ถ้าอยากรู้ว่ากิจการยังมีสภาพคล่องดีอยู่ไหมในช่วงวิกฤต ให้ใช้ Cash Ratio นี้บอกคุณ
Cash Ratio เป็นอัตราส่วนที่ช่วยวัดสภาพคล่องตัวหนึ่ง แต่ความพิเศษของอัตราส่วนตัวนี้ คือ มันเป็นอัตราส่วนที่คำนึงถึงสภาพคล่องจากกระแสเงินสดที่กิจการมีเท่านั้น
ในช่วงที่มีวิกฤตอย่าง Covid-19 ลูกหนี้ก็ยังเก็บเงินไม่ได้ สินค้าก็ยังขายไม่ออก ถ้าเราอยากรู้ว่ากิจการมีเงินสดเพียงพอมั้ย และจะไปรอดหรือเปล่า ให้ลองมาคำนวณ Cash Ratio ไปด้วยกัน
Cash Ratio หรือ อัตราส่วนเงินสด คำนวณได้จากสูตรนี้
Cash Ratio = (เงินสด + หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด)/หนี้สินหมุนเวียน
หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด ยกตัวอย่างเช่น เงินลงทุนระยะสั้นในหุ้นหรือหุ้นกู้ที่ซื้อขายได้ง่ายๆ ไม่ต้องรอนานก็ได้เงินสดแล้ว
หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่จะถึงชำระภายใน 1 ปี (จริงๆ อาจจะภายใน 1 เดือน หรือ 2 เดือนก็ได้นะถ้าลองดูเป็นตัวๆ ไป) เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินเดือนค้างจ่าย เงินกู้ระยะสั้น เป็นต้น
ตัวเลขทุกตัวในสมการนี้ หยิบข้อมูลมาได้จากงบแสดงฐานะการเงิน
การเปรียบเทียบระหว่างเงินสดและหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว กับหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมดนั้น จะทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้วกิจการมีเงินสดเป็นสัดส่วนเท่าไร เทียบกับหนี้ที่จะต้องจ่ายภายใน 1 ปี
อย่างต่ำถ้ามี Cash Ratio ประมาณ 0.5 หรือ 50% ของหนี้สินหมุนเวียน ก็อาจจะเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจได้อีกสักพัก เพราะเรายังมีเวลาหายใจหายคอ ก่อนที่จะขายสินค้าคงเหลือ และเก็บเงินลูกค้าได้
ทีนี้ถ้าสมมติมี Cash Ratio ที่น้อยนิด เช่น แทบไม่ถึง 10% ของหนี้สินหมุนเวียน กรณีนี้เรียกว่าวิกฤตแล้ว เพราะหนี้สินอีกกว่า 90% จะต้องหาเงินมาโป๊ะให้ไวที่สุด
และคำพูดที่ว่า Cash Ratio เป็นการวัดสภาพคล่องแบบขั้นสุดนั่นก็คือ อัตราส่วนตัวนี้ใช้หลักความระมัดระวังแบบสุดๆ โดยจะโฟกัสเฉพาะเงินสดและหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว ถ้ากิจการไหนมี Cash Ratio สูงมากๆ แปลว่าเราปลอดภัยสุด แต่ในทางกลับกัน ถ้า Cash Ratio ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กิจการก็มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพสุดๆ เช่นกัน
ทีนี้พอจะเข้าใจ Cash Ratio กันแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าสภาพคล่องของกิจการยังดีอยู่ไหม ต้องเปิดกระเป๋าตังค์นับเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนดู แล้วจะรู้ว่าทำไมเงินที่มีมันไม่เคยพอเลยสักที
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit