ถ้าอยากบริหารเงินสดให้เก่งต้องเข้าใจที่มาที่ไปของเงินสดว่าเงินเข้า เงินออกจากอะไรบ้าง แต่ถ้าจะให้เริ่มต้นจากการเช็คงบการเงิน ที่เรียกว่า งบกระแสเงินสด คงจะยากเกินไปสักหน่อยสำหรับเจ้าของกิจการ เพราะเจ้างบกระแสเงินสดนั้น ไม่ใช่งบที่ทุกคนทำกันเป็น (ถึงแม้นักบัญชีก็ยังทำงบนี้ไม่เป็นทุกคนนะ จะบอกให้)
แต่อย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ เพราะแม้ว่าเราจะไม่มีงบกระแสเงินสดอันหรูหรา ก็ไม่ใช่ว่าเราจะบริหารเงินสดในธุรกิจไม่ได้เลยซะทีเดียว ในวันนี้นุชจะชวนทุกคนมาลองทำความเข้าใจเรื่องเงินเข้า-ออก จากนั้นไปเรียนรู้วิธีบริหารเงินสดแบบบ้านๆ แต่ใช้ได้ผลมาแล้วหลายธุรกิจค่ะ
สิ่งต้องรู้เกี่ยวกับเงินเข้า เงินออกของธุรกิจ
เริ่มต้น เรามาตั้งสติกันหน่อยว่าเราต้องรู้อะไรก่อนจะไปบริหารจัดการเงินสด
อันดับแรกเลย เราต้องรู้ว่าจะเช็กเงินเข้าและเงินออกของธุรกิจได้จากไหน
บางคนมีเงินเข้า-ออกหลายช่องทาง เช่น
- เงินโอน
- เงินสดหน้าร้าน
- เงินรับผ่านบัตรเครดิต
- เงินที่เข้ามาในบัญชีของหุ้นส่วน
ทั้งหมดนี้ ต้องแยกให้ได้ว่าเงินที่เข้ามาเป็นเงินจากการทำธุรกิจหรือไม่ และในแต่ละช่องทางมีเงินเข้า เงินออกเท่าไรบ้าง
แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว สำหรับคนที่ไม่เคยวางแผนเรื่องการเงิน หรือไม่เคยแยกกระเป๋า ธุรกิจเลย แต่ถ้าวางแผนไว้ล่วงหน้า แยกเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกัน ก็จะพบว่าเรื่องนี้เช็กได้ไม่ยาก เพียงแค่ดาวน์โหลด Statement ธุรกิจออกมาก็เช็คได้แล้ว ไม่เห็นจะน่าปวดหัวตรงไหนเลยจริงไหมคะ
แบ่งประเภทเงินเข้า-เงินออก
ถ้าเรารู้แล้วว่าจะหาข้อมูลเงินเข้าและออกได้จากช่องทางไหนบ้าง ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์กันต่อค่ะ ว่าเงินเข้าและออกนั้นแบ่งเป็นประเภทอย่างไรได้บ้าง
1. การดำเนินงานทั่วไป
ประเภทแรก เงินเข้าออกจากการดำเนินงานทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงเลยกับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเปิดร้านขายถุงเท้า ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เงินที่เข้ามาและออกไป ก็น่าจะมาจากกิจกรรมเหล่านี้
เงินเข้า | จำนวน | เงินออก | จำนวน |
ขายของหน้าร้าน รับเงินจากการขายเชื่อ รับเงินจาก Shopee, Lazada รับเงินจากลูกค้า Preorder สินค้า | 30,000 20,000 5,000 1,000 | ซื้อถุงเท้าจากเมืองจีน ค่าขนส่ง ค่าจ้างลูกน้องเฝ้าร้าน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ายิงแอดโฆษณา | 25,000 2,000 3,000 5,000 100 200 |
56,000 | 35,300 |
จากนั้นอยากให้เพื่อนๆ ลองใส่ข้อมูลจำนวนเงินลงไป แล้วเปรียบเทียบกันดูสักหน่อยว่าเดือนนี้มีจำนวนเงินเข้ามากกว่าเงินออกอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมากกว่าอยู่ แปลว่า สภาพคล่องจากการดำเนินงานยังดีอยู่ค่ะ
2. การลงทุน
ถัดมาเป็นเงินเข้าออกประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า “การลงทุน”
การทำธุรกิจทุกคนย่อมหวังที่จะเติบโต สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้มากขึ้นทุกวันๆ จริงไหมคะ ทีนี้ถ้าดำเนินงานวันต่อวันแบบเดิมๆ ก็คงไม่ทำให้ธุรกิจขยายเติบโตได้แน่นอน ดังนั้น การลงทุนจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาในธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องใส่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดเข้าและออกด้วย
ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านถุงเท้าร้านเดิม ที่เคยขายของอยู่ในตลาดจังหวัดนครปฐมแค่ 1 สาขา ตอนนี้เริ่มคิดว่าธุรกิจอยู่ตัวแล้ว เลยอยากเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาในห้างประจำจังหวัด
เงินเข้าและเงินออกจากการลงทุนครั้งนี้มีอะไรบ้าง เราก็ลองมาใส่ข้อมูลในตารางนี้กัน
เงินเข้า | จำนวน | เงินออก | จำนวน |
ไม่มี | – | ค่ามัดจำค่าเช่าสาขา 2 ค่าตกแต่งร้าน ค่าเงินประกันมิเตอร์น้ำ ไฟ | 15,000 20,000 1,000 |
36,000 |
พอแบ่งประเภทเงินเข้าออกจากการลงทุนมาแล้ว จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเงินลงทุนนั้น มีทั้งหมด 36,000 บาท ซึ่งมีแต่เงินออกยังไม่มีเงินเข้ามา เพราะอาจจะเป็นช่วงเริ่มต้น
หลักการสำคัญของเงินสดออกประเภทเงินลงทุนนี้ คือ ก่อนจ่ายออกไป ต้องรู้นะคะว่าจะได้เงินกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น สุดท้ายก็ได้รายได้จากการดำเนินงานกลับมาแบบ 2 เท่าตัว หรือ แม้ร้านนี้จะเจ๊ง ก็ยังคืนของ คืนที่ ได้เงินมัดจำกลับมาส่วนหนึ่งไม่ใช่หายไปทั้งหมด 100%
3. การจัดหาเงิน
นอกจากเงินสดเข้าออกจากการดำเนินงาน และการลงทุนแล้ว มีเงินเข้าออกอีกประเภทนึงที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เงินเข้าออกจากการจัดหาเงิน
การจัดหาเงินคืออะไร? อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้ค่ะ ก็คือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม หรือเอาเงินมาใส่ในธุรกิจเพิ่มนั่นแหละค่ะ
ปกติแล้วธุรกิจจะมีเงินเข้าได้จาก 2 ทาง คือ กู้เงินคนอื่น หรือ เจ้าของลงเงินเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีเงินออกไปจากธุรกิจด้วย ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ การชำระเงินต้น การจ่ายเงินปันผลให้เจ้าของ
ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านถุงเท้ารายนี้ มีเงินเข้า เงินออกจากเรื่องอะไรบ้าง ลองมาดูในตารางกัน
เงินเข้า | จำนวน | เงินออก | จำนวน |
ยืมเงินนอกระบบ เงินส่วนตัวลงทุนเพิ่ม | 5,000 5,000 | จ่ายเงินต้น จ่ายดอกเบี้ย | 5,000 3,000 |
10,000 | 8,000 |
จากตารางนี้ แม้ว่าเงินจะเข้ามากกว่าเงินออกก็จริง แต่ถ้าคิดตามดีๆ เงินที่เข้ามา 10,000 บาทนั้นมีแค่เงินต้นล้วนๆ แต่เงินออกไป มีทั้งต้นและดอก และที่สำคัญยังไม่ได้รวมเงินปันผลที่จะจ่ายในอนาคต แปลว่า เงินออกจากกิจกรรมนี้ ถ้าไม่บริหารให้ดี อาจเสียตังค์ฟรี เป็นดอกเบี้ยทุกๆสิ้นเดือน
สรุปเงินเข้าออก
เอาล่ะ พอเข้าใจวิธีการแบ่งประเภทเงินเข้าออกแล้วว่ามีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ทีนี้ลองสรุปเงินเข้าและออกสำหรับเดือนนี้มาด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่าเงินเข้าและออกหักกลบกันแต่ละกิจกรรมเป็นเท่าใด และสุทธิแล้วมีเงินเข้ามากกว่าหรือน้อยกว่าเงินออกในแต่ละเดือน
กิจกรรม | เงินเข้า-เงินออก |
ดำเนินงาน ลงทุน จัดหาเงิน | 20,700 -36,000 2,000 |
-13,300 |
จากตัวอย่างนี้ เราเห็นชัดเลยว่าเงินสดในเดือนนี้ติดลบ สาเหตุมาจากการลงทุนในร้านสาขา 2 ซึ่ง ในอนาคตเราก็ต้องบริหารจัดการเงินให้ดี เพื่อให้เงินที่ลงทุนไปนั้นได้ผลลัพธ์กลับมาเป็นเงินสุทธิจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ
==================
โดยสรุปแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าธุรกิจมีกระแสเงินสดเข้าและออกจากอะไรบ้าง และลองเปรียบเทียบกันเป็นประจำว่าเรายังมีเงินสดเข้า มากกว่า เงินสดออกอยู่ไหมในแต่ละกิจกรรม เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ทุกคนบริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้นค่ะ
การวางแผนเงินสดเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ สำหรับธุรกิจ ถ้าใครยังไม่เคยลองวางแผน อย่าลืมใช้วิธีการนี้เป็นตัวช่วยนะคะ
ทำธุรกิจแล้ว อยากรู้เงินเข้าออกอยู่ตลอด ปรึกษาปัญหาบัญชี ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit