สอนทำบัญชีบริษัทแบบง่าย เริ่มต้นได้ทันที

สอนทำบัญชีบริษัทแบบง่าย เริ่มต้นได้ทันที

การเปิดกิจการของตัวเองมักจะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่หลายคนใฝ่ฝันจะทำให้ได้ แต่พอลงมือทำจริง ๆ แล้ว กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดำเนินกิจการให้ราบรื่นที่สุด เพราะจะต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะ “การทำบัญชี” ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้ แล้วแบบนี้มือใหม่อย่างเราจะเริ่มทำบัญชียังไงดีล่ะ? บทความนี้จะมาสอนทำบัญชีบริษัทแบบง่าย ๆ ให้ทุกคนกัน โดยจะต้องรู้วิธีทำบัญชีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

1. เปิดบัญชีธนาคาร

สิ่งแรกที่กิจการต้องทำคือการเปิดบัญชีค่ะ เพราะเป็นแหล่งที่จะมีเงินเข้าออกอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังช่วยให้เช็กรายรับ – รายจ่ายในบัญชีได้ง่าย

การเปิดบัญชีธนาคาร
การเปิดบัญชีธนาคาร

คำถามถัดมาคือ แล้วควรมีกี่บัญชีดีล่ะ
สำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็ก และเจ้าของกิจการเป็นผู้มีอำนาจชำระคนเดียว อย่างน้อยควรเปิดไว้ 1 บัญชี
แต่หากกิจการมีขนาดกลางไปจนใหญ่ เปิด 2 บัญชี แยกรายรับ – รายจ่าย เพื่อให้แยกบัญชีธุรกิจกับบัญชีส่วนตัวออกจากกัน อีกทั้งกิจการใหญ่ ๆ การกำหนดอำนาจคนอนุมัติชำระเงินให้มีมากกว่า 1 คน ก็สามารถป้องกันการโกงเงินได้ในธุรกิจได้อีกด้วยค่ะ

เมื่อมีบัญชีธนาคารแล้ว ขอแนะนำให้หมั่นตรวจสอบรายการบัญชีทุกเดือน เมื่อตรวจพบปัญหา จะสามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทันที ก่อนที่จะบานปลายจนสายเกินไปค่ะ

2. เลือกโปรแกรมทำบัญชี

ขั้นตอนต่อไปก่อนที่จะไปทำบัญชีบริษัทก็คือ การเลือกใช้โปรแกรมทำบัญชีที่เหมาะสมกับธุรกิจของเรา ฟังก์ชั่นหลักๆ ที่ควรมี เช่น ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาระบบให้สามารถจัดการ และบริหารรายรับ – รายจ่าย รวมทั้งช่วยบันทึกงานบัญชีให้เป็นระเบียบมากขึ้น

โปรแกรมบัญชีที่ดีจะช่วยลดข้อผิดพลาดจาก Human Error ได้ และช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ จากรายงานทางการเงินหรือเรียกง่ายๆ ว่า “งบการเงิน” ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการบริหารธุรกิจนั่นเอง

การเลือกใช้โปรแกรมทำบัญชี
การเลือกใช้โปรแกรมทำบัญชี

หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะเลือกโปรแกรมทำบัญชีแบบไหนให้เหมาะกับธุรกิจ เรามีคำตอบค่ะ กิจการต้องตรวจสอบฟีเจอร์ของโปรแกรมก่อนว่า เหมาะสมกับกิจการหรือไม่ โดยมีหลักการพิจารณา ดังนี้

  • ขนาดของธุรกิจ เนื่องจากบางโปรแกรมอาจจะสร้างสรรค์มาเพื่อรองรับธุรกิจ SMEs แต่ยังไม่สามารถรองรับระบบผลิตที่มีขนาดใหญ่ได้
  • ราคาที่เหมาะสม หากเป็นธุรกิจที่กำลังก่อร่าง สร้างตัว การลงทุนโปรแกรมที่แพงเกินไป ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นะ
  • การใช้งานที่ง่าย และสะดวก เมื่อได้โปรแกรมมาแล้ว เราต้องใช้งานเป็นด้วย ถึงจะก่อประโยชน์สูงสุด
  • ความสามารถในการปรับข้อมูลของโปรแกรม เมื่อกิจการเติบโตขึ้น มองอนาคตว่าโปรแกรมนี้ หากกำลังการผลิตเยอะขึ้น หรือยอดขายโตขึ้น จะยังรองรับได้ไหม หรือในอนาคตสามารถจัดทำรายงานจากมุมมองที่หลากหลายขึ้นได้หรือไม่

หรือดูบทความเพิ่มเติม วิธีเลือกโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป เจ้าของธุรกิจต้องรู้ก่อนจ่ายตังค์

3. บันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนต่อไปที่จะสอนทำบัญชีบริษัท คือการบันทึกรายได้ – รายจ่ายที่เกิดขึ้นในกิจการค่ะ
เราแนะนำให้บันทึกรายได้ – รายจ่ายทุกเดือนนะคะ

เพื่อเป็นการบันทึกประวัติรายการ รายได้ และค่าใช้จ่ายที่ผ่านมา และใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการเสียภาษีได้ด้วย โดยมีแนวทางหลัก ๆ ที่ต้องทำ ดังนี้

บันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย
บันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย

3.1 ดาวน์โหลดรายการเคลื่อนไหวของ BANK STATEMENT ประจำเดือน

กิจการต้องมีรายการเคลื่อนไหวของ BANK STATEMENT ก็คือ บัญชีธนาคารของธุรกิจที่เราเปิดไว้ทุกบัญชีนั่นเอง
ที่เราต้องดาวน์โหลดมา เนื่องจากต้องมาทำการบันทึกทุกรายการที่เคลื่อนไหว ลงโปรแกรมบัญชี
ดังนั้น หากธุรกิจของเรา มีการรับเงิน หรือ จ่ายเงิน ต้องพยายามให้ผ่านบัญชีธนาคารของกิจการ เท่านี้ ทุกเดือนเราก็จะทราบทุกรายการเลย ว่าเงินเข้า – ออก เป็นค่าอะไรบ้างนั่นเอง

3.2 บันทึกรายการรายได้ – ค่าใช้จ่าย/ซื้อสินค้าในโปรแกรมบัญชี

จากรายการเคลื่อนไหวของ BANK STATEMENT ให้นำทุกรายการมาลงบันทึกในโปรแกรมบัญชีที่เราเลือกใช้

โดยการบันทึกรายการจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ

  1. รายรับ หรือ รายได้

ธุรกิจที่ไม่ได้จด VAT เมื่อธุรกิจได้รับเงินมา เราต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า ถึงแม้ลูกค้าจะไม่ได้ต้องการ เราก็ต้องบันทึกรายการรับเงิน ออกใบเสร็จรับเงินในโปรแกรมบัญชีอยู่ดี และเช็คว่า เราออกใบเสร็จรับเงิน ครบทุกรายการของ BANK STATEMENT ฝั่งรับเงินหรือยัง?

ธุรกิจจดทะเบียนภาษีมูลเพิ่ม ข้อควรระวังเพิ่มเติม คือ ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย เมื่อรับเงินหรือส่งมอบสินค้า ทุกครั้ง และหน้าที่ทุกๆเดือน คือต้องสรุปรายงานภาษีขาย เพื่อรอคำนวณนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั่นเอง

หากใครเพิ่มจด VAT แล้วไม่รู้ต้องออกใบกำกับยังไงให้ถูกต้อง
ดูที่บทความนี้เลย 8 จุดที่สำคัญในใบกำกับเต็มรูปต้องมี

2. ค่าใช้จ่าย/ซื้อสินค้า เมื่อจะบันทึกรายการ ต้องมีหลักฐานประกอบด้วยเสมอ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน และต้องเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวกับกิจการเท่านั้น

ข้อควรระวังของธุรกิจที่จด VAT เมื่อจ่ายค่าใช้จ่ายหรือซื้อสินค้าทุกครั้งอย่าลืมที่จะขอใบกำกับภาษี อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำมาเคลม VAT ภาษีซื้อ เพื่อรอคำนวณนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะคะ

3.3 สรุปรายการภาษีประจำเดือนที่ต้องชำระ

เมื่อเราเป็นผู้ประกอบการ เรื่องที่เราหนีไม่พ้นเลย คือ เรื่องของภาษี ภาษีประจำเดือนที่ต้องทราบเลย มีหลักๆ 2 ประเภท
1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่เกิดจากการจ่ายเงินให้กับบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลด้วยกันเอง

สิ่งที่ต้องทราบ คือ รายจ่ายประเภทไหนต้องหัก ณ ที่จ่ายบ้าง และอัตราการหัก ณ ที่จ่ายเป็นเท่าไร ทางสรรพากรจะเป็นผู้กำหนดให้ค่ะ

บริษัทมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุกเดือน ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แต่ถ้าเดือนไหนไม่มี หัก ภาษี ณ ที่จ่ายไม่ต้องยื่นแบบภาษีค่ะ


2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เกิดจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยคิดจาก 7% ของมูลค่าสินค้าหรือบริการค่ะ

บริษัทที่มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นทางภาษี มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภพ. 30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ถ้าเดือนไหนไม่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการก็ต้องยื่น ภพ. 30 ทุกเดือนเช่นเดียวกัน

3.4 กระทบยอดเงินฝากในโปรแกรมบัญชี ให้ตรงกับ BANK STATEMENT จริง

การกระทบยอดเงินฝากธนาคารเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก สามารถบอกเราได้ว่า เราบันทึกรายการ รายรับ – รายจ่าย ครบแล้วหรือยัง

วิธีการกระทบยอดสมุดเงินฝาก ทำง่ายๆ ได้ด้วยตัวเองตามนี้

  • เช็คยอดเงินเข้า = ต้องเท่ากับการเปิดเอกสารใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน(ฝั่งขาย)
  • เช็คยอดเงินออก = ต้องเท่ากับการจัดทำเอกสารใบสำคัญจ่ายเงิน ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี (ฝั่งซื้อ)
  • เช็คยอดเงินเหลือ = ต้องเท่ากับยอดเงินสดยกมาต้นงวด + เงินเข้า – เงินออก ตามเอกสารที่เราบันทึกไว้

ข้อดีของการกระทบยอดเงินฝากเป็นประจำ ทำให้เรารู้เงินรั่วไหลไปไหนได้เร็วขึ้น เช่น ลูกค้าแจ้งว่าโอนเงินแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ได้โอน เซลล์ไม่ยอมนำเช็คฝากเข้าบัญชี จากนั้นเราจะได้ตามไปจัดการปัญหาได้ทันเวลา

เมื่อเราบันทึกรายการครบ ตรงตาม Bank Statement ให้สรุปผลการบันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย เราก็จะรู้ว่า กิจการมีกำไรหรือขาดทุนนั่นเอง

4. จัดเก็บเอกสาร

การจัดเก็บเอกสารรายรับ-รายจ่าย
การจัดเก็บเอกสารรายรับ-รายจ่าย

แน่นอนว่า เวลาบันทึกรายรับ-รายจ่ายแต่ละรายการ จะต้องเก็บใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินไว้เสมอ ยิ่งมีรายการมาก ยิ่งมีจำนวนเอกสารสะสมเยอะมาก จึงต้องมีการจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบแจ้งยอดธนาคาร บัตรเครดิต ใบเสร็จค่าเดินทาง และอื่น ๆ  ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการค้นหา และป้องกันการสูญหายได้ โดยกิจการจะเลือกเก็บเอกสารในแฟ้ม หรือจัดเก็บผ่านระบบดิจิทัลก็ได้ ตามความสะดวกของกิจการได้เลยค่ะ

5. เช็กลูกหนี้/เจ้าหนี้/สินค้า

การเช็กลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมทั้งสินค้า จะเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะสอนทำบัญชีบริษัทค่ะ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการบริหารจัดการการเงินของธุรกิจ เพื่อให้สามารถติดตามสถานะการเงิน และบันทึกข้อมูลงบประมาณของกิจการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีเช็ก ได้แก่

เช็กลูกหนี้ เจ้าหนี้ สินค้า
เช็กลูกหนี้ เจ้าหนี้ สินค้า

เช็กข้อมูลลูกหนี้

  • การจัดทำรายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า รายงานนี้ช่วยให้ทราบว่าลูกหนี้รายใดค้างชำระเงินนานเท่าไร และช่วยในการตัดสินใจในการติดตามหนี้ที่ค้างอยู่
  • การวิเคราะห์คุณภาพลูกหนี้ ควรประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย เพื่อจัดการกับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

เช็กข้อมูลเจ้าหนี้

  • ตรวจสอบสถานะการชำระเงิน ควรมีการติดตามและบันทึกการชำระเงินที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการชำระเงินล่าช้าและการเสียค่าปรับ
  • การจัดทำงบประมาณการชำระหนี้ ควรวางแผนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของธุรกิจ เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา

เช็กสินค้า

  • การตรวจสอบสินค้าคงคลัง ควรมีการตรวจสอบสต็อกสินค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้ามีเพียงพอต่อการขายและไม่มีสินค้าหมด

การใช้โปรแกรมบัญชี ช่วยในการติดตามสถานะลูกหนี้ เจ้าหนี้ และสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถบันทึกข้อมูลและสร้างรายงานได้ง่าย

6. เข้าใจภาษีที่เกี่ยวกับกิจการตัวเอง

ขั้นตอนสุดท้ายที่จะสอนทำบัญชีบริษัท ก็คือการทำความเข้าใจกับภาษีค่ะ เพราะตราบใดที่เริ่มทำกิจการ ย่อมมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะฉะนั้น นอกจากจะรู้วิธีทำบัญชีแล้ว ต้องรู้วิธีจัดการภาษีด้วยค่ะ เราจะเสียภาษีรูปแบบใดบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับสถานะของกิจการว่าเป็นธุรกิจบุคคลธรรมดา หรือธุรกิจนิติบุคคล เมื่อรู้แล้วก็แล้วทำความเข้าใจกับภาษีที่เกี่ยวข้องแต่ละแบบ เพื่อให้สามารถคำนวณ และยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องนั่นเองค่ะ

เปิดบริษัท ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง สรุปไว้ให้ที่นี่แล้วจ้า

สรุป สอนทำบัญชีบริษัทแบบง่าย ต้องเข้าใจอะไรบ้าง

จะเห็นได้ว่า เมื่อเริ่มต้นทำกิจการใด ๆ แล้ว ต้องรู้วิธีทำบัญชีเพื่อบันทึกรายการรายได้-รายจ่ายของกิจการ โดยจะต้องเข้าใจขั้นตอนการทำบัญชีด้วยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จากที่เล่ามาก็มีขั้นตอนไม่น้อยเลย ถ้าทำบัญชีเองไม่ไหว อาจจะต้องจ้างพนักงานบัญชี หรือสำนักงานบัญชีเข้ามาช่วย เพื่อประหยัดเวลา และมั่นใจว่าธุรกิจนั้นทำบัญชีอย่างถูกต้อง สุดท้ายเจ้าของกิจการได้ใช้ข้อมูลได้เป็นประโยชน์ที่สุดค่ะ

เปิดบริษัท แต่ไม่อยากทำบัญชีเอง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง