สอนยื่นประกันสังคมออนไลน์ เถ้าแก่ทำได้ด้วยตัวเอง

สอนยื่นประกันสังคมออนไลน์ เถ้าแก่ทำได้ด้วยตัวเอง

“มีพนักงานคนแรก อย่าลืมยื่นประกันสังคมนะคะ เฮีย!” คำขู่ (แกมบังคับ) จากสำนักงานบัญชี ที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่ต้องได้ยินทุกคน

แล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าการยื่นประกันสังคมคืออะไร ต้องทำยังไงบ้าง แล้วถ้าอยากยื่นประกันสังคมออนไลน์ด้วยตัวเอง (เผื่อจะประหยัดค่าจ้างพนักงานบัญชี) แบบนี้เถ้าแก่อย่างเราต้องรู้อะไรบ้างนะ

การยื่นประกันสังคม คืออะไร? ใครต้องยื่นบ้าง?

ก่อนจะพาทุกคนไปหัดยื่นประกันสังคมออนไลน์ เรามาทำความรู้จักกับประกันสังคมกันก่อนดีกว่าค่ะ

การยื่นประกันสังคม หรือพูดเป็นภาษาทางการอีกแบบ คือ การยื่นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายประกันสังคม (มาตรา 33) กำหนดให้นายจ้าง ที่มีลูกจ้างต้องยื่นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

หากบริษัท หรือบุคคลธรรมดาก็ตาม ที่มีลูกจ้าง เป็นพนักงานประจำ ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้าง แล้วก็ยื่นประกัน

สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการยื่นประกันสังคม จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ดังนี้

  1. นายจ้าง ผู้หักเงินลูกจ้าง จ่ายเงินสมทบส่วนนายจ้าง และนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  2. ลูกจ้าง ผู้ถูกนายจ้างหักเงิน และเป็นผู้ประกันตน ตามสิทธิ์ประกันสังคม
  3. รัฐบาล ผู้จ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง เป็นเงินสมทบเพิ่มเติม เข้ากองทุนประกันสังคม

เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนเรียบร้อย นับแต่นี้เป็นต้นไป นายจ้างก็มีหน้าที่ยื่นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนค่ะ

เงินสมทบกองทุนประกันสังคม หักเท่าไร ต้องยื่นเมื่อไหร่

นอกจากนายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนลูกจ้างทุกเดือน อย่าให้ขาดแล้ว สิ่งนึงที่ขาดไม่ได้ก็คือ เรื่องการสมทบประกันสังคม

มาตรา 46 กำหนดให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้อัตรา 5% ในการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินเดือน 15,000 บาท ลูกจ้างต้องถูกหักประกันสังคม 5% = 750 บาท และนายจ้างสมทบอีก 5% = 750 บาท จากนั้น นายจ้างนำเงินทั้งหมดนำส่งให้ประกันสังคม = 750+750 = 1,500 บาท

มาตรา 47 กำหนดให้ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักเงินผู้ประกันตน พร้อมทั้งสมทบเงินส่วนของนายจ้างเข้าไปด้วย ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบ (กรณียื่นออนไลน์ขยายระยะเวลาอีก 7 วันทำการ)

สรุปสั้นๆ ก็คือ

หักเท่าไรยื่นเมื่อไร
ลูกจ้างถูกหัก อัตรา 5% แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
นายจ้างสมทบ อัตรา 5% แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ถ้ายื่นออนไลน์บวกอีก 7 วัน

ยื่นประกันสังคมออนไลน์ผ่านระบบ SSO (e-Service) ทำยังไงบ้าง?

ทุกวันนี้เถ้าแก่สามารถยื่นประกันสังคมออนไลน์ได้แล้ว นอกจากจะสะดวกยังได้สิทธิ์ขยายเวลาไปอีก 7 วันแหนะ วิธียื่นประกันสังคมรายเดือน แบบออนไลน์ผ่านระบบ e-service ต้องทำยังไงบ้าง ลองมาดูกันจ้า

  1. เข้าไปที่ระบบ e-service ของประกันสังคม (ถ้าสมัครใช้งานเรียบร้อยแล้ว) หลังจากนั้นเลือกที่ปุ่ม ส่งข้อมูลเงินสมทบ
SSO E-Service ประกันสังคม
SSO E-Service ประกันสังคม

2. เลือกวิธียื่นข้อมูลการส่งเงินสมทบ หากมีหลายสาขา อาจยื่นรวมกันในทีเดียว แต่ถ้าสถานประกอบการอยู่ที่เดียว ให้กดที่ปุ่มส่งเงินสมทบแบบแยกยื่น

เลือกวิธียื่นประกันสังคม
เลือกวิธียื่นประกันสังคม

3. เลือกวิธีการส่งข้อมูล หากมีพนักงานจำนวนมากให้ใช้วิธี “แนบไฟล์” แต่หามีพนักงานไม่กี่ราย ใช้วิธีกรอกข้อมูลอาจจะสะดวกกว่านะ และกดเลือกสถานประกอบการให้เรียบร้อย

เลือกวิธีส่งข้อมูล
เลือกวิธีส่งข้อมูล

4. ระบบจะให้เราเลือก งวดเดือน/ปี ที่เราจะนำส่งเงินสมทบ

เลือกงวดเดือนปี
เลือกงวดเดือนปี

5. ใส่รายละเอียดผู้ประกันตนให้เรียบร้อย

ใส่รายละเอียดผู้ประกันตน
ใส่รายละเอียดผู้ประกันตน

6. ตรวจสอบข้อมูล

ระบบจะโชว์หน้าสรุปข้อมูล ให้เราตรวจสอบ สามารถกดดูรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับข้อมูลลูกจ้างแต่ละคนได้ หลังจากนั้นกดปุ่มยืนยันเป็นอันเสร็จสิ้นการยื่นเงินสมทบในระบบ

ตรวจสอบข้อมูลก่อนกดยืนยัน
ตรวจสอบข้อมูลก่อนกดยืนยัน

เมื่อยื่นแล้ว อย่าลืมจ่ายเงินในกำหนด กรณียื่นแบบออนไลน์ จะขยายระยะเวลาจาก 15 วัน เพิ่มอีก 7 วันทำการจ้า

ตัวอย่างการคำนวณ เพื่อนำส่งประกันสังคม และเช็ครายงานเงินเดือนยังไง

สำหรับการคำนวณเพื่อนำส่งประกันสังคม อัตราปกติจะอยู่ที่ 5% จากเงินได้ของลูกจ้าง โดยฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณ จะไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างคำนวณประกันสังคม
ตัวอย่างคำนวณประกันสังคม

ตัวอย่าง เช่น บริษัท A มีลูกจ้างจำนวน 2 คน เงินเดือน 20,000 บาท และ 13,000 บาทตามลำดับ จะคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมดังนี้

เงินได้อัตราสมทบลูกจ้างถูกหักนายจ้างสมทบรวมส่งประกันสังคม
20,0005% (สูงสุดไม่เกิน 15,000)15,000×5%=75015,000×5%=750750+750 = 1,500
13,0005% (สูงสุดไม่เกิน 15,000)13,000×5%=65013,000×5%=650650+650 = 1,300
รวม2,800

ถ้าใครมีระบบโปรแกรมคำนวณเงินเดือน จะมีรายงานสรุปมาให้เลย ก่อนยื่นประกันสังคมก็เช็คกับรายงานเงินเดือนอีกทีด้วยนะ

เอกสารที่ใช้ในการบันทึกบัญชี มีอะไรบ้าง?

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการบันทึกบัญชี เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ดังนี้

  1. แบบนำส่งเงินสมทบ สปส. 1-10 ใช้สำหรับการบันทึกตั้งหนี้ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  2. ใบเสร็จรับเงิน รับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 ใช้สำหรับบันทึกจ่ายชำระเงินเข้ากองทุน

เอกสารทั้งหมดนี้อย่าลืมส่งให้นักบัญชีเป็นประจำทุกเดือนด้วยนะคะ

สรุป

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการยื่นแบบประกันสังคมประจำเดือนด้วยตัวเองค่ะ ถ้าจ้างพนักงานคนแรกแล้ว เถ้าแก่ต้องยื่นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นประจำทุกเดือนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เพราะค่าปรับก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสรรพากรเลย นอกจากนี้แล้วพนักงานเองก็ควรได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายด้วยนะ

ทำบัญชี มีรายงานเงินเดือน ยื่นประกันสังคมถูกต้อง ติดต่อ

Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ