รู้จักวิธีคำนวณอายุสินค้า

รู้จักวิธีคำนวณอายุสินค้า เช็กให้ดีก่อนเงินจม

มีคนเคยบอกว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” แต่คำพูดนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไป ถ้าเรากำลังพูดถึง “อายุสินค้า”

คนทำธุรกิจทุกคน น่าจะรู้ดีว่า ถ้าสินค้าอายุเยอะๆ ก็ยิ่งเสี่ยงขาดทุนสูง (ถ้าไม่ใช่สินค้าเฉพาะอย่างพวกเหล้า ไวน์) สาเหตุเพราะไม่มีลูกค้าคนไหน อยากได้สินค้าเก่า ตกรุ่นไปไว้ในครอบครองจริงไหมคะ

แล้วเจ้าอายุของสินค้านั้น มันคืออะไร เราจะคำนวณยังไง ต้องเอาข้อมูลมาจากไหนบ้าง วันนี้ Zero to Profit จะมาไขข้อสงสัยให้ทุกคนค่ะ รับรองว่าถ้ารู้แล้ว สต็อกสินค้าทุกคนจะมีสุขภาพดีขึ้น และเถ้าแก่จะบริหารจัดการสินค้าได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

อายุสินค้าคืออะไร?

อายุของสินค้า คือ การประเมินเวลาที่เราถือสินค้าไว้ในคลังว่าเป็นจำนวนทั้งสิ้นกี่วัน เช่น 30 วัน 60 วัน 90 วัน หรือมากกว่า เพื่อจัดหมวดหมู่ว่าสินค้านั้นยังเป็นสินค้าหมุนเวียนเร็วไหม หรือหมุนเวียนช้า หรือแย่กว่านั้น ก็จะเป็นสินค้าล้าสมัย

การนับอายุของสินค้าแต่ละประเภทนั้น จะเริ่มนับต่างกันแบบนี้

  • วัตถุดิบ = นับจากวันที่ซื้อเข้า จนถึงวันที่รายงาน (ถ้าเบิกไปผลิตแล้ว ไม่นับอายุ)
  • งานระหว่างทำ = นับจากวันที่เริ่มเข้ากระบวนการผลิต จนถึงวันที่รายงาน (ถ้าผลิตเสร็จแล้ว ไม่นับอายุ)
  • สินค้าสำเร็จรูป = นับจากวันที่ผลิตเสร็จ จนถึงวันที่รายงาน (ถ้าขายไปแล้ว ไม่นับอายุ)

รู้อายุของสินค้าแล้วดียังไง?

ข้อดีของการรู้อายุของสินค้าแต่ละชนิดช่วยให้เราบริหารจัดการคลังสินค้าได้ดีขึ้น เช่น

ทำไมต้องรู้อายุสินค้า
ทำไมต้องรู้อายุสินค้า
  • รู้ว่าสินค้าอะไรเคลื่อนไหวช้า ล้าสมัย สินค้าใดหมุนเวียนเร็วบ้าง
  • รู้ว่าต้องสั่งของมาเติมสต็อกเมื่อไร
  • ทำให้วางแผนบริหารการหมุนเวียนสินค้าได้ดีขึ้น
  • ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าเกินความจำเป็น
  • ลดความเสี่ยงสินค้าขาดสต็อก ขาดโอกาสขายให้ลูกค้า

เอาล่ะ ตอนนี้ทุกคนน่าจะพอเห็นภาพว่าอายุ สินค้าคืออะไร และสำคัญยังไงแล้ว ต่อมาเราจะพาทุกคนมาลองคำนวณอายุ สินค้ากันค่ะ

วิธีการคำนวณอายุสินค้า Step-by Step

1.เตรียมข้อมูลสินค้าให้พร้อม

ข้อมูลที่ต้องเตรียมสำหรับการคำนวณอายุ สินค้า ได้แก่

  • รายละเอียดสินค้า ประกอบด้วย รหัสสินค้า ล็อตสินค้า ชื่อสินค้า
  • จำนวนสินค้าคงเหลือ
  • ราคาสินค้าต่อหน่วย
  • มูลค่าสินค้า
  • วันที่ซื้อสินค้า

ถ้าใครมีระบบควบคุมสินค้าที่ดีก็จะมีข้อมูลเหล่านี้ในมือแบบสบายๆ ไม่ต้องไปควานหาให้ยากเลยค่ะ

2. แบ่งช่วงอายุ สินค้าที่อยากวิเคราะห์

การแบ่งช่วงอายุ สินค้าเป็นเรื่องที่จำเป็น และแต่ละกิจการอาจกำหนดช่วงอายุที่ต้องการวิเคราะห์แตกต่างกันค่ะ

จากตัวอย่างนี้ เราแบ่งช่วงอายุ สินค้าออกเป็น 5 ช่วง ดังต่อไปนี้

กำหนดช่วงอายุของสินค้า
กำหนดช่วงอายุของสินค้า

3. คำนวณจำนวนวันอายุของสินค้า

สูตรในการคำนวณจำนวนวันหรือ อายุของสินค้า (Inventory Aging) ให้คิดแบบนี้

อายุของสินค้า = วันนี้ – วันที่ซื้อ + 1

วิธีคำนวณอายุ สินค้า
วิธีคำนวณอายุ สินค้า

4. เช็คสัดส่วนสินค้าที่อยู่ในแต่ละช่วงอายุ

เมื่อคำนวณจำนวนวันของสินค้าได้แล้ว และรู้ว่าสินค้าแต่ละชนิด แต่ละล็อตนั้นมีอายุเท่าไร ข้อมูลตรงนี้อาจทำให้เราสับสนถ้ามีสินค้าจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงควรสรุปมูลค่าสินค้าตามอายุ และคิดสัดส่วนสินค้าว่าแต่ละช่วงอายุมีสินค้าจำนวนเท่าไร และคิดเป็นเปอร์เซนต์เท่าไรกันนะ

รายงานอายุของสินค้า
รายงานอายุของสินค้า

5. วิเคราะห์เจาะลึกสินค้าอายุน้อย-มาก

ข้อสุดท้ายเป็นข้อที่สำคัญมากๆ เลย ก็คือ การวิเคราะห์สินค้าอายุน้อย-มาก เพื่อดูกว่าสินค้าชนิดไหนมีปัญหาบ้าง จากตัวอย่างนี้เป็นร้านขายผลไม้แช่แข็ง ถ้าลองวิเคราะห์สินค้าตามอายุ เราจะพบว่า

รีวิวสินค้ายังไงดี
รีวิวสินค้ายังไงดี
  • มีสินค้าแค่ 2 ชนิดที่ขายดี อายุหมุนเวียนเร็วภายใน 30 วัน คิดเป็น 12% ของสินค้าทั้งหมด คือ แอปเปิ้ล และองุ่น
  • สินค้าที่อายุเกิน 120 วันมีจำนวนทั้งสิ้น 597,424 บาท หรือ คิดเป็น 47% ของสินค้าทั้งหมด ของพวกนี้อาจเน่าเสียไปแล้วก็ได้
  • สินค้าที่อายุตั้งแต่ 91-120 วัน มีจำนวน 320,098 บาท หรือ 25% ของสินค้าทั้งหมด ถึงแม้จะเก็บในห้องเย็น คุณภาพอาจจะไม่ดีแล้ว หรืออายุเท่านี้อาจเตรียมตัวเน่าเสียแล้ว ถ้าไม่หาทางระบาย

เห็นมั้ยคะว่า แค่เพียงเรารู้วิธีคำนวณอายุ สินค้า เราอาจจะเช็กได้เร็วขึ้นว่าสินค้าตัวไหนมีปัญหาและควรจะจัดการกับมันอย่างไรดี

ดาวน์โหลดไฟล์คำนวณอายุของสินค้าที่นี่ ฟรี

เอาล่ะ ทีนี้สำหรับคนที่อยากคำนวณอายุของสินค้าใจจะขาด แต่ไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ทุกคนสามารถ Download ไฟล์คำนวณอายุของสินค้าจากลิงก์นี้ไปใช้งานได้เลย

และสำหรับใครที่มีสินค้าอายุเยอะๆ จำนวนมาก แล้วยังหาทางออกไม่ได้ เราแนะนำอ่านบทความนี้ต่อเลยค่ะ: สินค้าล้นสต๊อก ต้องจัดการยังไง

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ