อยากเริ่มธุรกิจต้องรู้ให้ชัดว่า “เงินทุนต้องใช้เท่าไร” กันแน่
หลายคน (รวมทั้งแอดมินเอง) ก็เคยเจอปัญหาที่ว่า เปิดธุรกิจแล้วทำไมต้องเติมเงินเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้กลับคืนมาสักที
นี่เป็นเพราะตอนเริ่มต้นอาจจะคิดไม่รอบว่าจริงๆ ธุรกิจเราต้องการเงินทุนเท่าไรกันแน่
ครั้นจะไปขอแม่มาเติมทุนบ่อยๆ แม่ก็ไม่มีทางปลื้มแน่นอน…น้ำตาไหลแพ๊พ
จริงๆแล้วเงินลงทุนธุรกิจต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง Zero to Profit จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกัน
เงินทุนนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามนี้
– เงินทุนในสินทรัพย์เริ่มต้น
– ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น
– ค่าใช้จ่ายประจำ
เอ..แล้วสามประเภทนี้มันต่างกันยังไง ประเภทไหนต้องใช้เงินเท่าไร ลองมาวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันแบบนี้
1. สินทรัพย์เริ่มต้น
ถ้าคิดจะทำธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ มันก็ต้องมีสินทรัพย์ธุรกิจกันสักหน่อย ….และสินทรัพย์ธุรกิจแต่ละตัวไม่ใช่ลงทุนน้อยๆ เลย
สินทรัพย์เริ่มต้นที่ว่าคืออะไร?
เงินลงทุนตัวนี้ เป็นการลงทุนในทรัพย์สินของธุรกิจเลย หมายถึงมีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ และที่สำคัญเงินที่ลงไปแม้มันจะมาก แต่ว่ามันไม่หายไปไหน เพราะเรายังได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างต่อเนื่อง
คุณแม่มือใหม่อยากเปิดร้านของเล่นขายจากต่างประเทศ ทีนี้ต้องมานั่งคิดละว่ากว่าจะเปิดร้านนี้ได้ต้องมีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง และมันราคาเท่าไร ตัวอย่างเช่น
– สร้างคลังสินค้า 5 แสน
– สต็อกสินค้า 1 ล้าน
– อุปกรณ์ออฟฟิศ 5 แสน
– รถขนส่ง 1 ล้าน
รวมๆ ตัวเลขแล้วได้ประมาณ 3 ล้านบาท ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ว่าถ้าคิดดีๆ เรายังใช้ประโยชน์จากมันได้เรื่อยๆ อย่างคลังสินค้า น่าจะใช้ประโยชน์ได้อีก 10 ปีเป็นอย่างต่ำ ไม่ได้บุบสลายไปง่ายๆ กับการเวลา ส่วนสต็อกสินค้า ที่ตุนไว้ก็ขายเป็นเงินหมุนเข้ามาได้เช่นกัน
2. ค่าใช้จ่ายครั้งแรก
ค่าใช้จ่ายครั้งแรก จำง่ายๆ แบบนี้ว่า เราจ่ายกันทีเดียวเพื่อให้เริ่มธุรกิจได้
อย่างเช่น ถ้าคุณแม่อยากแยกหน้าร้านขายออกมาต่างหากจากโกดัง และอยากทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งแรกดังนี้
– เตรียมร้าน ตกแต่งร้านให้สวยงามมุ้งมิ้ง เตะตาลูกค้า 5 แสนบาท
– ค่าใบรับรอง กรณีที่ต้องการให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าของเล่นมีคุณภาพ และไม่เป็นอันตรายต่อลูกค้า 2 แสน
– ค่าสร้างแบรนด์ ให้ลูกค้ารู้จัก 2 แสน
– ค่าการตลาดเปิดตัว 1 แสน
ทั้งหมด 1 ล้านนี้ เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจในครั้งแรก ซึ่งต่างจากสินทรัพย์เริ่มต้นตรงที่ อาจจะให้ประโยชน์คราวเดียวจบ ไม่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของตลอดไป
3. ค่าใช้จ่ายประจำ
อย่าเพิ่งขมวดคิ้วไป ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่า ทำไมเราต้องรวมค่าใช้จ่ายประจำมาเป็นเงินทุนตั้งต้นด้วยล่ะ
เหตุผลเพราะว่า ถ้าร้านเปิดใหม่กระแสเงินสดยังไม่เข้ามา เราจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่เตรียมเงินสำรองไว้
หลายธุรกิจที่เปิดแล้วคิดว่าจะไปได้ดี แต่ช่วงแรกเงินยังไม่เข้า อาจเสี่ยงเจ๊งง่ายๆ แบบไม่รู้ตัว
ฉะนั้น อย่าลืมสำรวจค่าใช้จ่ายประจำแต่ละเดือนเผื่อไว้ แล้วคูณจำนวนเดือนที่คิดว่าต้องใช้เงินหมุนเข้าไป ก็จะได้เงินทุนส่วนนี้มารวมกับอีกสองส่วนแรกด้วยล่ะ
อย่างร้านขายของเล่นของคุณแม่ เดือนๆ นึงน่าจะมีค่าใช้จ่ายประจำแบบนี้
– ค่าพนักงาน
– ค่าวัสดุสิ้นเปลือง
– ค่าเช่า ค่าน้ำไฟ
– ดอกเบี้ย …กรณีแพลนว่าที่กู้ธนาคารมาทำ
คิดรวมแล้วเป็นเดือนละ 0.93 ล้านบาท และถ้าสมมติว่าใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะมีลูกค้าตามเป้า คูณกันเสร็จสรรพได้ 2.79 ล้านบาท
รวมเงินทุน 3 แบบ ทั้งสินทรัพย์เริ่มต้น (3 ล้าน) + ค่าใช้จ่ายจ่ายครั้งเดียว (1.8 ล้าน) + ค่าใช้จ่ายประจำ (2.79 ล้าน) = 7.59 ล้านบาท
เงินจำนวนนี้ไม่น้อยเลยสำหรับการเริ่มธุรกิจร้านขายของเล่นแบบครบวงจรร้านนึง
แต่อย่างน้อยตัวเลข “เงินทุน” นี้ก็ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าจะเปิดธุรกิจนี้ดีมั้ย และจะหาเงินจากไหนมาลงทุน
การรู้เงินทุน (แม้จะไม่เป๊ะ) เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนธุรกิจที่ดี ซึ่งต้องคิดให้รอบด้วยว่ามีครบแล้ว 3 ก้อนไหม
และถ้าวันนี้รู้แล้วว่าอยากทำธุรกิจอะไร อย่าลืมคำนวณเงินลงทุนในใจ แล้วค่อยไปต่อกัน
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit