“ประกันสังคม” ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่นายจ้างทุกคนต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายให้เรียบร้อย เพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือเหตุอื่น ๆ ในระหว่างการทำงานได้
แต่รู้มั้ยว่า ถ้ามีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานวันแรก หรือมีพนักงานเก่าลาออกจากสถานประกอบการ นายจ้างจะทำอย่างไรต่อ ? Zero to Profit รวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับพนักงานเข้าใหม่ ประกันสังคม หรือลาออกนายจ้างต้องทำอะไรบ้าง? ลองมาดูกันนะ
กรณีที่ 1 : พนักงานเข้าใหม่ ประกันสังคม
มาดูกรณีที่พนักงานใหม่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการกันก่อนนะคะ นายจ้างจะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้กับพนักงานเข้าใหม่ ประกันสังคม ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันแรกที่เข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533
ขั้นตอนง่ายๆ เริ่มต้นจากกรอกข้อมูลพนักงานใหม่ลงในแบบฟอร์ม ได้แก่
- หนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-02)
- แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)
แบบฟอร์มเหล่านี้ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้นะคะ
หลังจากที่กรอกข้อมูลของพนักงานใหม่ลงในเอกสารครบถ้วนหมดแล้ว นายจ้างสามารถนำไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
แต่ๆ สำหรับนายจ้างคนไหนที่ไม่สะดวกไปที่สำนักงานประกันสังคม สามารถยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านเว็บไซต์ได้เช่นกันค่ะ โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
- ไปที่ e-Service เข้าสู่ระบบของสถานประกอบการ และเลือก “ผู้ประกันตน”
2. เลือก “ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน / แจ้งรับผู้ประกันตนเข้าทำงาน (สปส. 1-03)”
3. กรอกรายละเอียดตามบัตรประชาชนของพนักงานใหม่ พร้อมเลือกสถานพยาบาล
4. ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง และกดยืนยันข้อมูล
ยกตัวอย่าง
นาย A เป็นเจ้าของบริษัท SBF มีพนักงานทั้งหมด 10 คน วันหนึ่ง นางสาว B เป็นพนักงานใหม่ของบริษัท และเข้าทำงานวันแรกในวันที่ 15 เมษายน
ดังนั้น นาย A จึงต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้กับนางสาว B ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม
หลังจากที่ได้ทราบวิธีการขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 33 เมื่อมีพนักงานเข้าใหม่ในสถานประกอบการกันไปแล้ว อีกหนึ่งกรณีที่นายจ้างห้ามลืมเด็ดขาด ก็คือ “พนักงานลาออก” ค่ะ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องดำเนินการกับประกันสังคม และต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตามไปดูหัวข้อถัดไปกันเลยค่ะทุกคน
กรณีที่ 2 : พนักงานลาออก ประกันสังคม
ในชีวิตการทำงาน มีเข้าทำงานก็ต้องมีออกจากงานใช่ไหมคะ ? เช่นเดียวกันกับประกันสังคมค่ะ เมื่อมีพนักงานในสถานประกอบการลาออกจากงาน ก็เท่ากับว่าพนักงานคนนั้นสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย ซึ่งอิงตามกฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 38
ดังนั้น นายแจ้งจะต้องดำเนินการแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมให้เรียบร้อยนั่นเองค่ะ
ในขั้นตอนการแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะต้องกรอกแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากวันที่พนักงานลาออก และจะต้องนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่มีสถานประกอบการนะคะ
ลาออกจากงานประจำแล้ว ควรต่อประกันสังคมมาตราอื่นไหม?
การลาออกจากงานประจำ ก็คือการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อาจทำให้หลายคนต้องหาวิธีจัดการกับเงินสมทบที่เคยจ่ายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตราอื่น ๆ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ให้สามารถใช้ต่อได้ หรือจะไม่ต่อประกันสังคมเลย เพื่อรอรับเงินคืนทั้งหมด แต่สำหรับใครที่ยังเลือกไม่ถูกว่าทางเลือกไหนตอบโจทย์ที่สุด เราได้รวบรวม 3 ทางเลือกทั้งหมดมาให้ทุกคนได้พิจารณา ดังนี้ค่ะ
สมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39)
- จุดประสงค์เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 33 เอาไว้
- เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
- ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท และต้องส่งเงินให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกันภายในระยะเวลา 12 เดือน
- สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ข้อดี : ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เมื่อรู้สึกเจ็บป่วย จะมีค่ารักษาพยาบาลให้ฟรี
ข้อเสีย : จะได้รับเงินสมทบมาตรา 33 ในรูปแบบเงินชราภาพในจำนวนที่น้อย เนื่องจากมีการคำนวณเงินชราภาพจากฐานเงินเดือนที่ได้รับ
สมัครเป็นผู้ประกันตนนอกระบบ (มาตรา 40)
- จุดประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ชีวิตสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ แม่ค้า พ่อค้า เป็นต้น
- เหมาะสำหรับคนที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ยังส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน
- การส่งเงินสมทบมีทั้งหมด 3 ทางเลือก ได้แก่
- จ่ายเดือนละ 70 บาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กรณีเจ็บป่วย* กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
- จ่ายเดือนละ 100 บาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กรณีเจ็บป่วย* กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ
- จ่ายเดือนละ 300 บาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กรณีเจ็บป่วย* กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
- *ค่าใช้จ่ายในกรณีเจ็บป่วยของมาตรา 40 จะได้รับเป็นค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างจากค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยของมาตรา 33 และ 39
ข้อดี : จะได้รับเงินสมทบมาตรา 33 ในรูปแบบเงินชราภาพแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังได้รับเงินสมทบของมาตรา 40 เพิ่มอีก 1 ส่วน
ข้อเสีย : ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ต้องออกค่ารักษาเอง หรือใช้สิทธิบัตรทองแทน
ไม่ต่อประกันสังคมมาตราไหนเลย
- จะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ณ สำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน
- ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง หรือรายงานตัวทางระบบอินเทอร์เน็ตก็ได้
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
ข้อดี : ได้รับเงินสมทบมาตรา 33 คืนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ข้อเสีย : จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมเลย
ยกตัวอย่าง
นางสาว B ทำงานในบริษัท SBF มาแล้ว 2 ปี ต่อมาตัดสินใจลาออกจากบริษัทในวันที่ 20 สิงหาคม นาย A จึงต้องไปทำเรื่องแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 กันยายน ส่วนนางสาว B ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว 24 เดือน และต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ต่อไปในขณะที่หางานใหม่ จึงได้ไปสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 หลังจากที่ลาออกมาแล้ว 1 สัปดาห์
สรุป Timeline การยื่นเรื่องกับประกันสังคม ต้องทำตอนไหนบ้าง ?
ในขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้กับพนักงานใหม่ การแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้กับพนักงานเก่า รวมทั้งการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ของคนที่ลาออกจากงานไปแล้ว จะมีระยะเวลาในการดำเนินการที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ จะขอนำข้อมูลการแจ้งต่าง ๆ มาสรุปให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ตามด้านล่างเลยค่ะ
สถานการณ์ | สิ่งที่ต้องทำ | ระยะเวลา |
มีพนักงานใหม่เข้าทำงาน | นายจ้างขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 | ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันแรกที่เข้าทำงาน |
พนักงานเก่าลาออกจากงาน | นายจ้างแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน | ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่พนักงานลาออก |
พนักงานเก่าเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) | ยื่นใบสมัครขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ด้วยตัวเอง | ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน |
พนักงานเก่าเป็นผู้ประกันตนนอกระบบ (มาตรา 40) | ยื่นใบสมัครขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ด้วยตัวเอง | หลังจากที่ลาออกจากงานไปแล้ว 1 เดือน |
ว่างงาน | ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ณ สำนักงานจัดหางาน | ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน |
สรุป
จะเห็นได้ว่า การที่พนักงานเข้าใหม่ ประกันสังคมหรือพนักงานเก่าลาออกจากงาน นายจ้างจะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 และแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมให้เรียบร้อยตามลำดับ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของพนักงาน (ลูกจ้าง) ตามที่กฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ พนักงานคนไหนที่ลาออกจากงานไปแล้ว และกำลังตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรกับเงินสมทบที่จ่ายไปในทุก ๆ เดือนที่ผ่านมา สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ต่อไปได้ หรือจะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปก่อน ในกรณีที่พนักงานยังส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน ส่วนสำหรับใครที่ต้องการเงินสมทบคืนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว จะต้องไม่ลืมไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน และไปรายงานตัวกับสำนักงานจัดหางานทุกเดือนนะคะ
หวังเป็นอย่างยิ่งบทความนี้จะมีประโยชน์กับนายจ้างมือใหม่ รวมทั้งนายจ้างที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ไม่น้อย เพื่อที่จะได้นำไปใช้กับการดูแลสวัสดิภาพให้กับพนักงานเข้าใหม่ ประกันสังคม หรือลาออกจากประกันสังคมในสถานประกอบการของทุกคนได้เป็นอย่างดีค่ะ อย่าลืมนำไปใช้กันด้วยนะคะทุกคน
ยื่นประกันสังคมเป็นแล้ว ทุกปีอย่าลืมยื่นกองทุนเงินทดแทน ออนไลน์ ทำง่ายด้วยตัวเอง
ทำบัญชี-ภาษี ปรึกษาปัญหา ติดต่อ
Line: @zerotoprofit
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit