ถาม-ตอบ อยากเลิกบริษัทต้องรู้อะไรบ้าง?

ถาม-ตอบ อยากเลิกบริษัทต้องรู้อะไรบ้าง?

ทำธุรกิจมาหลายปีคิดว่าไปได้ไม่ดีก็อยากจะเลิก แต่เลิกบริษัท ไม่ได้ง่ายเหมือนกับการบอกเลิกแฟน (เอาจริง..บอกเลิกแฟนก็ไม่ได้ง่ายสำหรับใครบางคนเช่นกัน555)

ซีรีย์ถามตอบตอนนี้ เราเลยจะชวนทุกคนมาคุยกันว่า ถ้าอยากเลิกบริษัทเราต้องเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง

Q: อยู่ดีๆ อยากเลิกบริษัท เดินไปจดเลิกเลยได้ไหม?

A: อย่างทีเคยบอกไป เลิกบริษัทไม่ได้ทำง่ายๆ เหมือนตอนจดบริษัท ที่เราจดจัดตั้งวันเดียวก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าจะเลิกบริษัทเราต้องสำรวจตัวเอง 3 ประเด็นหลักๆ ตามนี้ก่อน

1.บริษัทเคยส่งงบและภาษีเป็นประจำทุกปีมั้ย ถ้ายังไม่เคยทำอะไรเลย ต้องทำย้อนหลังให้เรียบร้อยในแต่ละปีก่อน

2.ผู้ถือหุ้นตกลงที่จะเลิกร่วมกันไหม ต้องคุยกันให้รู้เรื่องมีมติประชุมเรียบร้อย การจดเลิกจึงดำเนินได้

3.บริษัทจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าจด VAT ก็ต้องแจ้งจดเลิกที่กรมสรรพากรด้วย

Q: ถ้าไม่เคยมีรายได้แล้วไม่ส่งงบ อยากจดเลิกปีนี้ไม่ต้องไปย้อนทำปีก่อนได้มั้ย?

A: ไม่ได้ เพราะว่าตามกฎหมายแล้ว เมื่อเราจดบริษัทจะต้องยื่นงบการเงินและส่งภาษีทุกปี แม้ว่าจะไม่มีรายได้ก็ตาม

แปลว่า ถ้าอยากจะจดเลิกบริษัท เราต้องนำส่งงบการเงินและภาษีย้อนหลังให้เรียบร้อยเสียก่อน

ยกตัวอย่างเช่น จดบริษัทปี 62 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ทำอะไร และนอกจากนี้ก็ไม่ได้ส่งงบและภาษีด้วย (เคสนี้นักบัญชีถึงกับเอาเท้าก่ายหน้าผากเลยล่ะ)

วิธีแก้ไข คือ เราต้องทำตัวเป็นคนดีเสียก่อน แก้ไขความผิดพลาดในอดีต และทำตัวเป็นคนดีส่งงบปี 62, 63, 64 ให้เรียบร้อยเสียก่อน และภาษีเงินได้นิติบุคคลเองก็เช่นกัน อย่าลืมนำส่งกรมพัฒน์และกรมสรรพากรให้เรียบร้อย

ค่าปรับสำหรับการส่งงบและยื่นภาษีล่าช้ามีอยู่แล้วแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยอันนี้ต้องให้นักบัญชีที่มีประสบการณ์ ช่วยให้คำแนะนำด้วยเช่นกัน

สรุปสั้นๆ จากตรงนี้ ถ้าใครมีบริษัทเป็นของตัวเอง อย่าลืมยื่นงบและภาษีทุกๆ ปีเป็นประจำ เพราะมันจะได้ไม่เป็นปัญหาตามมาในอนาคตแบบนี้ไงล่ะ

Q: ถ้าเพื่อนไม่ยอมเลิกด้วยเราต้องทำยังไง

A: ขึ้นชื่อว่าบริษัทตอนจดทะเบียน เราเริ่มจดกัน 3 คน (เป็นอย่างน้อย) ส่วนตอนจะเลิก เราจะเลิกแค่คนเดียว แต่เพื่อนๆ ไม่เลิกด้วย อันนี้ก็ไม่เรียกว่าประชาธิปไตยจริงไหม

ตามกฎหมายแล้วการจดเลิกบริษัทได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้น ไม่จำเป็นต้องถึง 100% แต่ คะแนนเสียง 75% (3 ใน 4) ก็ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบแล้ว

ถ้าโน้มน้าวเพื่อนได้เท่านี้ก็น่าจะเลิกบริษัทได้แล้วล่ะ แต่ในทางกลับกันถ้าเราไม่ได้ถามเพื่อนก่อน นึกอยากเลิกก็เลิกเลย อาจโดนฟ้องแบบไม่รู้ตัวน้า ต้องระวังตรงนี้ด้วย

Q: ถ้าจด VAT การเลิกกิจการจะยุ่งยากกว่าเดิมไหม

A: เดี๋ยวขอเล่าเรื่องจด Vat ก่อนว่าคืออะไรสั้นๆ

การจด VAT คือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีรายได้ตามเงื่อนไขและมีตั้งแต่ 1.8 ล้านขึ้นไป ซึ่งนั่นหมายความว่า ทุกบริษัทไม่จำเป็นจะต้องจด VAT หรอกนะ

ส่วนใครที่ตกกระไดพลอยโจร จด Vat มาแล้วเพราะจำเป็น ขั้นตอนการจดเลิกยากกว่าเดิมอีกหน่อย เราต้องไปจดเลิก VAT ที่กรมสรรพากรด้วย ในขั้นตอนนี้ล่ะ เราอาจจะโดนสรรพากรตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน และได้  “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นหลักฐานจึงไปชำระบัญชีได้

Q: ถ้าเราเคลียร์ประเด็น 3 เรื่องเรียบร้อยแล้ว เราจะไปจดทะเบียนเลิกที่ไหน? และมีขั้นตอนยังไง?

A: จำง่ายๆ แบบนี้ เราเกิดที่ไหนก็ต้องเลิกที่นั่น ซึ่งเราจะวนเวียนกับสองหน่วยงานจนกว่าจะเลิกตามขั้นตอนนี้

1.จดเลิกบริษัท >>> ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

2.ยื่นงบและภาษี สิ้นสุดวันที่จดเลิก >>> ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร

3.จดเลิก VAT (ถ้ามี) >>> ที่กรมสรรพากร

4.จดสำเร็จชำระบัญชี >>> ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  1. จดสำเร็จชำระบัญชี >>> ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ทั้ง 4 ขั้นตอนเหมือนจะดูสั้น แต่จริงๆ แล้วมีความซับซ้อนและดีเทลปลีกย่อยพอสมควร ถ้ารู้จักนักบัญชีเก่งๆ พวกเค้าจะช่วยเรื่องนี้ได้

Q: สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรกับเจ้าของธุรกิจที่กำลังจะเลิกบริษัทบ้าง?

A: การเลิกบริษัทแม้จะทำไม่ง่าย มีกระบวนการหลายขั้นตอน แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปถ้าตั้งใจจะเลิกกิจการจริงๆ อันนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นถึงขั้นตอนการจดเลิก และสิ่งที่พวกเราควรระวัง แต่นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยว่าเราต้องเคลียร์งบการเงินยังไงบ้าง เดี๋ยวเราจะมาคุยกันในตอนหน้าค่ะ

สุดท้ายนี้ อยากให้จำไว้ว่าเลิกธุรกิจ เราทำได้ ไม่ได้ผิดอะไร แต่จะเลิกทั้งทีทำให้มันดีและถูกต้องจะได้ไม่เป็นปัญหาตามมานะคะ

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ