ส่องตัวอย่าง บอจ.5 และวิธีเช็คว่าบริษัทมีใครถือหุ้นบ้าง

ส่องตัวอย่าง บอจ.5 และวิธีเช็คว่าบริษัทมีใครถือหุ้นบ้าง?

ใครเป็นเจ้าของบริษัทบ้าง เช็คได้จากเอกสารนี้! เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่าบริษัทที่เรารู้จักนั้นมีใครเป็นเจ้าของบ้าง?

คำว่า “เจ้าของบริษัท” เรารู้จักกันดีในนาม “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งหมายถึง คนที่ลงเงินในหุ้นบริษัทตามแต่สัดส่วนที่ตกลง เพื่อให้บริษัทตั้งต้นเริ่มทำธุรกิจ และผู้ถือหุ้นเองก็มีสิทธิได้รับเงินปันผล ในกรณีที่บริษัทมีกำไรด้วย

ทีนี้ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทบ้าง เราจะดูได้จากเอกสารที่มีชื่อว่า “บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น” แล้วบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร เราลองมาดูตัวอย่าง บอจ.5 และวิธีเช็ครายชื่อผู้ถือหุ้นกันในบทความนี้เลยค่ะ

1. บอจ.5 บอกอะไร?

บอจ. 5 จะบอกเราว่า…บริษัทนี้มีใครถือหุ้นบ้าง (ใครเป็นเจ้าของ) และแต่ละคนมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของอยู่เท่าไร ซึ่งจากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า บอจ.5 บอกเราละเอียดสำคัญ 6 ข้อ

  1. ชื่อ เลขทะเบียน ของบริษัท
  2. วันที่ลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียน เช่น ข้อมูล ณ วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท หรือ ณ วันที่คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
  3. มูลค่าทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าราคาพาร์ของหุ้น
  4. จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  5. รายละเอียดของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ตั้งแต่ ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน สัญชาติ อาชีพ ที่อยู่ จำนวนหุ้นที่ถือและชำระแล้ว เลขหมายหุ้น วันที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น เป็นต้น (กรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของบริษัท ข้อมูลก็จะเปลี่ยนเป็นข้อมูลพื้นฐานของนิติบุคคลนั้นๆ)
  6. วันที่นำส่งข้อมูล

2. บอจ. 5 ต้องส่งเมื่อไร?

ต้องบอกอย่างงี้ว่า บอจ. 5 นั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับทุกธุรกิจ ถ้าเราทำแบบบุคคลธรรมดา หรือเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็จะไม่มีข้อมูล บอจ.5 นะ เค้าจะใช้แค่กับ “บริษัทจำกัด” เท่านั้น

“บริษัทจำกัด” ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ ภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 30 เมษายน) โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่

ตัวอย่าง เช่น

บริษัทมีรอบบัญชีปิด 31 ธันวาคม 2564 วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจัดขึ้นเมื่อ 30 เมษายน 2565 จากนั้นประชุมเสร็จปุ๊บต้องยื่นรายชื่อผู้ถือหุ้นภายใน 14 วันหลังจากนั้น คือ 14 พฤษภาคม แต่เผอิญว่าปีนี้วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 เป็นวันหยุด วันทำการถัดไป คือ 17 พฤษภาคม 2565 เราจึงได้โอกาสยื่นแบบ บอจ. 5 วันนี้เป็นวันสุดท้ายนั่นเอง

ตามกฎหมายมาตรา 1139 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้กรรมการ ต้องนำส่ง สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หากไม่นำส่ง หรือนำส่งล่าช้ากว่ากำหนด จะมีโทษปรับ กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทคนละ 2,000 บาท 

บอจ. 5 ต้องส่งเมื่อไร
บอจ. 5 ต้องส่งเมื่อไร

ตัวอย่าง บอจ.5 หน้าตาเป็นอย่างไร?

บอจ.5 หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือ แบบแสดงรายการว่า บริษัทมีผู้ถือหุ้นกี่คน ใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง และถือหุ้นอยู่ในอัตราส่วนเท่าไหร่ของบริษัท ข้อมูลที่นำส่งไปในระบบเรียบร้อยแล้ว จะสามารถพิมพ์แบบ บอจ.5 ออกมาเก็บไว้เป็นหลักฐานได้ หน้าตาก็จะเป็นประมาณนี้ค่ะ

สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

ตัวอย่าง บอจ.5
ตัวอย่าง บอจ.5

สิ่งที่ต้องรู้คำอธิบาย
คืออะไร สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
บอกอะไรบอกว่าบริษัทนี้ มีใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง และสัดส่วนเท่าไร
ใครใช้บ้างบริษัทจำกัด
ยื่นเมื่อไรภายใน 14 วันหลังประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (อย่างน้อยปีละครั้ง)

3. อยากดูบอจ. 5 ของคนอื่นทำได้ไหม?

ถ้าดู บอจ.5 ของคนอื่น เราเองสามารถทำได้ แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เพียงแค่สมัครสมาชิกแล้ว log-in เข้าระบบ DBD e-service เราก็สามารถจ่ายเงินแล้วก็คัดแบบ บอจ.5 ของบริษัทอื่นมาดูได้เลย

เช็ครายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคล รับรองสำเนาเอกสารและถ่ายเอกสาร

ทำความรู้จักกับแบบ บอจ.5 กันไปแล้ว ตอนนี้เราก็น่าจะพอเห็นข้อมูลของคู่แข่ง หรือบริษัทที่สนใจได้มากขึ้น ว่ามีใครเป็นเจ้าของบ้าง

และอย่าลืมนะว่า ถ้าเรามีบริษัทเป็นของตัวเองเมื่อไร อย่าลืมใส่ใจยื่นข้อมูล บอจ.5 ให้ครบถ้วนด้วย เพราะว่าคู่แข่งเองก็อยากจะเห็นข้อมูลของเราเช่นกัน เอ๊ยย…ไม่ใช่ เพราะว่าเราจะได้ทำถูกต้องตามกฎหมายและไม่โดนปรับไงล่า 5555

จดทะเบียนบริษัท นำส่ง บอจ.5 อย่างถูกต้อง ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ