เรามีกำไรถ้าไม่คิดค่าเสื่อม (จริงหรอ?)

เรามีกำไรถ้าไม่คิดค่าเสื่อม (จริงหรอ?)

จริงๆ แล้วเรามีกำไร ถ้าไม่คิดค่าเสื่อมราคา

ประโยคคลาสสิคที่คนทำธุรกิจอาจเคยได้ยินบ่อยๆ

แล้วความจริงมันคืออะไร หลายคนก็คงสงสัยเช่นกัน

ก่อนที่จะไปเฉลยว่าคำพูดนี้ผิดหรือถูก Zero to Profit จะชวนทุกคนมาย้อนอดีตและคิดไปพร้อมๆ กัน

1.คุณคิดว่าจักรยานที่เราซื้อมา ตอนอายุ 15 ขวบ ราคา 50,000 บาท ในวันนี้ถ้าคุณอายุ 30 ปี คุณคิดว่าจะขายจักรยานได้เท่าไร?

ถ้าคุณตอบว่า มูลค่าตอนนี้น่าจะเหลือ 0 บาท หรือเป็นซากรถเก่าขายไม่ได้แล้ว นั่นแปลว่า คุณเข้าใจว่า สินทรัพย์ (จักรยาน) ของเรามันน่าจะเสื่อมมูลค่าไปตามกาลเวลา จริงมั้ย

ถ้าจริง เดี๋ยวเราไปคิดกันต่อ

2.จักรยานเจ้าปัญหานี้ตอนที่ซื้อมากะว่าจะเอามารับจ้างส่งอาหารแถวบ้าน

คุณคิดว่าเงิน 50,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจตั้งแต่วันแรกที่ซื้อมาเลยไหม?

คุณอาจลังเลที่จะตอบว่าใช่ เพราะ ถ้ารายได้วันแรกได้ 20 บาท – ต้นทุน 50,000 บาท = ขาดทุน -49,980 บาท มันดูไม่ Make Senses เอาซะเลย

แล้วถ้าแบ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายตลอด 5 ปีที่คิดว่าจักรยานยังใช้งานได้อยู่ล่ะ?

ลองกดเครื่องคิดเลขดู 50,000 บาท หารด้วย 5 ปี หารด้วย 365 วัน = 27.40 บาท/วัน  

แล้วถ้าสมมติวันนี้มีรายได้ 20 บาท มีต้นทุนจักรยาน 27.40 บาท

แปลว่า เราจะขาดทุน = 20 – 27.40 = -7.40 บาท มันก็ดู Make Senses ดีแฮะ

อย่างงี้ ถ้าทำรายได้ได้วันละ 100 บาท เราก็จะมีกำไร = 100 – 27.40 = 72.60 บาท ก็ยิ่งดูเข้าท่าไปอีก

แบบนี้ทุกคนน่าจะพอเข้าใจไอเดียการคิดค่าเสื่อมราคาเข้าแล้ว ว่าค่าเสื่อมราคา ก็คือ การคิดค่าใช้จ่าย (ต้นทุนการทำธุรกิจ) ให้มัน Smooth ตลอดอายุของจักรยาน จะได้ไม่มาบวมเป็นค่าใช้จ่ายในวันแรกให้หมดกำลังใจ

3.ทีนี้ถ้าเราจะลองชวนทุกคนคิดว่า ในธุรกิจส่งอาหารในหมู่บ้านของเราเนี่ย จะไม่คิดค่าเสื่อมของจักรยานเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจได้ไหม?

ทุกคนก็คงบอกว่า “ไม่ได้” เพราะจะทำงานส่งของได้ก็ต้องมีจักรยาน

ถ้าไม่มีจักรยานก็ทำธุรกิจไม่ได้

เช่นเดียวกัน ถ้าไม่คิดค่าเสื่อมเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ เราก็เหมือนจะมีกำไรสูงเกินความเป็นจริงน่ะสิ

แล้วถ้าเปลี่ยนจากเรื่องจักรยานในวัยเด็ก มาเป็นชีวิตจริงในธุรกิจวันนี้ ทุกคนคงเข้าใจได้ทันทีว่า

  1. สินทรัพย์ระยะยาว (อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์) ที่เราซื้อมา เวลาผ่านไปมันก็เสื่อมมูลค่าลง
  2. ค่าเสื่อมช่วยให้เราคิดค่าใช้จ่ายได้แบบ Smooth ขึ้น สม่ำเสมอตลอดปี
  3. ถ้าสินทรัพย์นี้จำเป็นต่อการสร้างรายได้ ยังไงก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ค่าเสื่อมราคา

ดังนั้น คำพูดที่ว่า “จริงๆ แล้วเรามีกำไรถ้าไม่คิดค่าเสื่อม” จึงแปลความ (แบบไม่เข้าข้างตัวเอง) ได้ว่า “เราขาดทุน เลยอยากคิดว่าค่าเสื่อมราคาไม่ใช่ค่าใช้จ่ายไงล่ะ”

สุดท้ายแล้ว บทสรุปของการทำธุรกิจที่ดีอาจไม่ใช่การหลอกตัวเองว่าค่าเสื่อมไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำยังไงจึงจะมีกำไรหลังหักค่าเสื่อมเสียมากกว่า

ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ