ถาม-ตอบ เรื่องพื้นฐานการจดบริษัท (ตอนที่ 2)

ถาม-ตอบ เรื่องพื้นฐานการจดบริษัท (ตอนที่ 2)

มาต่อกันที่ตอนที่ 2 สำหรับคำถาม-ตอบยอดฮิต สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ที่สงสัยว่าต้องทำอะไรบ้างเมื่อจดบริษัท จริงมั้ยที่นักบัญชีเก่งจะช่วยลดภาษีได้ ทำไมธุรกิจไปได้ดีแต่ไม่มีเงินเหลือ วางแผนภาษีเองยังไงดี ทำธุรกิจแล้วจะวัดผลอย่างไร

สำหรับใครที่อยากรู้คำตอบ ลองอ่านสรุป ในโพสนี้ได้เลย

Q: อะไรบ้างที่ควรทำทันที หลังจากที่เปิดบริษัทของตัวเอง

A: 9 สิ่งต่อไปนี้ควรทำทันทีหลังจดบริษัท

  1. เปิดบัญชีธุรกิจ เพื่อแยกกระเป๋าธุรกิจออกจากส่วนตัวให้เด็ดขาด
  2. จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ารายได้ไม่ได้รับยกเว้น และรายได้รวมต่อปีถึง 1.8 ล้าน
  3. เข้าใจลักษณะธุรกิจ ว่าธุรกิจมีวงจรการค้ายังไง มีกระบวนการอะไรบ้าง
  4. วางระบบการขาย รับให้ง่าย ด้วยเอกสารการขายที่สมบูรณ์
  5. วางระบบการซื้อและค่าใช้จ่าย จ่ายให้เป็นระบบ มีคนตรวจสอบ ก่อนชำระเงินออกไป
  6. วางระบบสินค้า คุมสต๊อกให้อยู่ ว่ารับเท่าไร เบิกเท่าไร เหลือเท่าไร
  7. วางระบบเงินสด เก็บเงินปลอดภัย เป็นระเบียบ และทุกครั้งที่เบิกเงินต้องมีเอกสาร
  8. ทำบัญชี นอกจากจะทำตามกฎหมายแล้ว เจ้าของกิจการควรได้ประโยชน์จากข้อมูลบัญชี
  9. ยื่นภาษี ก่อนจะยื่นต้องรู้ว่ามีภาษีอะไรเกี่ยวกับเราบ้าง

ทั้งหมดนี้เป็น 9 สิ่งที่ควรทำทันทีหลังเปิดบริษัท เรื่องเอกสาร บัญชี และภาษี อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องไกลตัว ถ้าไม่ถนัดเรื่องนี้จริงๆ ติดต่อนักบัญชีให้ช่วยวางระบบเอกสารเหล่านี้ให้ได้นะ

Q: จริงหรือไม่ ถ้าคนทำบัญชีเก่ง บริษัทเราจะไม่ต้องเสียภาษี

A: ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่า นักบัญชีที่เก่ง คือ ต้องวางแผนภาษีเก่งด้วย จริงๆ แล้วการทำบัญชีต้องการแค่ความถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี ส่วนภาษีก็ต้องทำตามกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ถ้าจะวัดความเก่งของการวางแผนภาษีจากนักบัญชี ก็อาจจะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะข้อมูลต้นทางมาจากผู้ประกอบการ ส่วนนักบัญชีเป็นคนบันทึกข้อมูลตอนปลายทาง

ถ้าอยากวางแผนภาษีให้ประหยัดที่สุด ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ภาษี และทำตามกฎเกณฑ์ทางภาษีให้ได้ ก่อนจะเอาข้อมูลมาให้นักบัญชีบันทึก

อย่าลืมว่า การวางแผน คือ การวางแผนไว้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องวางไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มไม่ใช่หลังที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ประกอบการเองจึงเป็นตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่นักบัญชีเท่านั้น

Q: ธุรกิจไปได้ดี แต่ทำไมไม่มีเงินเหลือ

A: สาเหตุของปัญหานี้คือ มีกำไร แต่ไม่มีเงินสด

เงินสด คือ เงินสดในมือเงินฝากธนาคารไม่ใช่กำไร เพราะกำไร เกิดจากรายได้ – ค่าใช้จ่าย บางทีรายได้ที่เกิดอาจจะเกิดจากการขายเชื่อ สุดท้ายมีกำไรก็ไม่ได้แปลว่ามีเงินสดในมือ ถ้ายังเก็บเงินไม่ได้

เจ้าของกิจการ ต้องดูแยกกัน 1) มีกำไร คือ รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 2) มีเงินสดเหลือ คือ นับเงินในมือแล้วยังมีเพียงพอใช้ มีสองเรื่องนี้ครบจึงถือว่ากิจการยังสุขภาพดีอยู่

และนอกจากจะบริหารกำไรแล้ว อย่าลืมบริหารเงินสดด้วย 3 เทคนิคนี้

  1. เงินสดเข้า ขายเร็ว + เก็บเงินไว
  2. เงินสดออก ทำยังไงเงินออกช้าลง แต่ไม่ผิดนัด เช่น ขอเครดิตเทอมเพิ่มหน่อย จ่ายเงินให้เป็นระบบ
  3. เงินเหลือ มีให้พอสำหรับใช้จ่ายขั้นต่ำ เช่น 2-3 เดือน (ระหว่างรอเงินเข้าจากการขาย)

Q: เจ้าของธุรกิจวางแผนภาษีเองได้หรือไม่

เจ้าของธุรกิจ เริ่มต้นวางแผนภาษีได้จะต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจเราเป็นแบบไหน และเกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง

หลักๆ แล้วภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมี 3 ตัวนี้

  1. ภาษีเงินได้  ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เราจะจ่ายภาษีตัวนี้ก็ต่อเมื่อทำการค้าและมีกำไร แล้วถ้าเราพอจะรู้ว่าในแต่ละปีเราจะมีกำไรเท่าไรแล้ว คำนวณภาษีไว้ล่วงหน้าทุกๆ เดือนแล้วว่า เดือนนี้มีภาษีที่เป็นค่าใช้จ่ายเก็บไว้รอจ่ายอยู่นะ จะได้ไม่เซอร์ไพรซ์ตอนกลางปีหรือปลายปีว่า เอ ทำไมเราต้องจ่ายภาษีเยอะจัง
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องรู้ก่อนว่าเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ถ้าสมมติเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการซื้อสินค้าเข้ามา เกิดภาษีซื้อ ตัวนี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของกิจการ เพราะเราเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะสามารถนำภาษีซื้อที่จ่ายไปหักกลบกับภาษีขายได้ ทำให้ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่นำส่งสรรพากรลดลง
  3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป บางตัวมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องหักไว้ตามอัตรากฎหมายกำหนด

พอเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะต้องมาเริ่มวางระบบบัญชีให้

  1. ออกเอกสารให้ถูกต้องตามหลักที่ภาษีกำหนด
  2. เก็บค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน และมีเอกสารประกอบครบ
  3. อ่านงบการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจตลอดปีว่า ภาษีที่ต้องจ่ายปลายปีเป็นจำนวนเท่าไร

และเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการภาษีในแต่ละปี อาจจะศึกษาเพิ่มหรือปรึกษาสำนักงานบัญชีว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรที่เราสามารถใช้ได้บ้าง ถ้าเจ้าของกิจการทำได้แบบนี้ การวางแผนภาษีจะไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวอีกต่อไป

Q: ธุรกิจ “เจ๊ง หรือ เจ๊า” เราจะวัดผลได้อย่างไร

A: การทำธุรกิจ “เจ๊ง” หรือ “เจ๊า” แนะนำว่าให้เริ่มต้นจากบัญชี ทำบัญชีด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรก

จากนั้นเราจะมีงบการเงินที่สะท้อนข้อมูลตามความเป็นจริง แล้วให้ทุกคนดู 3 เรื่องนี้

  1. งบกำไรขาดทุน ต้องมีกำไร คือ รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย
  2. งบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน ต้องมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เพราะสุดท้ายแล้วความมั่งคั่งของเจ้าของธุรกิจ เราวัดกันที่ส่วนของเจ้าของที่เหลืออยู่มีมากขึ้นเท่าไร
  3. เงินสด มีต้องมีเข้ามากกว่าเงินออก เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง เจ๊งโดยไม่รู้ตัว

3 เรื่องที่ฝากไว้สำหรับการวัดผลธุรกิจ ถ้าเรามีกำไรพอ เงินสดพอ ความมั่งคั่งพอ การเสียภาษีเพราะมีกำไรคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราต้องกังวล

สรุปสุดท้าย

4 หัวข้อหลักๆ ที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่ต้องรู้ก่อนเริ่มจดบริษัท

1.เริ่มถูกต้อง คือ รู้ว่าเราเหมาะกับการทำธุรกิจรูปแบบไหน ถ้าจะจัดตั้งบริษัทต้องทำอย่างไร ลงทุนเท่าไร ต้องจด Vat ไหม จดทะเบียนพาณิชย์หรือเปล่า  

2.ทำบัญชีให้เป็นระบบ ถ้าไม่นับว่าต้องทำบัญชีตามกฎหมาย การทำบัญชีให้เป็นระบบ มีเอกสารครบถ้วน เหมาะสม รู้ว่าเรามีรายได้ ค่าใช้จ่าย เท่าไร เพื่อที่จะได้เอาข้อมูลไปบริหารจัดการธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

3.จัดการเงิน นอกจากกำไรขาดทุนทางบัญชี ต้องรู้เรื่องการเงินให้มากพอ ว่ากิจการมีเงินเข้าออกจากอะไร เงินไม่พอควรไปหาจากไหน และเงินเหลือเราต้องทำอย่างไร

4.วางแผนภาษี ต้องรู้ก่อนว่ามีภาษีอะไรเกี่ยวข้องกับธุรกิจเราบ้าง แล้วค่อยวางแผนไปทีละ step

ใน 4 ข้อนี้ ถ้าคิดตามไปพร้อมๆ กันจะรู้ว่าข้อมูลทางบัญชีนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสำหรับเรื่องการเงินและภาษี

ถ้าอยากเริ่มธุรกิจอย่างสตรอง อย่าลืมสตาร์ทด้วยการทำบัญชี ก่อนจะไปต่อที่การวางแผนภาษีและการเงิน

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ