ถาม-ตอบ วิธีบริหารเงินส่วนตัวให้รุ่ง และธุรกิจให้รอด

ถาม-ตอบ วิธีบริหารเงินส่วนตัวให้รุ่ง และธุรกิจให้รอด

บริหารเงินส่วนตัวให้รุ่ง บริหารเงินธุรกิจให้รอด ต้องมีเทคนิคอะไรบ้าง เรามาพบกันคำถาม-ตอบ ในตอนใหม่ที่นี่ได้เลยจ้า

Q: เราควรเริ่มต้นบริหารเงินธุรกิจยังไง?

A: อันดับแรกก่อนที่จะไปเริ่มต้นบริหารเงินธุรกิจ อยากให้ทุกคนลองมองย้อนกลับมาที่การบริหารเงินส่วนบุคคลก่อน เพราะถ้าเราบริหารเงินส่วนตัวได้ดี แบ่งเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัว เงินสำรองฉุกเฉิน และเงินออมไว้แล้ว ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในธุรกิจต่อก็สามารถทำได้

ยกตัวอย่างเช่น เรามีรายได้ปีละ 1 ล้าน หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในครอบครัวเหลือ 4 แสน จากนั้นเราเก็บเงินสำรองไว้ 2 แสน และเป็นเงินออม 3 แสน ที่เหลือ 1 แสนค่อยนำไปลงทุนในธุรกิจได้

Q: แปลว่าเราลงทุนในธุรกิจได้แค่ 1 แสนเท่านั้นใช่ป่าว

A: ไม่จำเป็นเสมอไป เราอาจจะลงทุนมากกว่านั้นก็ได้ แต่ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าการลงทุนในธุรกิจมีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะขาดทุนพอๆ กับโอกาสที่จะได้กำไร ถ้ามี 1 แสนลง 1 แสนถ้าเจ๊งก็จะสูญเสียมากสุดเท่านี้ ซึ่งหลายคนลืมคิดเรื่องนี้ไป มีเงินเท่าไรก็ไปลงทุนในธุรกิจหมด แถมยังไปกู้เงินมาเพิ่มเกินตัวเพื่อลงทุนอีก พอถึงเวลาเจ๊งนอกจากเงินที่ลงทุนจะหายไป อาจลุกลามไปถึงทรัพย์สินส่วนตัวที่เอาไปค้ำประกันกู้เงินด้วย เจ้าของธุรกิจต้องคิดตรงนี้ให้ดีๆ เลยว่าถ้าธุรกิจไปได้ไม่ดีอย่างที่ฝัน เราจะจัดการลิมิตความเสียหายอย่างไรได้บ้าง หรือเท่าไรที่เรายอมรับได้ถ้าขาดทุน

Q: ถ้าบริหารเงินส่วนตัวได้แล้ว ต่อไปควรบริหารเงินธุรกิจยังไง

A: ก่อนอื่นต้องรู้ 3 เรื่องนี้ก่อน

  1. เรามีเงินเท่าไร อันนี้ไม่ยากแค่เช็คเงินใน bank ก็รู้ว่าเรามีเงินเท่าไร
  2. เงินมาจากไหน ตัวนี้ต้องรู้ที่มาของเงิน ส่วนใหญ่มักจะมาจากรายได้หลักของธุรกิจ
  3. เงินหายไปไหนบ้าง หมายถึงจ่ายเงินอะไรบ้าง เช่น เดือนนึงค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 1 แสนบาท แบ่งเป็นต้นทุน 50% เงินเดือน 30% และค่าใช้จ่ายออฟฟิศ 20%

พอเข้าใจ 3 เรื่องนี้แล้ว เราน่าจะประมาณการเงินที่ควรจะมีไว้อย่างต่ำได้ เช่น ต้องมีอย่างน้อยเพื่อจ่ายหนี้เดือนหน้า และถ้าจะให้ดีควรมีเหลือพอสำหรับใช้จ่าย 3-6 เดือนข้างหน้า

Q: แล้วธุรกิจที่มีสภาพคล่องเค้าดูกันที่เงินสดอย่างเดียวไหม

A: เงินสดเป็นส่วนนึงของการเช็คสภาพคล่องธุรกิจ แต่ธุรกิจที่มีสภาพคล่องต้องมองหลายองค์ประกอบร่วมกัน เพราะถ้าเราเก็บเงินสดไว้อย่างเดียวเยอะๆ ในธนาคารอาจขาดโอกาสในการสร้างผลกำไร

ฉะนั้น ถ้ามองแบบภาพกว้างๆ การมีสินทรัพย์แบบหมุนเวียน อย่างสินค้าคงเหลือ และลูกหนี้การค้า ถ้าโดยรวมแล้วรวมกับเงินสดแล้วยังมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนก็ยังถือว่ามีสภาพคล่องอยู่

Q: สินทรัพย์หมุนเวียนคืออะไร หนี้สินหมุนเวียนคืออะไร

A: สินทรัพย์หมุนเวียน คือ ของอะไรก็ตามที่เป็นของเรายังใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายๆ ภายใน 1 ปี เช่น สินค้าคงเหลือพอวางขายปุ๊บอาจขายไม่ได้วันนี้ปั๊บ แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วไม่น่าจะนานกว่า 1 ปีก็สามารถสร้างกระแสเงินสดรับเข้ามาในมือได้

แต่ถ้าเป็นพวกสินทรัพย์ใหญ่ๆ อย่างเครื่องจักร อาคาร อุปกรณ์ สินทรัพย์พวกนี้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเพราะธุรกิจใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว จะเอามาขายก็ไม่น่าจะมีคนซื้อในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนหนี้สินหมุนเวียนเป็นขั้วตรงข้ามกับสินทรัพย์หมุนเวียนเลย คือ เป็นภาระผูกพันของกิจการที่เราจะต้องจ่ายคืนให้กับบุคคลอื่นไป ทำให้มีกระแสเงินสดออกภายใน 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น ซื้อวัตถุดิบแบบเงินเชื่อมา เครดิตเทอม 30 วัน แปลว่าวันที่ซื้อเรามีหนี้สินที่เรียกกว่าหนี้สินหมุนเวียนเกิดขึ้นแล้วค่ะ หรือการมีเงินกู้ยืมระยะสั้นภายใน 1 ปีอันนี้ก็เรียกว่าหนี้สินหมุนเวียนเช่นกัน

แต่ก็มีเงินกู้บางประเภท เช่น สัญญา 5 ปี ทยอยจ่ายปีละล้าน เราจะแบ่งเงิน 1 ล้านเป็นหนี้สินหมุนเวียนนะเพราะจะจ่ายภายในปีหน้า ส่วนที่เหลือ 4 ล้านก็เป็นหนี้สินไม่หมุนเวียนแทน

Q: อยากให้เงินธุรกิจ Flow ควรเช็คเสมอว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนใช่ไหม แล้วถ้าสินค้าคงเหลือขายไม่ค่อยออกล่ะยังเรียกว่าเงินธุรกิจ Flow อยู่รึป่าว

A: ขั้นต่ำของธุรกิจที่เงินหมุนเวียนได้ดีคือ ต้องมีสินทรัพย์หมุนเวียนรวมมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน แต่ถ้าเราบอกว่าสินค้าคงเหลือของเรามันเริ่มจะหมุนไม่ค่อยดีละ ลองมองแบบนี้โดยแยกส่วนสินค้าคงเหลือออกมาจากสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด แล้วค่อยเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนก็ได้ อันนี้ไม่ได้ผิดอะไรค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมุมมองของเรา

บางทีลูกหนี้จ่ายช้า สินค้าขายไม่ออก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วว่าธุรกิจอาจไม่มีสภาพคล่องเหมือนเก่า เราต้องหมั่นอ่านงบและเฝ้าสังเกตอยู่ตลอดเวลา

Q: โดยสรุปแล้วบริหารเงินยังไงดี ให้ทั้งตัวเองและธุรกิจ Flow ไปพร้อมๆ กัน

A: เริ่มต้นจากบริหารเงินส่วนตัวก่อนเป็นอันดับแรก เอาให้ตัวเองรอดก่อน แล้วเงินส่วนที่เหลือค่อยแบ่งมาลงทุนในธุรกิจ เพราะแบบนี้จะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาดทุนได้ที่สูงสุดเท่าที่เรากันเงินไว้ ส่วนตัวธุรกิจเองต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงินเรามีเท่าไร เงินมาจากไหน แล้วเราจ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง ก่อนจะกันเงินสดไว้สำหรับการใช้จ่ายธุรกิจ นอกจากนี้แล้วเราต้องเข้าใจเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจด้วย คือ รู้ว่าสินทรัพย์แบบไหนหมุนเวียนเป็นเงินสดได้ดีบ้าง และรู้ว่าหนี้สินแบบไหนเป็นหนี้สินหมุนเวียนที่ต้องรีบชำระในปีบ้าง ขั้นต่ำพยายามมีสินทรัพย์หมุนเวียนให้มากกว่าหนี้สินหมุนเวียนเสมอ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ