ปัจจุบันไม่ว่าใครก็อยากมีธุรกิจของตัวเอง แล้วการทำธุรกิจในรูปแบบของบริษัท ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ผู้ประกอบการหลายๆคนนิยมทำกัน บางคนบอกว่าเปิดบริษัททำง่ายจะตาย แค่ไปจ้างสำนักงานบัญชีทำ จ่ายเงินเท่านั้นก็จบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของธุรกิจเองมีเรื่องที่ต้องเตรียมตัวหลายเรื่องเลยค่ะ และบางครั้งหากไม่ได้เตรียมตัวให้ดีพอ อาจมีปัญหาตามมาทีหลังก็ได้นะ
สำหรับใครที่กำลังมองหาข้อมูลว่าอยากเปิดบริษัท ต้องเตรียมอะไรบ้าง วันนี้เราสรุปข้อมูลมาให้อ่านแบบง่ายๆ กันค่ะ
1. เตรียมเงินทุน
เปิดบริษัท ก็ต้องมีเงินทุน แล้วมีเงินทุนเท่าไหร่ดีหล่ะ เป็นหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัย และ หลายคนยังเข้าใจผิดอีกด้วยว่า เปิดบริษัท ต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัท อย่างน้อย 1 ล้านบาท
วันนี้เราจะมาเคลียร์ประเด็นเหล่านี้กันค่ะ
เริ่มแรกเลย เปิดบริษัท เราต้องมีเงินทุนก่อนอันดับแรก เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใช้เงินทุนตั้งต้นด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงการเปิดบริษัท เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น เราขอแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อนดังนี้
ส่วนที่ 1 ทุนจดทะเบียนบริษัท
“ทุนจดทะเบียนบริษัท” คือ เงินที่เราใช้จัดตั้งบริษัท เป็นจำนวนเงินที่ใช้แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าบริษัทเรามีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ เงินจำนวนนี้จะปรากฎในหน้าหนังสือรับรองบริษัทนะคะ
เราควรมีทุนจดทะเบียนบริษัท อย่างน้อย 1 ล้านบาท ไหม ? หรือ เราควรมีทุนจดทะเบียนบริษัท เท่าไหร่ดี ?
จริงๆแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1117 กำหนดไว้ว่า มูลค่าต่อหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 บาท ทำให้บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ใครหลายๆคนอาจจะเข้าใจผิด
แล้วก็จะมาคำถามที่ว่า เราควรมีทุนจดทะเบียนบริษัท เท่าไหร่?
อันดับแรกเลย เราต้องสำรวจก่อนว่า ธุรกิจที่เราจะทำ เป็นธุรกิจอะไร จะได้รู้ว่า เงินทุนที่บริษัทต้องใช้ประมาณเท่าไหร่ในการที่จะทำธุรกิจนี้ขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น
นาย A จะทำธุรกิจร้านชานมไข่มุก เราก็ต้องสำรวจก่อนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในการเปิดร้านชานมไข่มุก สมมติถ้าลองประเมินดีๆ จะต้องมีค่าใช้จ่ายตั้งต้นประมาณนี้
ตีคร่าวๆ ใช้เงินประมาณ 300,000 บาท และเผื่อเงินทุนบางส่วนใช้เป็นเงินหมุนเวียนภายในบริษัทอีกประมาณ 200,000 บาท ในกรณีที่เดือนแรกๆ ยังไม่มีฐานลูกค้าที่มากพอ แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าเช่าพื้นที่เดือนถัดไป
ดังนั้น จากตัวอย่างนี้เราต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัท 300,000 + 200,000 = 500,000 บาท
แล้วเราต้องมีเงิน 500,000 บาท เลยไหม ?
คำตอบ คือ ไม่จำเป็นต้องมีเงิน 500,000 บาท เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1110 กำหนดไว้ว่า ชำระหุ้นต้องชำระไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าหุ้น
ทำให้จากตัวอย่าง เราต้องมีเงินขั้นต่ำ 500,000 × 25% = 125,000 บาท
ส่วนที่ 2 ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท
แน่นอนว่าการจดทะเบียนบริษัท ไม่ได้จดได้ฟรีๆ เพราะเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เค้าต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมด้วยนะคะ
ดังนั้น เงินทุนอีกส่วนหนึ่งที่ต้องแบ่งไว้ คือ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท ที่เราต้องกำเงินไปจ่ายให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อ้างอิงจาก การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กรณีที่ทุนจดทะเบียนสูงกว่านี้ แนะนำเช็กกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดีๆ เสียก่อน เพราะว่ายิ่งทุนจดทะเบียนเยอะ ยิ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเยอะเช่นกัน
และกรณีที่เราไม่อยากดำเนินการเอง ต้องการให้สำนักงานบัญชีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการให้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายรวมค่าธรรมเนียมประมาณ 13,000 บาทค่ะ
2. เตรียมผู้ถือหุ้นและสัดส่วนหุ้น
ในปัจจุบัน กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้ธุรกิจจดทะเบียนบริษัทในรูปแบบเจ้าของคนเดียวได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ บริษัทจำกัด มี ผู้ถือหุ้น อย่างน้อย 2 คน ทำให้เป็นอีกเรื่องหนึ่งของใครที่อยากเปิดบริษัท ต้องหาผู้ถือหุ้น หรือ หุ้นส่วน ที่พร้อมมาทำธุรกิจกับเรา
ก่อนจะชวนใครทำธุรกิจด้วย อยากให้ตกลง เรื่องเงินลงทุนและผลตอบแทนอื่นกันให้ชัดเจนค่ะ
อย่าลืมว่า เราทำธุรกิจก็ต้องการกำไรมากที่สุด หุ้นส่วนก็เช่นเดียวกัน เพราะ หุ้นส่วนก็ต้องการผลตอบแทนจากเงินที่ลงทุนไป ซึ่งก็คือ เงินปันผล ตามกฎหมายแล้ว สัดส่วนเงินลงทุน เกี่ยวข้องกับ เงินปันผล เพราะ เงินปันผลถูกคำนวณตามสัดส่วนเงินลงทุนของแต่ละคน อย่างเราถือหุ้นในบริษัทมาก ก็ได้รับเงินปันผลมากตามสัดส่วนที่ลงทุน รวมถึงใครที่ถือหุ้นมากก็มีอำนาจในการตัดสินใจในบริษัทมากเช่นเดียวกัน
กรณีง่ายๆ เช่น
นาย A ชวน นาย B และ นาย C เปิดบริษัท Zero to Profit จำกัด ด้วยสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน
ซึ่ง บริษัทนี้นาย A เป็นคนบริหารจัดการทำทุกอย่างคนเดียว
เมื่อบริษัทมีกำไรสะสม และประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ถึงแม้ว่านาย A จะเป็นคนบริการจัดการทุกอย่างคนเดียวในบริษัทก็ตาม แต่ นาย A ก็จะได้รับเงินปันผลเท่ากับ นาย B และ นาย C เพราะเงินปันผล จ่ายตามสัดส่วนเงินลงทุนหรือสัดส่วนหุ้นที่แต่ละคนลงเงินกันนั่นเอง
รวมถึง อำนาจในการตัดสินใจในบริษัทไม่ได้อยู่ที่นาย A แค่คนเดียว เพราะสัดส่วนหุ้นของนาย A ไม่ได้มากพอที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆ ทำให้ ต้องรอ นาย B กับ นาย C ตัดสินใจ หรือ 1 ใน 2 คนนี้ ช่วยตัดสินใจ เนื่องจากทุกคนดันถือหุ้นที่สัดส่วนเท่ากัน
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เรื่องสัดส่วนหุ้นค่อนข้างสำคัญไม่ว่าจะกระทบเรื่องเงินปันผลหรืออำนาจในการตัดสินใจในบริษัท อยากให้คุยกันให้ชัดเจนก่อนจะเริ่มจดทะเบียนบริษัท ไม่งั้นจะมีปัญหาตามหลังมาแน่
3.เตรียมพร้อมทำบัญชี
หนึ่งในเรื่องที่ต้องทำเมื่อเปิดธุรกิจในรูปแบบของบริษัท คือ การทำบัญชี
เดิมทีถ้าใครทำธุรกิจแบบบุคคลแล้วไม่จดรายได้ค่าใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้น ตอนนี้เปิดบริษัทต้องเตรียมตัวเรื่องนี้แล้ว เพราะว่าจะยื่นภาษีแบบเหมาๆ ไม่ได้ แถมกฎหมายก็กำหนดไว้ชัดเจนว่าบริษัทต้องทำบัญชี 5 เล่มให้ครบถ้วนด้วย
อย่างเช่น บัญชี 5 เล่ม ก็เป็นบัญชีที่บริษัทต้องจัดทำตามกฎหมาย (บังคับ ไม่ใช่ทางเลือก นะจ๊ะ) มาดูกันว่า บัญชี 5 เล่ม มีอะไรบ้าง
- สมุดรายวันขาย
- สมุดรายวันซื้อ
- สมุดรายวันรับ
- สมุดรายวันจ่าย
- สมุดรายวันทั่วไป
อย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับการทำบัญชี คือ ค่าใช้จ่ายบัญชี ที่จะเพิ่มขึ้นมา เช่น ค่าทำบัญชี ค่าปิดงบ และค่าจ้างสอบบัญชี ใครที่จะเปิดบริษัทลองทบทวนก่อน เราพร้อมเจอเรื่องทำบัญชีที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายไหม กับ รับมือค่าใช้จ่ายจะที่เพิ่มขึ้น หรือยัง เปิดบริษัทหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นอน
สรุป เปิดบริษัท ต้องเตรียมอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเปิดบริษัท ต้องเตรียมอะไรบ้าง 1) อย่างแรก เตรียมเงินทุนไว้ ทุนจดทะเบียนบริษัท กับ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท แล้วอย่าลืมที่จะสำรวจธุรกิจที่จะเปิดกันด้วยค่ะ เราจะได้รู้ว่าควรมีทุนเท่าไหร่ 2) อย่างที่สอง คือ เตรียมหาผู้ถือหุ้น เพราะบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างต่ำ 2 คน และ 3) อย่างสุดท้าย คือ การทำบัญชี เตรียมพร้อมเรื่องเกี่ยวกับบัญชีที่ควรรู้ กับการทำบัญชีในรูปแบบของบริษัทให้ดี เพราะเป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้นอย่างแน่นอนค่ะ
หาที่ปรึกษา จดทะเบียนบริษัทในแบบที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit