5 เรื่องบัญชีต้องรู้ ทำธุรกิจกับเพื่อน แล้วไม่อยากเสียเพื่อนต้องทำไงบ้าง

5 เรื่องบัญชีต้องรู้ ทำธุรกิจกับเพื่อน แล้วไม่อยากเสียเพื่อนต้องทำไงบ้าง

ทำธุรกิจกับเพื่อนสนิทเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับใครหลายคน เพราะเพื่อนกันย่อมรู้ใจกันมากกว่าทำธุรกิจกับคนอื่นเป็นไหนๆ

แต่รู้ไหม ถ้าไม่วางแผนเรื่องบัญชีดีๆ การทำธุรกิจกับเพื่อนอาจไม่ใช่เรื่องน่าสนุกอีกต่อไป เพราะเราอาจเจอสถานการณ์เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ หรือเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด (ดุดันเกินไปไหมเนี่ย) โดยไม่รู้ตัว

แล้วถ้าวันนี้เพื่อนอยากทำธุรกิจ กับเพื่อนสนิท มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้าง ลองมาฟังความเห็นจากมุมมองเรื่องบัญชีกันค่ะ

1. เงินลงทุนเป็นเท่าไร ได้สัดส่วนหุ้นยังไง

“มึงๆ มาเปิดร้านคาเฟ่ด้วยกันมั้ย มึงลงเงินมา แล้วเราก็เปิดร้านกัน”

ถ้าอยากมีร้านคาเฟ่เก๋ๆ อยู่แล้ว เราคงยินดีลงทุนกับเพื่อนในวันแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะสงสัยว่า เอ..แล้วเงิน 1 แสนที่กูลงทุนไปเนี่ย มันหายไปไหนหว่า

สำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่ทุกคนอาจจะลืมนึกไปว่า การลงทุนในธุรกิจรูปแบบบริษัท เริ่มต้นเราต้องลงทุนในหุ้น และเราจะมีสิทธิเป็นเจ้าของธุรกิจสัดส่วนเท่าใดนั้น เราต้องตกลงกับเพื่อนไว้ล่วงหน้าค่ะ

ตัวอย่างเช่น

ร้านคาเฟ่ จดทะเบียนบริษัทด้วยเงินทุน 2,000,000 บาท

นาย Zero ลงทุนในหุ้น 1,000,000 บาท แปลว่า เขามีสัดส่วนการเป็นเจ้าของ 50%

นาย Profit ลงทุนในหุ้น 1,000,000 บาท ก็จะมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของอีก 50% เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้า 1 ปีผ่านไป บริษัทนี้สามารถทำกำไรได้ 500,000 บาท ทั้ง 2 คน ก็มีสิทธิได้รับเงินปันผลจากกำไรคนละ 50% เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การตกลงเรื่องเงินลงทุน และสัดส่วนหุ้นให้ชัดเจนก่อนเปิดบริษัท จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก เพราะมันจะช่วยลดความขัดแย้งกับเพื่อนรักในอนาคตได้

เงินลงทุนและสัดส่วนหุ้น
เงินลงทุนและสัดส่วนหุ้น

2. แบ่งหน้าที่และผลตอบแทน

“มึงคุมร้านได้เลยนะ เดี๋ยวกูชงกาแฟให้ งานบริหารกูเชื่อใจมึงหว่ะ”

จบเรื่องหุ้นไปก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหากับเพื่อนหลังจากเปิดกิจการนะคะ สิ่งที่อยากให้ทุกคนคิดต่อก็คือ ในธุรกิจนี้แต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรบ้าง และจ่ายผลตอบแทนกันอย่างไร

แบ่งหน้าที่และผลตอบแทน
แบ่งหน้าที่และผลตอบแทน

ที่บอกว่าให้เพื่อนทำธุรกิจไป เพราะเราเชื่อใจ แบบนี้ช่วงแรกๆ ก็ดี แต่อีกไม่นานก็จะมีปัญหาทะเลาะกัน ถ้าฝ่ายนึงทำมาก ส่วนอีกฝ่ายไม่ทำอะไรเลย ในขณะที่ผลตอบแทนก็ยังไม่ได้รับกลับมา

เราจะแบ่งหน้าที่อย่างไรดีนะ และแต่ละคนควรได้ผลตอบแทนหรือไม่ (นอกเหนือจากเงินปันผลตอนปลายปี)

จากตารางนี้เป็นตัวอย่างหน้าที่การงาน ที่เราและเพื่อนต้องตกลงกันไว้ล่วงหน้า และแน่นอนว่าค่าตอบแทนก็จะต้องระบุให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน

ชื่อหน้าที่ทำอะไรบ้างค่าตอบแทน
นาย Zeroเป็นผู้จัดการร้านหาลูกค้า สั่งซื้อของ ประชาสัมพันธ์ ดูระบบหลังบ้าน สรุปบัญชีทั้งหมด30,000 ต่อเดือน
นาย Profitเป็นบาริสต้าชงกาแฟเท่านั้น15,000 ต่อเดือน

การระบุค่าตอบแทนให้ชัด ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายทางบัญชีมีครบถ้วน และเราจะวัดกำไรได้ตามจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ถ้าในอนาคตคิดจะมีลูกน้องมาทำงานแทนในอนาคตก็จะไม่ได้ตกใจมากว่าจะวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างไรดี เพราะมีบรรทัดฐานที่เคยตั้งกันไว้แล้วค่ะ

3. ทำสัญญาระหว่างกันให้เรียบร้อย

เพื่อป้องกันการทะเลาะกัน แล้วไม่มีจุดยุติ อย่าลืมปรึกษานักกฎหมาย ทำสัญญาสำคัญระบุรายละเอียดต่างๆ ที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อจะได้มีหลักฐานทางกฎหมาย

สิ่งที่ควรระบุในสัญญา เช่น

  • การลงทุน
  • การแบ่งหน้าที่
  • ข้อตกลงต่างๆ ในการแบ่งผลตอบแทน
  • กรณีที่ธุรกิจไปไม่รอด จะมีแผนแยกย้ายอย่างไร

หรือในอีกกรณีนึง เราอาจปรึกษานักบัญชีเก่งๆ ควบคู่ไปด้วยก่อนทำสัญญาเพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ที่แบ่งกันนั้นลงตัว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ และบริษัทเองก็ไม่ได้ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป

4. ตกลงนโยบายบริษัทให้เรียบร้อย

ถ้าพูดว่านโยบายบริษัทอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสักหน่อย แต่ถ้าบอกว่านี่คือ กติกาที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน แบบนี้ทุกคนก็น่าจะมีในใจกันบ้างแล้วใช่ไหม

ตัวอย่างกติกาที่เราควรมีกับเพื่อน และนี่อาจมีผลกระทบกับทางบัญชีด้วย เช่น

  • ใครมีอำนาจตัดสินใจส่วนไหนบ้าง
  • จำนวนเงินที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ก่อนจ่ายชำระเป็นเท่าใด
  • ค่าใช้จ่ายแบบไหนเบิกธุรกิจได้ หรือไม่ได้
  • กรณีบริษัทช็อตเงินจะทำอย่างไร เบิกจากใครได้บ้าง
  • สวัสดิการของกรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่ทำงานเป็นอย่างไร
  • จะวัดผลการทำงานของผู้บริหาร/พนักงานอย่างไร
  • ต้องประชุมผลประกอบการเป็นประจำเมื่อไร
ทำธุรกิจกับเพื่อนต้องตกลงอะไรบ้าง?
ทำธุรกิจกับเพื่อนต้องตกลงอะไรบ้าง?

5. ทำบัญชี เพื่อลดโกง

การทำบัญชีแน่นอนว่าช่วยลดการโกงได้ แต่ถ้าหากคนที่โกงคือ หุ้นส่วนธุรกิจ (ที่เป็นเพื่อนรัก) ของเราเอง แบบนี้ก็อาจจะต้องดูกันดีๆ สักหน่อย

ส่วนใหญ่แล้ว เพื่อนที่โกงเพื่อนได้ลงคอ ก็เพราะว่าอีกคนไม่เคยเข้าถึงข้อมูลด้านบัญชีเลย

ยกตัวอย่างเช่น

นาย Zero รับบทผู้จัดการร้าน ติดต่อสำนักงานบัญชีเป็นป้าคนสนิทข้างบ้าน และเขาก็เป็นคนเข้าถึงข้อมูลทางบัญชี อย่างงบการเงินประจำเดือน แถมยังมีสิทธิ์โอนเงินเข้า-ออกธุรกิจแบบสมบูรณ์ โดยที่เพื่อนนาย Profit ไม่รู้อะไรเลย

แบบนี้เท่ากับว่านาย Profit เสียเปรียบเอามากๆ เพราะคนที่ควบคุมสมุดบัญชี และมีสิทธิ์เข้าถึงเงินเป็นคนเดียวกัน ถ้า Zero คิดจะโกง ก็โกงได้ง่ายๆ

ทางออกที่ดีที่สุด อยากจะแนะนำให้

  1. ทั้งสองคนต้องได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะเลือกสำนักงานบัญชีที่ใด
  2. ทั้งสองคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางบัญชีได้เท่าๆ กัน เช่น เข้าโปรแกรมบัญชีได้ทั้งคู่ เห็นความเคลื่อนไหวเงินในบัญชีได้ทั้งหมด
  3. ดูผลประกอบการจากบัญชีธุรกิจด้วยกันอยู่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่ามีกำไรขาดทุนเท่าไร ฐานะการเงินเป็นอย่างไร จะได้เคลียร์ทั้งสองฝ่าย
ทำบัญชีแล้วลดเพื่อนโกงได้ยังไง
ทำบัญชีแล้วลดเพื่อนโกงได้ยังไง

แบบนี้น่าจะเป็นวิธีเบื้องต้นง่ายๆ ที่ไม่ว่าเป็นหุ้นส่วนคนไหนก็น่าจะเกรงใจ ลดการโกงแบบซึ่งๆ หน้าได้นะคะ

สรุปแล้ว ทำธุรกิจกับเพื่อนต้องระวังเรื่องอะไร?

ทั้งหมดนี้เป็น 5 เรื่องต้องรู้จากมุมมองนักบัญชี ที่ถึงแม้จะเป็นเพื่อนสนิท เราก็อดไม่ได้ที่จะคิดมาก เมื่อธุรกิจมีตัวแปรเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น ถ้าคิดจะทำธุรกิจ กับเพื่อนเมื่อไร อย่าลืมเตรียมการทุกอย่างให้รัดกุม เพราะคงไม่มีใครอยาก “เสียเพื่อน” ก่อนถึงเวลาอันควรจริงไหมคะ

ไม่อยากเสียเพื่อน หรือกำลังจะเสียเพื่อนแล้ว ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ ติดต่อที่นี่

Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ติดตาม Zero to Profit ได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บบล็อก Zero to Profit ที่อยากให้เรื่องบัญชีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวสำหรับเจ้าของธุรกิจ