การลงทุนในธุรกิจ ทุกคนย่อมหวังผลกำไร
ถ้าลงทุนในรูปแบบบริษัทกำไรที่แบ่งกันจะเรียกว่า เงินปันผล แต่ถ้าลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัด กำไรที่แบ่งกันจะเรียกว่า ส่วนแบ่งกำไร
แต่ก่อนที่จะแบ่งผลกำไรกันนั้น อยากให้ลองสำรวจตัวเองสักนิดว่าเรามีกำไรจริงๆ หรือเปล่า
คำถามนี้อาจฟังดูขัดหู แต่เชื่อมั้ยว่า หลายๆ ธุรกิจคิดว่าตัวเองมีกำไรจึงแบ่งเงินออกไปทุกปีๆ ทั้งที่ความจริงแล้วเราอาจเข้าใจผิดทั้งหมดก็ได้ ฉะนั้นก่อนจะแบ่งกำไร ต้องมองลงไปให้ลึกๆ ถึง 2 ประเด็นสำคัญ
1.กำไรที่ว่าต้องเป็นกำไรสะสม
หมายถึง ผลรวมของกำไรขาดทุนทุกปีที่ผ่านมายังต้องเป็นบวกอยู่ จึงจะแบ่งกำไรในธุรกิจได้
ยกตัวอย่างเช่น ปี 63 ขาดทุน 50,000 บาท ปี 64 กำไร 20,000 บาท คิดเป็นขาดทุนสะสม = -50,000+20,000 = -30,000 บาท มองโดยภาพรวมแล้วก็ยังไม่คืนทุนเลย จึงไม่สมควรที่จะแบ่งกำไรกันตอนนี้
แต่ถ้า ปี 63 มีขาดทุน 10,000 ปี 64 มีกำไร 20,000 บาท ผลรวมสุทธิคิดเป็นกำไรสะสม = 10,000 บาท ก็ยังสามารถแบ่งกำไรกันได้
2.กำไรแต่ละปีต้องคำนวณจาก รายได้ หักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด
หลายคนเข้าใจผิดว่าแค่มีเงินสดเหลือก็น่าจะแบ่งกำไรได้ แต่ในความเป็นจริง เงินสดที่เหลืออาจจะมาจากเงินรับล่วงหน้า หรือหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระ ไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของกิจการ
ถ้าอยากรู้ว่ากิจการมีกำไรเท่าไรกันแน่ ให้คำนวณจาก รายได้ – ค่าใช้จ่ายทั้งหมด
และนอกจากนี้ เจ้าของกิจการส่วนใหญ่มักลืมคิดค่าใช้จ่ายที่สำคัญๆ อย่าง
- เงินเดือนตัวเอง
- ค่าเสื่อมราคา
- ภาษีประจำปี
เลยทำให้งบดูเหมือนมีกำไรมหาศาล แต่แท้จริงแล้วถ้าลองคิดค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน เราอาจจะไม่ได้มีกำไรมากมายพอที่จะแบ่งคืนกลับไปให้หุ้นส่วนในเวลานี้
และสุดท้ายก่อนที่จะแบ่งกำไร อย่าลืมท่องไว้ในใจเสมอว่ากำไรที่แบ่งไป คือ กระแสเงินสดที่ไหลออก อาจไม่มีวันย้อนคืนกลับมาในเวลาที่เราต้องการใช้เงินจริงๆ
ถ้าสุดท้ายแล้วการแบ่งกำไร คือ การจ่ายเงินที่ควรใช้สำหรับลงทุนขยายธุรกิจในอนาคต มันคงน่าเสียดายไม่น้อยเลยทีเดียว
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit