลืมบริหารเงินสดด้วย 3 เทคนิคนี้
- เงินสดเข้า ขายเร็ว + เก็บเงินไว
- เงินสดออก ทำยังไงเงินออกช้าลง แต่ไม่ผิดนัด เช่น ขอเครดิตเทอมเพิ่มหน่อย จ่ายเงินให้เป็นระบบ
- เงินเหลือ มีให้พอสำหรับใช้จ่ายขั้นต่ำ เช่น 2-3 เดือน (ระหว่างรอเงินเข้าจากการขาย)
Q: เจ้าของธุรกิจวางแผนภาษีเองได้หรือไม่
เจ้าของธุรกิจ เริ่มต้นวางแผนภาษีได้จะต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจเราเป็นแบบไหน และเกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง
หลักๆ แล้วภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมี 3 ตัวนี้
- ภาษีเงินได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เราจะจ่ายภาษีตัวนี้ก็ต่อเมื่อทำการค้าและมีกำไร แล้วถ้าเราพอจะรู้ว่าในแต่ละปีเราจะมีกำไรเท่าไรแล้ว คำนวณภาษีไว้ล่วงหน้าทุกๆ เดือนแล้วว่า เดือนนี้มีภาษีที่เป็นค่าใช้จ่ายเก็บไว้รอจ่ายอยู่นะ จะได้ไม่เซอร์ไพรซ์ตอนกลางปีหรือปลายปีว่า เอ ทำไมเราต้องจ่ายภาษีเยอะจัง
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องรู้ก่อนว่าเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ถ้าสมมติเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการซื้อสินค้าเข้ามา เกิดภาษีซื้อ ตัวนี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของกิจการ เพราะเราเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะสามารถนำภาษีซื้อที่จ่ายไปหักกลบกับภาษีขายได้ ทำให้ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่นำส่งสรรพากรลดลง
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป บางตัวมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องหักไว้ตามอัตรากฎหมายกำหนด
พอเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะต้องมาเริ่มวางระบบบัญชีให้
- ออกเอกสารให้ถูกต้องตามหลักที่ภาษีกำหนด
- เก็บค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน และมีเอกสารประกอบครบ
- อ่านงบการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจตลอดปีว่า ภาษีที่ต้องจ่ายปลายปีเป็นจำนวนเท่าไร
และเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการภาษีในแต่ละปี อาจจะศึกษาเพิ่มหรือปรึกษาสำนักงานบัญชีว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรที่เราสามารถใช้ได้บ้าง ถ้าเจ้าของกิจการทำได้แบบนี้ การวางแผนภาษีจะไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวอีกต่อไป
Q: ธุรกิจ “เจ๊ง หรือ เจ๊า” เราจะวัดผลได้อย่างไร
A: การทำธุรกิจ “เจ๊ง” หรือ “เจ๊า” แนะนำว่าให้เริ่มต้นจากบัญชี ทำบัญชีด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรก
จากนั้นเราจะมีงบการเงินที่สะท้อนข้อมูลตามความเป็นจริง แล้วให้ทุกคนดู 3 เรื่องนี้
- งบกำไรขาดทุน ต้องมีกำไร คือ รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย
- งบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน ต้องมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เพราะสุดท้ายแล้วความมั่งคั่งของเจ้าของธุรกิจ เราวัดกันที่ส่วนของเจ้าของที่เหลืออยู่มีมากขึ้นเท่าไร
- เงินสด มีต้องมีเข้ามากกว่าเงินออก เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง เจ๊งโดยไม่รู้ตัว
3 เรื่องที่ฝากไว้สำหรับการวัดผลธุรกิจ ถ้าเรามีกำไรพอ เงินสดพอ ความมั่งคั่งพอ การเสียภาษีเพราะมีกำไรคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราต้องกังวล
สรุปสุดท้าย
4 หัวข้อหลักๆ ที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่ต้องรู้ก่อนเริ่มจดบริษัท
1.เริ่มถูกต้อง คือ รู้ว่าเราเหมาะกับการทำธุรกิจรูปแบบไหน ถ้าจะจัดตั้งบริษัทต้องทำอย่างไร ลงทุนเท่าไร ต้องจด Vat ไหม จดทะเบียนพาณิชย์หรือเปล่า
2.ทำบัญชีให้เป็นระบบ ถ้าไม่นับว่าต้องทำบัญชีตามกฎหมาย การทำบัญชีให้เป็นระบบ มีเอกสารครบถ้วน เหมาะสม รู้ว่าเรามีรายได้ ค่าใช้จ่าย เท่าไร เพื่อที่จะได้เอาข้อมูลไปบริหารจัดการธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
3.จัดการเงิน นอกจากกำไรขาดทุนทางบัญชี ต้องรู้เรื่องการเงินให้มากพอ ว่ากิจการมีเงินเข้าออกจากอะไร เงินไม่พอควรไปหาจากไหน และเงินเหลือเราต้องทำอย่างไร
4.วางแผนภาษี ต้องรู้ก่อนว่ามีภาษีอะไรเกี่ยวข้องกับธุรกิจเราบ้าง แล้วค่อยวางแผนไปทีละ step
ใน 4 ข้อนี้ ถ้าคิดตามไปพร้อมๆ กันจะรู้ว่าข้อมูลทางบัญชีนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสำหรับเรื่องการเงินและภาษี
ถ้าอยากเริ่มธุรกิจอย่างสตรอง อย่าลืมสตาร์ทด้วยการทำบัญชี ก่อนจะไปต่อที่การวางแผนภาษีและการเงิน
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit