“หาเงินเหนื่อยมาทั้งปี อยากนั่งรถยนต์ดีๆ ให้สมฐานะตอนไปหาลูกค้า พี่ทำได้ไหม?”
คำถามชวนคิดของคนทำธุรกิจที่อยากซื้อรถเข้าบริษัท
จริงๆ แล้วเจ้าของธุรกิจจะเลือกซื้อรถแบบไหน ยี่ห้ออะไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่ว่าสิ่งที่ต้องคิดนอกเหนือจากประโยชน์และความชอบแล้ว ก็ยังมีเรื่องของภาษีมาเกี่ยวข้องด้วยแบบปฏิเสธไม่ได้ (ถึงแม้เราอยากจะปฏิเสธมากเท่าไรก็ตาม….โถ)
ถ้าวันนี้เจ้าของธุรกิจคนไหนกำลังตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ในนามบริษัท (โดยเฉพาะรถเก๋งราคาแพง) เรามีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้างลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลย
ภาษี 2 ตัวที่เกี่ยวข้อง
โดยปกติแล้วภาษีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์เป็นสินทรัพย์ของบริษัทมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง คือ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม –เพื่อเช็คว่ารถที่ซื้อเคลมภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่?
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล – เพื่อเช็คว่ารถที่ซื้อเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไร?
เจ้าของธุรกิจต้องจำให้แม่นว่า ทางภาษีเนี่ย…ชอบมีปัญหากับรถยนต์นั่งที่จำนวนที่นั่งไม่ถึง 10 คน (ตามพิกัดอัตราสรรพสามิต) อย่างพวกรถเก๋ง รถประจำตำแหน่งราคาแพง
รถพวกนี้ถ้าซื้อเข้ามาในธุรกิจเรามักจะเสียเปรียบเรื่องภาษีอยู่เสมอ Zero to Profit จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจง่ายๆ ไปพร้อมกัน
ภาษีมูลค่าเพิ่มกับรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค 7% ซึ่งเวลาที่บริษัทส่งภาษีสรรพากรจะคำนวณจาก
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
คิดง่ายๆ จากสมการนี้ก็รู้ทันทีว่าถ้าไม่อยากนำส่งภาษีเยอะๆ ก็ควรมีภาษีซื้อมาเคลมให้ครบถ้วน
แต่ๆ ถ้าเราซื้อรถเก๋งสีขาวมาราคา 2 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีซื้อ 140,000 บาท
และรถยนต์คันนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น ค่าน้ำมัน จำนวนเดือนละ 2,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีซื้อ 140 บาท เช่นกัน
ภาษีซื้อที่ว่า “จะไม่สามารถเอาไปหักกลบกับภาษีขายได้ (เคลมไม่ได้)”
ฉะนั้น ประเด็นนี้เจ้าของธุรกิจต้องรู้ไว้ก่อนตัดสินใจนะ เนื่องจากรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งจะเคลมภาษีซื้อไม่ได้ ต่างกับรถบรรทุกหรือรถกะบะนะจ๊ะ
อ้างอิงจาก
ประมวลรัษฎากรมาตรา 82/5 (6) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2 (1)
https://www.rd.go.th/3398.html
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เรามาต่อกันที่ภาษีตัวถัดไป คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ
1.ประเด็นค่าใช้จ่าย
ปกติแล้วภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจาก กำไรทางภาษี x อัตราภาษี
และธุรกิจจะมี “กำไรทางภาษี” เยอะหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่า มีรายได้ทางภาษี – รายจ่ายทางภาษีเท่าไร
ทีนี้สิ่งที่เราสนใจสำหรับรถยนต์ คือ รถยนต์ที่ซื้อมาเนี่ยจะคิดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไรกันนะ
ถ้าทางบัญชี รถเก๋งต้นทุน 2 ล้าน อายุใช้งาน 5 ปี จะคิดค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าเสื่อมราคา” ได้ปีละ 2,000,000/5 = 400,000 บาท
แต่ข่าวร้ายก็คือ ทางภาษีจะคิดค่าใช้จ่ายรถเก๋งคันนี้ (รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง) ได้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนที่ใช้คิดค่าเสื่อมรถจะต้องเป็น 1 ล้านบาท (ไม่ใช่ 2 ล้านน้า) หารอายุการใช้งาน 5 ปี ก็จะได้ค่าเสื่อมราคาปีละ 1,000,000/5 = 200,000 บาท
แล้วถ้ามามองภาพรวมกันดีๆ เราจะพบว่าสุดท้ายแล้ว รถเก๋งคันนี้ทำให้เราเสียเปรียบทางภาษีเพราะว่าซื้อมา 2 ล้าน แต่เป็นค่าใช้จ่ายตลอดอายุได้แค่ 1 ล้านบาทเอง ส่วนต่างอีก 1 ล้านจะคิดเป็นภาษีได้เท่ากับ 1 ล้าน x 20% = 200,000 บาท
2.ประเด็นเรื่องการขาย
ถ้าใช้รถเก๋งคันนี้แล้วเกิดเบื่อ อยากเปลี่ยนเป็นรถอีกคัน จะมีประเด็นภาษีเงินได้เรื่องการขายรถที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกนะ
สมมติจากตัวอย่างเดิม รถเก๋งที่ซื้อมา 2 ล้าน ใช้งานมา 2 ปีเต็ม แล้วขายที่ราคา 1 ล้านบาท
ถ้าเราคิดตัวเลขทางบัญชี มูลค่ารถจะเหลือที่ 1.2 ล้านบาท (2 ล้าน – ค่าเสื่อมสะสม 8 แสน) เทียบกับราคาขายกลายเป็นว่าขาดทุน 2 แสนบาท
แต่พอคิดตัวเลขทางภาษี มูลค่ารถจะเหลือที่ 6 แสนบาท (1 ล้าน – ค่าเสื่อมสะสม 4 แสน) เทียบกับราคาขาย เราจะมีกำไรทางภาษี 4 แสนบาท
การมีกำไรทางภาษีจำนวน 4 แสนบาทนี้ มันหมายถึง เราต้องจ่ายภาษีเงินได้สำหรับกำไรส่วนนี้ด้วย เช่น กำไร 4 แสน คิดเป็นภาษีประมาณ 400,000 x 20% = 80,000 บาท เคสนี้มันช่างน่าเศร้า ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเราขาดทุนทางบัญชีอยู่นะ
อ้างอิงจาก
ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 (ทวิ) (2)
อ่านมาจนถึงตรงนี้ เจ้าของธุรกิจหลายคนที่กำลังตัดสินใจซื้อ “รถเก๋ง” ประจำตำแหน่งก็คงชะงักนิดนึงใช่ไหมว่า สุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่มก็เคลมไม่ได้ แถมยังหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลได้น้อยกว่ารถทั่วไปอีก
แต่เชื่อเถอะว่า การที่เราได้ “เอ๊ะ” หรือหยุดคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ซักเล็กน้อยก่อนคิดที่จะซื้อรถยนต์ มันเป็นเรื่องดีกว่าการที่เราไม่รู้อะไรเลย แล้วมาเสียดายตอนหลังว่า “รู้งี้…ไม่ทำแบบนี้ดีกว่า”
เพราะเงินที่เราหามาเหนื่อยๆ ทุกคนคงอยากใช้อย่างคุ้มค่า และไม่เสียท่าให้กับภาษีในตอนท้ายใช่ไหมคะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/
Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit