เช่า หรือ ซื้อ รถบริษัท แบบไหนดีกว่ากัน

เช่า หรือ ซื้อ รถบริษัท แบบไหนดีกว่ากัน

ปัญหาโลกแตกที่ทำเอาเจ้าของธุรกิจหลายคนกุมขมับ คือ การเลือกระหว่าง เช่า หรือ ซื้อรถเข้าบริษัท เพราะทั้งสองทางเลือกต่างมีข้อดี – ข้อเสียที่แตกต่างกัน เลยตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าควรเลือกทางไหนดีนะ บริษัทจึงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด


ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า การซื้อรถราคาแพงทั้งที มีผลต่องบประมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางภาษีค่ะ บทความนี้จะมาวิเคราะห์ให้เห็นเลยว่า เช่าหรือซื้อ รถบริษัท แบบไหนดีกว่ากัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่รอบคอบ และเหมาะสมกับธุรกิจมากขึ้นค่ะ

เช่าหรือซื้อรถ ต้องคิดอะไรบ้าง? 

เช่า หรือ ซื้อรถต้องคิดอะไร
เช่า หรือ ซื้อรถต้องคิดอะไร

ก่อนที่เจ้าของธุรกิจจะไปเช่าหรือซื้อรถนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก่อนเลยก็คือ 

1. เช็กความต้องการของเราเอง

ต้องทราบ “วัตถุประสงค์ที่จะนำรถมาใช้” ว่าเราต้องเอารถไปทำอะไรบ้าง

เช่น หากเป็นรถเพื่อขนส่งสินค้า อาจจะต้องเป็นรถชนิดรถกระบะ หรือรถบรรทุก

หากเป็นรถเพื่องานบริหาร อาจจะเป็นรถยนต์นั่ง ที่คุณภาพดี ราคาแพงประมาณนึง
เมื่อชนิดรถแตกต่างกัน นี่แหละ ทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกัน จะต่างกันยังไง เดี๋ยวเราไปดูที่หัวข้อถัดไปกันนะ

2. เช็กงบประมาณ

พอเรารู้แล้วว่าต้องการรถชนิดไหน ทีนี้ มาเช็กงบประมาณกันต่อค่ะว่า รุ่นรถที่จะซื้อมีราคาเท่าไหร่ และเรามีงบประมาณพอหรือไม่

เช่น รถยนต์ราคา 5 ล้านบาท แต่มีเงินพอแค่ 3 ล้านบาท แบบนี้สภาพคล่องจะโอเคไหม หรือจะเปลี่ยนรุ่นรถเป็นราคาที่พอจ่ายไหว หรืออาจจะมองหาทางเลือกใหม่ก็คือ การเช่าค่ะ ซึ่งก็ต้องคิดต่ออีกล่ะว่า เรามีงบรายเดือนที่จะเช่า เดือนละเท่าไหร่

3. ตัดสินใจ

เมื่อเช็กเรื่องความต้องการ กับเรื่องงบประมาณแล้ว หากการใช้งานคุ้มค่ากับราคารถ และมีเงินเพียงพอ ก็สามารถซื้อเป็นทรัพย์สินของธุรกิจได้เลยค่ะ แต่ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ตอบโจทย์ เช่น วัตถุประสงค์การใช้ยังไม่ชัดเจน เลยอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หรือว่าวัตถุประสงค์ชัดแต่ว่าเงินสดไม่เพียงพอ การเช่าก็เป็นอีกไอเดียที่ไม่แย่นะคะ

ทั้งนี้ เช่าหรือซื้อ จะมีความต่างกันทั้งในแง่ของราคา สินทรัพย์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางภาษี ลองไปอ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไปเลยค่ะ

เช่ารถ และซื้อรถ ต่างกันยังไงในทางบัญชี และภาษี

การเช่าหรือซื้อ รถธุรกิจจะมีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม เปรียบเทียบตามภาพนี้เลยค่ะ

เช่ารถ VS ซื้อรถ ต่างกันยังไง
เช่ารถ VS ซื้อรถ ต่างกันยังไง

เช่ารถ

  • ทยอยจ่ายเงินสดทุก ๆ เดือน
  • ไม่เป็นสินทรัพย์ของผู้เช่า
  • ค่าใช้จ่ายจะถูกบันทึกเป็นค่าเช่ารายเดือน

ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท Zero to Profit จำกัด เปิดธุรกิจโรงแรมหลายสาขา ตัดสินใจเช่ารถยนต์นั่งประจำตำแหน่งผู้บริหารสำหรับการเดินทางระหว่างสาขา ตัดสินใจเลือกรถรุ่น CAMRY ค่าเช่าเดือนละ 15,000 บาท
บริษัทมีค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท และรถรุ่น CAMRY นี้ถึงเราเช่าไป 5 ปี 10 ปี ก็จะไม่ใช่สินทรัพย์ของบริษัทค่ะ
แต่ถ้าในความเป็นจริง เช่า 1 ปี เราก็เปลี่ยนรุ่น เปลี่ยนสีตามดวงชะตาได้ด้วยนะ อิอิ การเช่าจะไม่ค่อยเช่ารุ่นเดิม หรือคันเดิม ต่อเนื่องกันนานค่ะ

ซื้อรถ

  • จ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียว
  • เป็นสินทรัพย์ของผู้ซื้อ
  • ค่าใช้จ่ายจะถูกบันทึกเป็นค่าเสื่อมราคา

ยกตัวอย่างเช่น

บริษัท Zero to Profit จำกัด เปิดธุรกิจขายแซลม่อนแช่แข็ง ต้องใช้รถกระบะ เพื่อนำแซลม่อนแช่แข็ง ไปส่งตามโรงแรมร้านสเต๊ก
เลยตัดสินใจซื้อรถกระบะ เพื่อติดตั้งห้องเก็บความเย็นที่ท้ายกระบะ ใช้สำหรับส่งของ
บริษัทจ่ายเงินครั้งเดียวเลย ซื้อเลย 900,000 บาทพร้อมติดตั้งที่เก็บความเย็น อีก 100,000 บาท รวมรถขนส่งคันนี้ มูลค่า 1,000,000 บาท รถคันนี้กรรมสิทธิ์เป็นของบริษัท และค่าเสื่อมราคา สามารถเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อีกด้วย

ข้อมูลที่ใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อรถกระบะนี้คือ
ถ้าไม่มีรถกระบะ ต้องจ่ายค่าจ้าง บริษัทขนส่งอยู่แล้ว เดือนละ 15,000 บาท
เลยเล็งเห็นว่า การซื้อนี้แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่ว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทที่ดีกว่า เราก็อาจจะเลือกซื้อรถก็เป็นได้นะ

เมื่อซื้อรถกระบะจ้างบริษัทขนส่งต่อปี
ค่าใช้จ่าย 200,000 ต่อปีค่าจ้าง 180,000 บาทต่อปี
วิ่งส่งได้ 50 ร้านต่อวันวิ่งส่งได้ 30 ร้านต่อวัน
รถถือเป็นสินทรัพย์ของบริษัทไม่ใช่สินทรัพย์ของบริษัท
จัดการแผนการวิ่ง ให้สอดคล้องกับออเดอร์ลูกค้าได้ต้องจ้างรถเพิ่มตามออเดอร์การสั่งซื้อของลูกค้า

ขอเสริมในประเด็นของการบันทึกค่าใช้จ่ายในภาษีนิดนึงค่ะ กรณีที่ธุรกิจซื้อรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน อย่างเช่น รถเก๋ง รถสปอร์ต อะไรทำนองนี้นะคะ ในทางภาษี จะคิดค่าสึกหรอ หรือค่าเสื่อมราคาเฉพาะส่วนจากมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทค่ะ
ซึ่งหมายความว่า ซื้อรถมา 5 ล้าน แต่จะถูกนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีเพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น จะไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายภาษีเต็มจำนวนค่ะ
1,000,000 หาร 60 เดือน (อายุรถ 5 ปี) เท่ากับ เป็นรายจ่ายต่อเดือนได้สูงสุดเพียง 16,666.66 บาท
ค่าเสื่อมราคาต่อปี = 200,000 บาทต่อปี

ในขณะเดียวกัน ค่าเช่ารถยนต์นั่งจะคิดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน
เช่า 12 เดือน เท่ากับเป็นรายจ่ายต่อปี = 432,000 บาทต่อปี

เราถึงได้แนะนำไปตั้งแต่หัวข้อแรกว่า จะต้องตัดสินใจเลือกรุ่นรถก่อน ว่าจะซื้อรถอะไรนั่นเองค่ะ

ด้วยข้อมูลเปรียบเทียบข้างต้น มีจุดที่น่าสนใจ คือ หลายธุรกิจที่ตัดสินใจเช่าไปก่อนยาว ๆ แล้วค่อยซื้อในภายหลัง เราจะเรียกวิธีนี้ว่า “ลีสซิ่ง” 

ลีสซิ่งคืออะไร คิดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไร 

ลิสซิ่ง คืออะไร
ลิสซิ่ง คืออะไร

ลีสซิ่ง (Leasing) คือ การเช่าทรัพย์สินระยะยาว โดยผู้เช่า (ในบริบทนี้หมายถึงฝ่ายเจ้าของธุรกิจเนอะ) จะจ่ายค่าเช่าเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เมื่อครบสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าจะเลือกซื้อทรัพย์สินตามราคาที่ตกลงกัน หรือจะต่ออายุสัญญาแล้วเช่าต่อก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ทำให้การลีสซิ่งเป็นอีกหนึ่งเทคนิคทางภาษีที่น่าสนใจ เพราะทำให้เราใช้สิทธิ์ทางภาษีได้ 2 ต่อ ได้แก่

  1. ค่าเช่าเดือนละ 36,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะครบสัญญา
  2. เมื่อถึงกำหนดครบสัญญา และเลือกที่จะซื้อรถ จะมีค่าเสื่อมราคาที่คิดจากต้นทุนสูงสุด 1 ล้านบาทได้อีกด้วย

แต่ทั้งนี้  การทำลีสซิ่งอาจมีเรื่องของส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องเสีย (ซึ่งขอบอกว่าแพงพิลึก) และความจำเป็นในการใช้รถเข้ามาให้เจ้าของธุรกิจต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง จึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังจะลงทุนต่อไปนี้ “มันคุ้มไหม” จึงนำไปสู่ประเด็นต่อมาที่กำลังจะเล่าในต่อไปนี้ค่ะ

สิ่งที่ต้องมั่นใจก่อนซื้อรถเข้ามาในธุรกิจ

ประเด็นภาษีไม่ได้มีแค่ตอนที่ซื้อรถเข้ามาเท่านั้น เพราะว่าหลังจากใช้รถไปสักพัก เราอาจจะเจอภาษีตอนขาย หรือว่ามีข้อสงสัยจากสรรพากรค่ะ ดังนั้น เราจึงแนะนำว่าควรมั่นใจ 2 เรื่องนี้ ก่อนซื้อรถด้วย

  • หลังจากที่ซื้อรถไป จะไม่มีแผนเปลี่ยนรถแล้วขายต่อในอนาคตแน่นอน เพราะกำไรที่ได้จากการขายจะทำให้เจ้าของธุรกิจต้องเสียภาษีอีกรอบโดยไม่จำเป็น
  • จะไม่นำรถที่ซื้อสำหรับใช้ในธุรกิจมาใช้ส่วนตัว เพราะหากกรมสรรพากรตรวจสอบได้ ค่าใช้จ่ายที่พยายามสร้างมาตลอดจะไม่สามารถนำไปใช้สิทธิเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เลย

หากท่านไหนตัดสินใจได้แล้ว ว่าจะซื้อรถชัวร์ๆ แนะนำอ่านต่อที่บทความนี้เลย
ซื้อรถเข้าธุรกิจต้องคิดอะไรบ้าง?

สรุป เช่า หรือ ซื้อ รถบริษัท แบบไหนดีกว่ากัน

ท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละธุรกิจค่ะ บางธุรกิจอาจมีงบประมาณที่เพียงพอ และมองเห็นแล้วว่าการมีรถในธุรกิจจะสามารถอำนวยความสะดวกในการทำงานได้จริง ๆ ก็แนะนำให้ซื้อ แต่ถ้ายังไม่พร้อม แนะนำให้เป็นการเช่าไปก่อน ซึ่งการซื้อรถก็มีทั้งประเด็นบัญชีและภาษีที่ต้องคิดหลายประเด็นเลยค่ะ

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า จำเป็นต้องใช้รถจริง ๆ ไหม หรือควรนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นมากกว่า

และถ้ายังไม่เคลียร์ แนะนำไปดูกันต่อในคลิปนี้ “เช่า หรือ ซื้อ รถบริษัท แบบไหนดีกว่ากัน?” ได้เลยจ้า

 

ทำบัญชี มีข้อมูลชัดเจน ตัดสินใจซื้อรถแล้วไม่ผิดพลาด ติดต่อ Line: @zerotoprofit

ติดตาม Zero to Profit ช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: https://facebook.com/ZerotoprofitTH/

Blockdit: https://www.blockdit.com/zerotoprofit

ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านบัญชีธุรกิจ ที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า การทำบัญชีช่วยให้ธุรกิจมีกำไร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง